ต่างประเทศ : บทเรียน “3 ที” จากเกาหลีใต้ มาตรการจัดการ “โควิด-19”

นอกเหนือไปจาก “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ดูเหมือนกำลังคลี่คลายลง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ แล้ว

ก็ยังมี “เกาหลีใต้” อีกประเทศหนึ่งที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ มากขึ้น รวมถึงมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โดยรัฐบาลประกาศจะยอมให้มีการจัดงานต่างๆ ได้มากขึ้น หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

ถ้ายังจำกันได้ เกาหลีใต้เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งนอกจีนแผ่นดินใหญ่ หลังเกิดการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่งที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองแทกูเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จนกลายเป็นจุดกระจายเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปเป็นวงกว้างในเกาหลีใต้

เป็นเหตุให้ทางการเกาหลีใต้ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เป็นผลให้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต หรือกีฬาต่างๆ ต้องถูกเลื่อนออกไป หรือไม่ก็ต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด

รวมไปถึงสถานที่ที่เป็นที่รวมตัวของผู้คนจำนวนมาก อย่างพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการต่างๆ ก็ต้องถูกปิด และแน่นอน การทำพิธีทางศาสนา ถูกสั่งระงับเป็นการชั่วคราว

 

แต่ภายในเวลาอันรวดเร็ว เกาหลีใต้สามารถ “ควบคุม” การระบาดเอาไว้ได้อยู่หมัด ด้วยนโยบาย “เทรซ, เทสต์ แอนด์ ทรีต” หรือ 3 ที คือการตามรอย การทดสอบและการักษา ที่ทำให้สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องมีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับที่อื่นๆ

โดยหลังจากพบต้นตอของการระบาดจากโบสถ์ชินชอนจิในเมืองแทกู รัฐบาลก็เริ่มเดินหน้าการทดสอบจำนวนมากขึ้น เพื่อตรวจหาเชื้อให้เป็นวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีทั้งการเปิดให้ประชาชนเข้าตรวจหาเชื้อได้ “ฟรี”, มีการจัดทำคลินิกตรวจแบบ “ไดรฟ์ทรู” ทั่วประเทศ

เมื่อมีการทดสอบเป็นวงกว้าง เป็นผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้จึงเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันนั้น แต่ทางการเกาหลีใต้เองก็สามารถที่จะจัดการกับบรรดาผู้ติดเชื้อเหล่านี้อย่างฉับไวเช่นกัน คือการแยกตัว และทำการรักษา

และเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ สิ่งที่ทางการเกาหลีใต้ทำ คือการส่งข้อความ “แจ้งเตือน” ไปยังคนรอบข้าง ทั้งคนที่อยู่อาศัยด้วย หรือทำงานอยู่ด้วยกัน หรือใกล้เคียงกัน ให้ได้รับทราบว่า “มีคนติดเชื้อเคยอยู่ใกล้คุณ” เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง และไม่ออกไปสุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไป

อย่างกรณีที่โบสถ์ชินชอนจิ ก็มีการออกคำแนะนำไปยังโบสถ์ทั่วประเทศ ให้ปิดลงชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวมตัวของผู้คนจำนวนมากเกิดขึ้น

ในขณะที่มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ก็มีการนำมาใช้ตลอด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิของผู้คนตามที่สาธารณะ การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ การรักษาความสะอาด

 

ในช่วงที่มีการระบาดหนักอยู่นั้น หลายประเทศพากันเลื่อนการ “เลือกตั้ง” ในประเทศของตัวเองออกไป เนื่องจากเกรงว่า การให้คนออกไปใช้สิทธิ จะกลายเป็นการแพร่กระจายเชื้อ

หากแต่เกาหลีใต้ยังคงประกาศเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เมื่อวันที่ 15 เมษายน ท่ามกลางมาตรการที่เข้มงวด ทั้งการให้ถุงมือพลาสติกแก่ผู้ลงคะแนน การยืนแบบเว้นระยะห่าง การตรวจวัดอุณหภูมิของทุกคนก่อนเข้าไปภายในคูหาเลือกตั้ง

การออกไปลงคะแนนเสียงดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเกรงกันว่า อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง

และดูเหมือนชาวเกาหลีใต้เองก็มั่นใจในมาตรการของรัฐบาล เพราะมีการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันสูงถึง 66.2 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 28 ปีเลยทีเดียว

อีกทั้งเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้ง ก็ไม่พบว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดใหญ่อีกแต่อย่างใด

และผลลัพธ์ของการเลือกตั้งคือ พรรคฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการรับมือได้อย่างดีกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ

ขณะที่ตอนนี้ หากใครเดินทางไปยังเกาหลีใต้ จะต้องถูกกักตัวไว้ดูอาการ 14 วัน ดังนั้น จึงไม่ค่อยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น

มาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้ เป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถจัดการกับโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และตามมาด้วยการใช้ชีวิตตามแนววิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และการเว้นระยะห่างทางสังคม

ด้านนายช็อง เซ กยุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ประกาศว่า เกาหลีใต้ จะเริ่มใช้มาตรการ “กักตัวเองทุกวัน” ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม โดยการรวมกลุ่มกัน หรือการจัดกิจกรรมใดๆ จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรการการฆ่าเชื้อ

ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคเกาหลี (เคซีดีซี) ออกมาเตือนว่า ตราบใดที่ยังไม่มี “วัคซีน” ออกมา ก็มีความเป็นไปได้ที่การระบาดใหญ่จะกลับมาอีกครั้ง

ดังคำที่ว่า “การ์ดอย่าตก” นั่นเอง