นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ธรรมเนียมใหม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําหนึ่งที่ได้ยินบ่อยๆ ในช่วงโควิดระบาด ทั้งจากนักวิชาการ, หมอ, นักการเมือง และโฆษกทีวีก็คือ New Normal มักแปลกันว่า “วิถีใหม่

พูดกันเหมือนกับว่า แบบปฏิบัติเพื่อป้องกันการระบาดของโรคในช่วงนี้จะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในชีวิตของทุกคน เช่น สวมหน้ากาก ทิ้งระยะห่างทางกาย และเลิกเที่ยวห้าง เป็นต้น ผมได้ยินนักวิชาการบางท่านถึงกับพูดว่า จะมีผลต่อการวางผังเมืองในอนาคตด้วย เช่น ตึกสูงจะไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เพราะคนที่อยู่ในนั้นต้องถูกบังคับให้อยู่ใกล้ชิดกันในเวลาขึ้นลิฟต์

ผมเข้าใจว่าสำนวนว่า New Normal นี้เริ่มในสื่ออเมริกันก่อนหน้านี้มาหลายปีแล้ว เป็นศัพท์ที่ดึงดูดความสนใจ เพราะตอบสนองความรู้สึกของคนในสังคมที่ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน แต่ก็เหมือนศัพท์ขายหนังสือพิมพ์ทั่วไป คือความหมายออกจะกลวงๆ ไม่สร้างความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดีสำหรับไว้ชี้โน่นชี้นี่ให้ดูเป็นคนทันสมัยเท่านั้น

Normal แปลตามรูปศัพท์ว่าเป็นไปตาม norm คำนี้แปลว่าแบบแผนการปฏิบัติ, ทัศนคติ, หรือพฤติกรรมที่ใช้ในความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทั่วไป นักวิชาการไทยบัญญัติศัพท์ว่า “ประชาวิถี” หรือ “วิถีประชา” ภาษาไทยแบบชาวบ้านทั่วไปคือ “ธรรมเนียม” ซึ่งผมจะใช้คำนี้ต่อไป

(คำว่าธรรมเนียมนี้ ท่านอาจารย์คุณพระวรเวทย์วิสิษฎ์ เห็นว่าควรสะกด “ทำเนียม” เพราะท่านคิดว่าแผลงเป็นคำนามแบบเขมรจากคำว่า “เทียม” ท่านจะถูกหรือผิดไม่ทราบได้ แต่น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะทำให้ไม่ต้องใช้คำว่า “ธรรม” ซึ่งสำหรับคนไทยแล้วจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกและดีเสมอ ในขณะที่ norm ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้)

จะเห็นได้นะครับว่า ธรรมเนียมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือทำตามๆ กันมา (อย่าง “ทำเนียม” ของท่านอาจารย์คุณพระวรเวทย์ฯ) ในขณะที่ความ “ปรกติ” อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์ก็ได้ ธรรมชาติก็ได้ เช่น เอลนีโญและลานีญาทำให้ปริมาณฝนที่ตกในภาคพื้นแปซิฟิกผิด “ปรกติ” ไป (คือความแตกต่างระหว่าง normalcy และ regularity) ฉะนั้น เมื่อเราพูดถึง “ธรรมเนียมใหม่” ย่อมหมายความว่ามนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ และแบบแผนการปฏิบัติทางสังคม ฯลฯ ไปจากเดิม

ดูเผินๆ เหมือนกับว่า ธรรมเนียมเป็นเพียงสิ่งที่ทำตามๆ กันมา โดยไม่ต้องคิดอะไรมากเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วกว่าจะเกิดธรรมเนียมหนึ่งๆ ได้ จะต้องมีปัจจัยแวดล้อม ทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การเมือง ฯลฯ หลายต่อหลายอย่าง ที่เอื้อให้ธรรมเนียมหนึ่งๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน พูดให้ฟังดูเป็นวิชาการหน่อยก็คือ normality หนึ่งๆ หรือความเป็นธรรมเนียมหนึ่งๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะปัจจัยเดียว ซ้ำเป็นปัจจัยที่ทุกคนหวังว่าจะผ่านไปในอนาคตด้วย แม้ว่าปัจจัยนั้นอาจรุนแรงและกระทบชีวิตของเราอย่างหนัก แต่ก็ด้วยความเข้าใจว่า แล้วมันก็จะผ่านไป

ผมขอยกตัวอย่างให้ดูสองสามอย่าง

ขอเริ่มที่ตึกสูงก่อน ตึกสูงไม่ได้เกิดขึ้นจากคนอยากมีชีวิตอยู่เหนือหัวคนอื่นอย่างเดียว แต่เพราะที่ดินในเขตเมืองแพงเสียจนไม่มีทางใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นให้คุ้มได้นอกจากตึกสูง ในสมัยหนึ่งตึกสูงยังแสดงสมรรถนะทางวิศวกรรมของประเทศ ต้นทุนการก่อสร้างยังสูงกว่าห้องแถวธรรมดามาก จึงแสดงพลังอำนาจทางเศรษฐกิจอีกด้วย แต่ปัจจุบันวิศวกรรมดังกล่าวและราคาค่าก่อสร้างเป็นที่เข้าถึงได้แก่เกือบทุกประเทศแล้ว ตราบเท่าที่เมืองยังเป็นการกระจุกตัวของพลเมืองจำนวนมาก ที่ทำให้ง่ายแก่การเกิดตลาดและการควบคุม-บริการรวมศูนย์ ตึกสูงย่อมเป็น “ธรรมเนียม” ของอาคารในเมืองใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ปัญหาเรื่องลิฟต์เพียงอย่างเดียวแก้ได้ไม่ยาก เช่น ทุกครั้งที่ลิฟต์ว่าง ก็จะมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโดยอัตโนมัติทันที อย่าพูดถึงลิฟต์จะทำให้ตึกในเมืองเตี้ยลงเลย แม้แต่เปลี่ยนเป็นบันไดเลื่อนก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ตึกสูงเสียพื้นที่ไปมากเกินไป ธรรมเนียมใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะปัจจัยการระบาดในลิฟต์เพียงเรื่องเดียว

หน้ากากอาจเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมใหม่ก็ได้ แต่กับคนหมู่น้อยที่ใช้มันในช่วงที่ร่างกายของตนอ่อนแอลง เช่น เป็นหวัด (ธรรมดา) แต่ไม่มีทางที่หน้ากากจะเข้ามาแทนที่ธรรมเนียมเปิดหน้าของคนทั่วไป นอกจากเป็นธรรมเนียมเปิดหน้าอยู่กับเรามานานแล้ว ใบหน้ามนุษย์ใต้คิ้วและตาลงมา ยังเป็นที่มาของรายได้และอาชีพการงานของคนหลายล้านทั่วโลก นับตั้งแต่สบู่และเครื่องสำอางนานาชนิด ไปจนถึงยาและทักษะการกำจัดสิว, เสี้ยน, ไฝ ฯลฯ ซึ่งกระจายไปยังคนหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาซิ้มรับจ้างขัดหน้าด้วยด้ายไปจนถึงแพทย์ ใบหน้าส่วนนี้ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของศิลปะการแสดงผ่านสื่อเกือบทุกชนิด ซึ่งเป็นช่องทางทำมาหากินของนักแสดงในปัจจุบัน (นักร้องที่ได้แต่อัดเสียงโดยไม่มีคอนเสิร์ตสดเลย จะทำเงินให้ “พอเพียง” ในแต่ละปีได้หรือ)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถเห็นได้ (visibility) เป็นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก

ในหมู่คนทั่วไป ส่วนของใบหน้าใต้ตาลงมาถูกใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสาร ทั้งด้วยภาษาที่ไม่ใช้คำและเสริมความหมายให้แก่ภาษาที่ใช้คำ และทำหน้าที่ทางวัฒนธรรมอีกหลายอย่าง

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดธรรมเนียมเปิดหน้า ซึ่งไม่อาจถูกเปลี่ยนได้ง่ายๆ ด้วยปัจจัยเดียวคือโควิด ผมเชื่อว่าแม้แต่ธรรมเนียมปิดหน้าของผู้หญิงในสังคมมุสลิมบางแห่ง แนวโน้มในระยะยาวแล้วก็จะลดน้อยถอยลง (อย่างที่เกิดในตุรกีและอิหร่านสมัยพระเจ้าซาร์) จริงอยู่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา แต่นั่นเป็นเพราะกระบวนการ “ทำให้เป็นอาหรับ” (Arabization)

ในระยะยาวแล้ว ผู้หญิงมุสลิมจะเลือกแสดงอัตลักษณ์อิสลามด้วยวิธีอื่นแทนจนได้

แฟ้มภาพ (ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว)

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความเป็นธรรมเนียมหรือ normality ไม่เกิดขึ้นหรือดับไปด้วยเงื่อนไขปัจจัยเดียว แม้ว่าเงื่อนไขปัจจัยนั้นอาจกระทบชีวิตเราแทบทุกด้านในปัจจุบัน ความเสี่ยงฉุกเฉิน (contingency) เพียงอันเดียวไม่อาจก่อให้เกิดธรรมเนียมใหม่ได้

ด้วยเหตุดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่เกิดอย่างเป็นกระบวนการและใช้ระยะเวลาอันยาวนาน เรามองเห็นมันได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ (หรือศาสตร์อื่นด้วยก็ได้ แต่ผมพอรู้ประวัติศาสตร์อยู่บ้างเพียงศาสตร์เดียว) ซึ่งสนใจศึกษากระบวนการดังกล่าวโดยตรง

ที่ว่าเกิดอย่างเป็นกระบวนการในที่นี้หมายความว่า มีเงื่อนไขปัจจัยอันหลากหลายที่ทำงานร่วมกัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนทำให้เกิดสถาบัน, ความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะหนึ่งๆ, ทัศนคติหนึ่งๆ, ชุดค่านิยมหนึ่งๆ ฯลฯ และแบบธรรมเนียมหนึ่งๆ ขึ้นมาในสังคมนั้น

แต่เพราะใช้เวลาอันยาวนาน จึงมักทำให้ผู้คนมักไม่สังเกตเห็น new normal หรือธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้น บางครั้งอาจใช้อำนาจเข้าไปขัดขวางธรรมเนียมใหม่เหล่านี้มิให้ได้ดำเนินไปตามครรลองที่ควรเป็น จนเกิดความตึงเครียดทางสังคมอย่างหนัก ผมขอยกตัวอย่างในกรณีสังคมไทยสักเรื่องหนึ่ง

การเลือกตั้งมาถึงเมืองไทยเพราะการอภิวัฒน์ใน 2475 อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การเลือกตั้งไม่เป็นธรรมเนียมใหม่แก่ประชาชนส่วนใหญ่ เพราะมันไม่มีผลกระทบต่อชีวิตของเขา คิดดูแล้วกันครับว่า จู่ๆ เผด็จการริบการเลือกตั้งออกไปจากการเมืองสืบเนื่องกันมาถึง 10 ปี ในสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส โดยไม่มีใครเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นนี้ จนเมื่อคนชั้นกลางในเมืองเรียกร้องก็จัดเลือกตั้งขึ้น มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ 2 ปีก็ล้มการเลือกตั้งอีก และนำมาซึ่งการปฏิวัติ 14 ตุลา

และนับแต่นั้นมา การเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเมืองไทย รัฐบาลที่ปฏิเสธการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร อยู่ได้ปีเดียวก็ถูกรัฐประหารซ้อน ซึ่งรีบสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งในทันที

รัฐประหารที่ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งนับจากนั้น ต่างต้องสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งสิ้น

แต่จะยกให้ 14 ตุลาเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้การเลือกตั้งมีความสำคัญก็ไม่ได้ เพราะ 14 ตุลาเองก็เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญทางการเมืองของคนกลุ่มใหญ่ขึ้นในสังคม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามมา ขยายให้การเลือกตั้งกลายเป็นกลไกสำคัญแก่คนไทยในชนบทด้วย เพราะการผลิตของเขาได้กลายเป็นการผลิตเพื่อตลาดไปเสียแล้ว การเลือกตั้งมีความสำคัญต่อชีวิตของเขาอย่างไร มีคำอธิบายสองอย่าง หนึ่ง คือทำให้เขามีอำนาจเข้ามากำกับผู้อุปถัมภ์ได้มากขึ้น (ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังอยู่ แต่เปลี่ยนรูปให้เกิดการต่อรองได้มากขึ้น) หรือสอง นโยบายสาธารณะ ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ กระทบชีวิตของเขามากขึ้น จึงต้องการมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้ง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถพูดถึงธรรมเนียมใหม่ที่ให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้ง โดยไม่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และการเมืองที่เกิดในท้องถิ่นทั่วประเทศไทยได้

แต่น่าประหลาดที่ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งกลับไม่มีสำนึกถึง “ธรรมเนียมใหม่” นี้ ยังคิดว่าจะสามารถเถลิงอำนาจโดยไม่ต้องเลือกตั้งได้นานๆ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีสำนึกถึงธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคม แต่กลับไปมีสำนึกว่าจะเกิดธรรมเนียมใหม่จากคำสั่งป้องกันโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทั้งเป็นคำสั่งที่มองชีวิตให้เหลือจุดมุ่งหมายของชีวิตแคบมาก คือไม่ติดโรคและไม่แพร่โรค ซึ่งไม่เป็นชีวิตของใครได้เลย แม้แต่ชีวิตของหมอ

ผมขอยกตัวอย่างการเปิดร้านอาหาร แต่ให้นั่งโต๊ะละคน หรือนั่งห่างกันหลังฉากพลาสติกกั้น คำสั่งเหล่านี้ไม่มีเหตุผลอย่างไรมีคนพูดไว้มากแล้ว เช่น คนในครอบครัวเดียวกันต้องนั่งแยกโต๊ะกัน แล้วก็พากันเบียดขึ้นรถคันเดียวกันกลับบ้าน แต่ผมอยากพูดถึงวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมกัน (commensality, commensalism)

หมออาจคิดว่าการกินอาหารคือการนำเอาพลังงานภายนอกเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย นั่นก็ใช่แน่ แต่เป็นเพียงส่วนเดียวของการกินอาหารของมนุษย์ ทั้งเป็นส่วนที่ไม่ค่อยอยู่ในสำนึกของมนุษย์ทั่วไปที่ไม่ใช่หมอด้วย โดยเฉพาะการกินอาหารร่วมกัน

นับตั้งแต่ก่อนสมัยหินด้วยซ้ำ ที่มนุษย์ใช้การกินอาหารร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการประกาศ, การย้ำ, การจำแนก, การให้และการถอดสถานะ ฯลฯ ของบุคคลทั้งในกลุ่มเดียวกันและนอกกลุ่ม เมียของ “ผู้ดี” ไทยสมัยก่อน ไม่มีวันนั่งล้อมวงกินข้าวกับผัว จัดสำรับเสร็จก็ไปรอกินทีหลัง ส่วนผัวอาจเรียกลูกเล็กๆ ถึงเป็นลูกสาวก็ไม่เป็นไรบางคนมาร่วมวงกินไปพร้อมกันได้ (เด็กย่อมเป็นกลางทางเพศ)

หมอคิดบ้างไหมว่า การกำหนดสถานะของสมาชิกครอบครัวมีความสำคัญพอๆ กับการนำพลังงานจากภายนอกไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เสื้อคลุมของแพทย์กับเสื้อคลุมช่างทาสีจึงต้องต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไงครับ แม้ทำหน้าที่เดียวกันก็ตาม

การกินอาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมกัน เป็นกลไกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและถูกใช้อย่าง “ประณีต” มากขึ้น (คือมีแบบแผนธรรมเนียมละเอียดมากขึ้น) เพราะไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคมได้หลายนัยยะกว่าสมัยหิน คำสั่งตลกๆ ของหมอและเผด็จการเกี่ยวกับการเปิดร้านอาหารและการรวมตัวสังสรรค์ จึงไม่เป็นที่เคารพเชื่อฟัง (ขอบคุณพระเจ้าที่มนุษย์มีเหตุผลมากกว่านั้น)

ยิ่งบังคับด้วยอำนาจ เช่น ให้ตำรวจไปเที่ยวไล่จับคนกินเหล้าในบ้านตนเอง ก็ยิ่งดี เพราะเมื่อไรที่มีการชุมนุมขับไล่เผด็จการในภายหน้า จะมีคนมาร่วมชุมนุมคับคั่งยิ่งขึ้น

สวัสดี