สุจิตต์ วงษ์เทศ /โนรา, หนังตะลุง จากภาคกลางลงภาคใต้

โนราตั้งเหลี่ยมเหมือนท่ากบบนภาพเขียนผนังถ้ำและเพิงผา (สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว) ภาพนี้ขุนอุปถัมภ์นรากร และ อ.สาโรช นาคะวิโรจน์ รำท่ากระต่ายชมจันทร์ [จากหนังสือ ลักษณะไทย เล่ม 3 ศิลปะการแสดง จัดพิมพ์โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2551 หน้า 218]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โนรา, หนังตะลุง

จากภาคกลางลงภาคใต้

 

โนราและหนังตะลุง แพร่กระจายจากภาคกลาง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ลงคาบสมุทร ถึงภาคใต้ คราวเดียวกับการแผ่อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (ต้นทางความเป็นไทย) ไปตามเส้นทางการค้าจากดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ลงคาบสมุทรภาคใต้ ราวหลัง พ.ศ.1700

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจหนาแน่นอยู่ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางอยู่รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) กับรัฐเพชรบุรี

โนราและหนังตะลุง แพร่กระจายลงไปถึงภาคใต้ โดยผ่านรัฐเพชรบุรี จึงพบการละเล่นโนราชาตรี คือ ละครชาตรี กับหนังตะลุง มีมากในเมืองเพชรบุรี และสอดคล้องกับตำนานว่าเจ้านายเมืองเพชรบุรียกไพร่พลลงไปฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราช หลังร้างไปเพราะการระบาดของกาฬโรค หรือไข้ห่า (ดูในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช, ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช)

โนรา คือ ละครชาวบ้าน (แต่นักวิชาการเรียกละครนอก ซึ่งไม่เคยพบหลักฐานว่ามีชื่อนี้) เล่นเรื่องนางมโนห์รา แพร่หลายในรัฐอยุธยา

หนังตะลุง คือ หนังตัวเล็ก มีก้านไม้ไผ่เสียบตัวหนังเอาไว้ปักท่อนหยวกกล้วยที่วางหลังจอหนัง ก้านไม้ไผ่เสียบตัวหนังเรียกตะลุง ได้จากคำเรียกเสาตะลุงตามประเพณีคล้องช้าง [ตะลุง แปลว่า เสาผูกช้าง เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมร ของพวกกูย (กวย) ลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้ ผู้ชำนาญจับช้างป่า] เป็นคำทั่วไปในรัฐอยุธยา เรียกเสาตะลุง พบในเพนียดคล้องช้าง

 

โนรา เป็นละครชาวบ้านครั้งกรุงเก่า

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ย้ำว่าละครโนราชาตรีในภาคใต้ คือละครชาวบ้านจากรัฐอยุธยาแพร่ลงไป มีคำอธิบาย (เมื่อ พ.ศ.2464) ใน ตำนานเรื่องละครอิเหนา จะคัดมาดังนี้

“ละครโนราชาตรีที่เล่นกันที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น…ที่จริงได้แบบแผนลงไปจากกรุงศรีอยุธยา คือแบบแผนละครนอกที่เล่นกันอยู่เป็นพื้นเมืองในสมัยนั้นนั่นเอง…ละครโนราชาตรีนี้แลที่เป็นละครนอกชั้นเดิม

อันลักษณะของละครจำต้องมีตัวละคร 3 อย่าง คือตัวทำบทเป็นผู้ชายที่เราเรียกว่านายโรงหรือยืนเครื่องอย่าง 1 ตัวทำบทเป็นผู้หญิงเรียกว่านางอย่าง 1 ตัวสำหรับทำบทเบ็ดเตล็ด เช่น เป็นฤๅษี เป็นยักษ์ เป็นพราน เป็นยายตา และเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เช่น ม้าและนกที่มีบทในเรื่องละคร ตลอดจนเล่นตลกให้ขบขัน เรียกว่าจำอวดอย่าง 1 ถ้าตัวละครขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปก็เล่นไม่สนุก

ละครโนราชาตรีของไทยเราก็ดี ที่มีตัวละครแต่นายโรงตัว 1 นางตัว 1 และจำอวดตัว 1 อย่างนี้เป็นอย่างน้อยที่สุดที่จะเล่นละครได้สะดวก

ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏมาแต่ก่อนว่าละครชาตรีชอบเล่นแต่บางเรื่องที่ตัวบทสำคัญเล่นพร้อมกันไม่เกินกว่า 3 ตัว เช่น

เรื่องพระรถเสน ตัวนายโรงเป็นพระรถเสน ตัวนางเป็นนางเมรี ตัวจำอวดเป็นม้าของพระรถเสน

หรือมิฉะนั้นก็เล่นเรื่องนางมโนห์รา ตัวนายโรงเป็นพระสุธน ตัวนางเป็นนางมโนห์รา ตัวจำอวดเป็นพรานบุณ

[เข้าใจว่าเรื่องพระรถกับเรื่องนางมโนห์รา กระบวนเล่นละครผิดกัน เรื่องพระรถนายโรงเป็นตัวบทสำคัญ เรื่องนางมโนห์รานางเป็นตัวบทสำคัญ เพราะฉะนั้น ละครโรงไหนตัวนายโรงถนัดทำบทชาย ก็ชอบเล่นเรื่องพระรถ ถ้าถนัดทำบทหญิง ก็ชอบเล่นเรื่องนางมโนห์รา]

ละครที่ขุนศรัทธาไปหัดขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คงถนัดเล่นเรื่องนางมโนห์รายิ่งกว่าเรื่องอื่น เล่นให้พวกชาวเมืองดูจนชินเลยเรียกละครว่า ‘มโนห์รา’ แต่เรียกตัดตัวหน้าเสียตามวิสัยของชาวนคร จึงคงรูปเรียกว่า ‘โนรา’ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ละครนอกที่เล่นกันในกรุงศรีอยุธยา ชั้นเดิมก็คงจะมีตัวละครแต่โรงละ 3 คน 4 คนอย่างละครโนราชาตรี ต่อนานมาเมื่อมีคนชอบดูละครมากขึ้น ทางหาเลี้ยงชีพในการเล่นละครสะดวกมากขึ้น จึงเกิดการแก้ไขกระบวนเล่นละครแข่งขันกันให้วิเศษขึ้นกว่าเดิม คือเพิ่มตัวละครให้มากขึ้น และคิดเครื่องแต่งตัวละครขึ้น แล้วริเล่นเรื่องให้แปลกกว่าเดิมออกไป

บทร้องซึ่งเดิมตัวละครต้องร้องเป็นกลอนด้นโดยประดิษฐ์ของตนเอง (อย่างโนรายังร้องอยู่ทุกวันนี้) ก็มีกวีช่วยกันคิดแต่งกลอนให้เรียบร้อยเพราะพริ้งยิ่งขึ้น

บทละครครั้งกรุงเก่าซึ่งยังมีอยู่บัดนี้พอสังเกตได้ว่า ที่เป็นบทรุ่นเก่ากลอนเป็นอย่างละครชาตรี ต่อบทรุ่นหลังมาจึงเป็นกลอนแปด ถึงกระนั้นก็ยังไม่เหมือนบทละครชั้นกรุงรัตนโกสินทร์

ละครนอกที่เล่นกันในราชธานีคงเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นมาโดยลำดับตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าจนในกรุงเทพฯ จึงมาเป็นอย่างละครที่เล่นกันในชั้นหลังนี้

แต่การที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นละครในราชธานีอย่างไร ละครในมณฑลนครศรีธรรมราชอยู่ห่างไกลราชธานีไม่มีใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบละครแต่ครั้งกรุงเก่า ขุนศรัทธาหัดไว้อย่างไรก็คงเล่นสืบมาตามแบบเดิม จึงกลายเป็นละครโนราชาตรีไปอีกอย่างหนึ่งในทุกวันนี้”

โนรา เล่นไกรทอง เพราะโนราไม่ใช่การแสดงเอกเทศมาแต่เดิม หากโนราคือละครชาวบ้าน แต่เรียกละครชาตรี จึงนอกจากเล่นเรื่องนางมโนห์ราแล้วยังเล่นเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น ไกรทอง ดังมีพยานในกาพย์เรื่องพระรถเมรี ของนายเรือง นาใน (หลวงพ่อเมือง วัดสุนทรวาส จ.พัทลุง) ว่า

 

ไปดูโนรา           เล่นนักหนาเรื่องนายไกร

กุมภาชีวาลัย       นายไกรได้แม่มาลา

 

มีเนื้อหาอธิบายรายละเอียดอีกมากเรื่องโนรา อยู่ในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก 2563 สั่งซื้อออนไลน์ที่ www.facebook.com/ituibooks หรือ โทรศัพท์ 08-8919-4516