จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช(1)

พอใกล้ถึงเดือนเมษายน เกิดมีอาการคิดถึง อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาเพราะเป็นเดือนเกิดของท่าน (20 เมษายน 2454)

ระหว่างที่อาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงวันที่ 20 เมษายน จะเป็นที่รู้กันว่าในบ้านซอยสวนพลูมีอาหารให้กินกันโดยไม่ต้องเสียเงิน

มีข้าราชการทหาร ตำรวจ นักการเมืองไปรวมตัวกันในวันดังกล่าว ทั้งนักข่าว ช่างภาพของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ จะไปรายงานข่าวกันตั้งแต่เช้า และเฝ้าจนดึกดื่นกระทั่งเลิกงาน

เมื่ออาจารย์คึกฤทธิ์ถึงแก่อสัญกรรม ปี พ.ศ.2538 มีการก่อตั้ง “สถาบันคึกฤทธิ์” ขึ้น ขณะเดียวกัน “บ้านพักในซอยสวนพลู” ซึ่งเป็น “เรือนไทย” ก็ได้เก็บไว้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ เปิดให้ประชาชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาได้เข้าชม เพื่อศึกษาเรียนรู้

วันที่ 20 เมษายน ของทุกปี ทั้ง 2 แห่งจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นกาiระลึกนึกถึง รวมทั้งอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้กับท่าน

ถึงวันนี้ท่านได้ลาจากโลกนี้ไปแล้วกว่า 2 ทศวรรษ แต่ถ้าหากท่านยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุถึง 106 ปี

 

คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์อย่างเช่นทุกวันนี้ ตลอดจนไม่สนใจประวัติศาสตร์ การบ้านการเมืองอาจไม่รู้จักท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

เคยมีตัวอย่างให้เห็นผ่านมาแล้วประมาณไม่เกิน 2 ปี ได้ส่งบัณฑิตหมาดๆ จากมหาวิทยาลัยยอดนิยม เพื่อไปช่วยนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งเพื่อทำงานค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ จากอดีต ปรากฏว่าหนุ่มสาวในวัย 20 ปีเศษๆ เหล่านี้ไม่รู้จัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช?

ไม่น่าแปลกใจนักเพราะศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์คึกฤทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านเคยเป็นอาจารย์พิเศษได้สอนสั่งนั้น ก็หยุดหายใจลาโลกนี้ติดตามอาจารย์ไปเป็นจำนวนมากเหมือนกัน สำหรับท่านที่ยังเหลืออยู่ล้วนมีวัยกว่า 80 ปีทั้งสิ้น

คนรุ่นใหม่ซึ่งไม่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย หนังสือพิมพ์ การสื่อสารมวลชน และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ย่อมไม่รู้จัก “อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13)” ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ของประเทศนี้ ไม่เคยติดตามการอ่านก็คงไม่รู้จัก “สี่แผ่นดิน” วรรณกรรมอมตะ ที่ได้นำมาจัดสร้างเป็นภาพยนตร์ ละคร รวมทั้งละครเวทีจนนับครั้งไม่ถ้วน

ไม่สนใจการอ่านศิลปวัฒนธรรม ก็คงไม่รู้ว่า “อดีตนายกรัฐมนตรี” ท่านนี้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เป็นเจ้าของผู้ก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” และ “พรรคกิจสังคม”

สื่อมวลชนก็พร้อมใจกันยกให้ท่านเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย”

 

ถึงวันนี้มีคนถามกวนๆ ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งไม่รู้? ว่าประเทศนี้ไม่มีทางจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเหมือนอย่างประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายในโลกนี้ไปได้

ใครๆ คงไม่มีสติปัญญามากมายลึกซึ้งถึงขนาดจะไปรู้ใจจนสามารถตอบคำถามอันลึกซึ้งแหลมคมสอดแทรกอาการประชดประชัน แทนท่านได้?

แต่บทบาททางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กว่า 10 ปีนั้น เป็นการเข้าสู่การเมืองอย่างมีอุดมคติตามแนวทางประชาธิปไตย ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของกรุงเทพมหานคร

ต่อมาได้ร่วมกับผู้มีอุดมการณ์ไม่แตกต่างกัน เช่น นายสุวิชช์ พันธ์เศรษฐ, สอ เสถบุตร, พระยาสุรพันธเสนี, ดร.โชติ คุ้มพันธ์ และ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ ก่อตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรค “ก้าวหน้า” ขึ้นเพื่อดำเนินการทางการเมือง รวบรวมบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับกลุ่ม “คณะราษฎร” ซึ่งมีความนิยมชมชอบในตัว นายปรีดี พนมยงค์ ที่ยังจับกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น มีลักษณะเป็นพรรคการเมือง

พรรค “ก้าวหน้า” เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของเมืองไทย

นอกจากจะเป็นการต่อต้านกลุ่มคณะราษฎร ตามวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อเป็นการเตรียมตัวในการเลือกตั้งครั้งใหม่ หลังจากประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน เพราะการยืดอายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปเนื่องจากภาวะสงคราม

การก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า การตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด เป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะตั้งพรรคการเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายอื่น

 

พรรค “ก้าวหน้า” พรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ได้รับความสนใจจากนักการเมืองทั่วไป รวมทั้งนักโทษการเมืองที่มีความเห็นไม่ตรงกันกับคณะราษฎร

ต่อมาพรรค “ก้าวหน้า” ได้ยุบตัวลง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าร่วมก่อตั้งพรรค “ประชาธิปัตย์” ขึ้น โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และท่านอาจารย์ เป็นเลขาธิการพรรค

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรค “ประชาธิปัตย์” ได้ต่อสู้กับเผด็จการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และประเทศของเราที่เรียกว่าปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ไม่นานก็มีการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” โดยทหารเข้า “ยึดอำนาจ” เสียครั้งหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นระยะๆ ก็ว่าได้ เพียงแต่ว่าช่วงไหนจะนานปีกว่ากัน ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475

แม้จะมีการต่อสู้กันทางการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจในการบริหารประเทศ แต่ก็ไม่ถึงกับเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงขนาดแบ่งเป็นสีต่างๆ เข่นฆ่าทำลายล้างกันด้วยการเอาประเทศเป็นตัวประกัน สร้างความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ในที่สุดก็เกิดการ “ยึดอำนาจ” ถึง 2 ครั้งในเวลาเพียงไม่กี่ปี คือปี พ.ศ.2549 และต่อมาในปี พ.ศ.2557

ระหว่างที่บ้านเมืองวุ่นวายแตกแยกเป็นฝ่ายนั้น เคยมีคนที่บ่นคิดถึงอาจารย์คึกฤทธิ์เช่นเดียวกัน ว่า ถ้าหากท่านยังมีชีวิตอยู่ ในฐานะที่ท่านต่อสู้ทางการเมืองมาในแนวทางประชาธิปไตย ท่านจะดำเนินการอย่างไร?

 

ก็อย่างที่มีการเขียนแสดงความคิดเห็นกันไปบ้างว่า ไม่มีใครไปรู้ใจท่านได้ เพราะบางครั้งอาจารย์ท่านก็ไม่ได้คิดอะไรไว้ล่วงหน้า แต่ท่านแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดแหลมคมจนคาดไม่ถึง

บางคนสนทนา วิเคราะห์กันยาวนาน แล้วก็สรุปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด หรือใครก็คิดไม่ถึงว่า “ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็อาจไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นเดียวกัน?”

มันอาจ “เป็นกรรม” ของประเทศนี้

80 กว่าปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทุกวันนี้ประเทศของเราก็ยังมี “รัฐบาลทหาร” บริหารประเทศ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เคยวิจารณ์การเมืองไทยไว้เมื่อกว่า 40 ปี ในยุคของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2511 ซึ่งมีทหารเป็น “นายกรัฐมนตรี” ว่า สภาพการเมืองในระยะนั้นไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นใหม่ หากเกิดมานานแล้ว คือ เป็นสภาพที่อำนาจการเมืองตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว และคนกลุ่มนั้นคือ “ทหาร” แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกันมาหลายครั้งหลายหน

แต่ “อำนาจ” ไม่เคยเปลี่ยนมือ