เศรษฐกิจ / กู้ 1 ล้านล้าน-ตราบาปเงินแผ่นดิน หวั่นโกงกิน-ใช้งบฯ ไร้ประสิทธิภาพ ‘ลูก-หลาน’ แบกหนี้หลังแอ่น 30 ปี

เศรษฐกิจ

 

กู้ 1 ล้านล้าน-ตราบาปเงินแผ่นดิน

หวั่นโกงกิน-ใช้งบฯ ไร้ประสิทธิภาพ

‘ลูก-หลาน’ แบกหนี้หลังแอ่น 30 ปี

 

ในที่สุดรัฐบาลก็เริ่มกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

เริ่มกู้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม วงเงินรวม 1.7 แสนล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเยียวยาอาชีพอิสระ และจ่ายเยียวยาเกษตรกร

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดของรัฐบาล และเป็นการใช้เงินกู้นอกวิธีการงบประมาณ ทำให้หวั่นเกรงอาจเกิดปัญหาทุจริต เกิดปัญหาเงินทอน เกิดปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สร้างภาระหนี้ก้อนมหึมาให้คนไทยต้องมาตามชดใช้อีกหลายสิบปี

มีการประเมินจากผู้บริหารกระทรวงการคลังว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถ้าได้รับจัดสรรให้ชำระหนี้ปีละ 3% หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 30 ปี หนี้ดังกล่าวจึงจะหมด

 

ตามสถิติที่ผ่านมางบประมาณชำระหนี้รับจัดสรรปีละแค่ 1-2% เท่านั้น แม้ปีล่าสุดรัฐบาลใจดีจัดสรรงบประมาณชำระเงินต้น 8.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ถูกเรียกคืนเพื่อนำไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพื่อนำไปสู้กับโควิด-19 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท

ทำให้เหลืองบฯ ชำระหนี้เพียง 5.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.65% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ต่ำกว่ากฎหมายวินัยการเงินการคลัง กำหนดไว้ควรตั้งงบฯ ชำระหนี้อย่างน้อย 2.5-3.5%

ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กำหนดการใช้เงินถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

สามารถนำไปใช้ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19), เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

วงเงินในแต่ละด้าน ประกอบด้วย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท, การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มมีการใช้เงินในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรและอาชีพอิสระไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท จากวงเงินที่ต้องใช้ทั้งหมด 3.9 แสนล้านบาท

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มีกรอบการใช้เงินคือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์, โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท เพื่อช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร, ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยอาศัยช่วงนักท่องเที่ยวลดลงในการซ่อมแซม บำรุง ให้มีความพร้อมรองรับแหล่งท่องเที่ยวหลังโควิด-19, โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

เป้าหมายการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี วางแนวทางไว้คือ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนในท้องถิ่นมีงาน มีอาชีพ และรายได้ เพื่อรองรับคนกลับไปยังท้องถิ่นหลายล้านคน เพราะหลังโควิด-19 การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ดังนั้น ควรเร่งสร้างงานให้คนในต่างจังหวัด ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้น

คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้โครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทเริ่มเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเริ่มเบิกจ่ายเม็ดเงินตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

ในการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต้องเสนอโครงการผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีเลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ก่อนนำเสนอ ครม. และส่งเรื่องไปกระทรวงการคลัง เพื่อกู้เงิน

 

เมื่อ พ.ร.ก.กู้เงินผ่าน ครม. เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการใช้งบประมาณ เพราะเปิดโอกาสให้กระทรวงต่างๆ เสนอโครงการเข้าไปขอใช้งบประมาณ เป็นการเปลี่ยนแผนหลังจากทีมผู้บริหารกระทรวงการคลัง สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนนำเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงินเข้า ครม.แค่ไม่กี่วัน เพราะเดิมทีมีการจัดสรรวงเงินชัดเจนว่าใช้อะไร ส่วนไหน เท่าไหร่ อย่างไร

คนวงในรัฐบาลทนไม่ไหวถึงขนาดนำเรื่องมาปูดว่า พรรคการเมืองหนึ่งเตรียมเสนอใช้งบฯ ในส่วนฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ในโครงการก่อสร้างสนามบินภูมิภาค ซึ่งค้านกับความเห็นของหลายๆ คน ว่าขณะนี้ธุรกิจสายการบินยังแย่ ไม่แน่ใจว่าอีกกี่ปีจะฟื้นตัว การจะขอใช้งบประมาณเพื่อสร้างสนามบินเหมาะสมหรือไม่

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยจัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai corruption situation Index : CSI) พบว่า ความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชั่นจากงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ประเภทจัดซื้อจัดจ้างค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของหน่วยราชการ และงบฯ ลงทุนรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 30-35% ของมูลค่าโครงการ หรือคิดเป็นความเสียหายปีละหลายแสนล้านบาท

จึงไม่แปลกใจหากมีข้อกังวลถึงการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในส่วนของการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ว่าจะเกิดการจัดสรร ปันส่วนวงเงินให้แต่ละพรรคการเมืองไปบริหารจัดการ

 

เมื่อถามความเห็นเรื่องการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไปยังสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มือดีด้านการกู้เงินของไทย มองว่าควรยกเลิกงบฯ ฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท เพราะจะเป็นช่องทางการทุจริตของนักการเมือง

การฟื้นฟูสามารถใส่งบฯ 4 แสนล้านบาทในงบประมาณประจำปี 2564 เพราะงบฯ ประจำปีมีกระบวนการจัดสรร ตรวจสอบ การเบิกจ่ายที่ดีกว่า

ขณะนี้งบประมาณฟื้นฟูยังไม่ชัดเจนว่าใช้อะไรบ้าง ส่วนงบประมาณ 2564 เริ่มจัดทำและบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2563 ดังนั้น การใช้งบฯ ฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จึงซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ที่ลูกหลานต้องมาชดใช้ไม่น้อยกว่า 30 ปี ดังนั้น หากการใช้เงินกู้ก้อนนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการหาผลประโยชน์โดยนักการเมืองและข้าราชการ จะเป็นตราบาปของผู้คิดโครงการ

การกู้มาใช้จำนวนมาก ต้องคำนึงถึงภาระหนี้ต่อจีดีพีด้วย แม้ขณะนี้หนี้ต่ำเพียง 41.28% ของจีดีพี แต่การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาททำให้หนี้ประเทศสูงขึ้นแตะ 60%

สัดส่วนหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นแค่กว่า 55% ก็จะมีผลเสียต่อเครดิตประเทศ ซึ่งเครดิตสำคัญต่อการกู้เงินต่างประเทศ สำคัญต่อการที่ต่างชาติตัดสินใจมาลงทุนตราสารหนี้ ลงทุนในหุ้น

เมื่อเครดิตไม่ดี ทำให้ต่างชาติชะลอนำเงินมาลงทุนในไทย

 

ด้านความเห็นของกูรูเศรษฐศาสตร์และการเมือง สอดคล้องกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นกัน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ความเห็นถึงความคุ้มค่าในการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า หากเม็ดเงินดังกล่าวสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้บ้าง ถือว่าคุ้มค่าระดับหนึ่ง

แต่หากไม่สามารถใช้เงินฟื้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุด อาจไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องเสียไป ซึ่งจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงสามารถบริหารได้ตรงเป้าและทันเวลาหรือไม่

เชื่อว่าการกู้และการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทในการต่อสู้โควิด-19 จะถูกประชาชนและฝ่ายการเมืองจับตามองเป็นพิเศษ

ครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลทุ่มสุดตัว เม็ดเงินนำมาต่อสู้โควิด-19 หากรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 9 แสนล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ถือว่าเม็ดเงินสูงไม่น้อยหน้านานาประเทศ ที่มีมาตรการออกมาต่อสู้โควิด-19

แต่ในการใช้เงินยังเกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพ และมีข้อสงสัยว่าแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ เพราะจากปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาอาชีพอิสระ แม้ตัวเลขการจ่ายเงินจะสูงถึง 14 ล้านคน แต่ยังมีประชาชนเดือดร้อน เดินทางมาร้องเรียนยังกระทรวงการคลังไม่ขาดสาย

บางคนร้องห่มร้องไห้ บางคนปีนรั้ว บางคนกินยาฆ่าตัวตาย เป็นภาพที่ไม่มีใครอยากเห็น และไม่อยากให้เกิดขึ้น

ขอภาวนาไม่ให้ปัญหาการใช้งบฯ ฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ซ้ำรอยงบฯ เยียวยา 6 แสนล้านบาท

     รวมถึงช่วยกันภาวนาให้เงิน 1 ล้านล้านบาทคุ้มค่ากับการที่คนไทยต้องจ่ายหนี้ชั่วลูกชั่วหลาน!…โอมเพี้ยง!