อุรุดา โควินท์ / ทางรอดอยู่ในครัว : สามมื้อคืองานชิ้นใหญ่

“กินข้าวกลางวันหรือยัง” เพื่อนถาม

เป็นประโยคเปิดที่ฉันไม่คุ้นเอาเลย

ไม่สิ ฉันต้องบอกว่า มันแปลกไปมาก วัตถุประสงค์ที่เราโทร.คุยกันคือเรื่องงาน ถ้าเป็นเรื่องสนุกๆ เฮฮา เรามักคุยผ่าน inbox ใน facebook

Inbox ทำให้เราโทรศัพท์น้อยลง อะไรที่ไม่ด่วน เราจะฝากข้อความไว้ อะไรที่ด่วน ต้องตอบโต้อย่างต่อเนื่อง เสียเวลาพิมพ์ เราค่อยใช้โทรศัพท์

สารภาพว่าฉันตกใจทุกครั้งเมื่อได้ยินสายเข้า ตั้งเป็นเพลงรอสายก็ไม่ช่วยอะไร ฉันรู้สึกคล้ายถูกจู่โจม ทั้งที่ส่วนใหญ่ข่าวที่มาทางโทรศัพท์เป็นข่าวดี เป็นความปรารถนาดี หรือกระทั่งเป็นโชค ถือเป็นข้อเสียของฉันที่ต้องหาทางแก้

ที่แปลกอีกข้อ-แต่ไหนแต่ไร เพื่อนไม่เคยสนใจเรื่องกิน ไม่เคยเลยสักครั้งที่เขาจะถาม กินข้าวหรือยัง หรือกินข้าวกับอะไร

ฉันเดาว่า เพราะเขาอยู่บ้านมากขึ้น ทำอาหารกินเองมากขึ้น เขาจึงตระหนักว่า หลักใหญ่ใจความของแต่ละวันย่อมเกี่ยวข้องกับอาหารสามมื้อ

ตื่นมาก็มื้อเช้า แป๊บๆ มื้อกลางวัน อีกไม่นานก็ถึงมื้อเย็น

สำหรับคนที่กินอาหารนอกบ้าน ย่อมไม่รู้ว่าเราใช้เวลากับอาหารสามมื้อแค่ไหน เวลาที่ใช้ไม่ได้หมายถึงการปรุงเท่านั้น แต่ก็เหมือนงานอื่น มันเริ่มจากคิด วางแผน ลงมือ และแก้ปัญหา

 

อาหารถือเป็นงานชิ้นใหญ่สำหรับทุกบ้าน หากคุณมีใครสักคนจัดการงานชิ้นนี้อย่างราบรื่น ต่อให้ไม่เหลือร้านอาหารในโลก คุณก็อยู่ได้

ก่อนหน้านี้หลายปี ฉันเคยตั้งคำถามกับเพื่อนว่า กับคนที่แม้แต่ทอดไข่ ผัดผักก็ยังไม่เป็น แล้วถ้าไม่มีอาหารขายขึ้นมา จะอยู่อย่างไร

ทักษะในครัวทำให้เราพึ่งพาคนอื่นน้อยลง ช่วยให้เราประหยัด ช่วยเราวางแผนเวลาในแต่ละวัน และต่อให้เราเลือกที่จะไม่ทำ เดินออกไปนั่งกินในร้าน หรือสั่งมากิน เราก็เข้าใจกระบวนการทำงานของมัน

ฉันแน่ใจ-คนกินผัดกะเพราไข่ดาวโดยไม่รู้ว่าทำอย่างไร กับคนที่เคยทำผัดกะเพรากินเอง จะกินผัดกะเพราในร้านอาหารด้วยความรู้สึกต่างกัน และด้วยความเข้าใจที่ไม่เท่ากัน

กะเพราต้องเด็ด พริกก็ต้องเด็ด กระเทียมต้องปอก และก่อนหน้านั้นต้องล้าง หากไม่เคยเข้าครัว เราย่อมไม่คิดถึงมัน

อาหารจานหนึ่งวางบนโต๊ะในราคา 100 บาท บางคนว่าแพง บางคนว่าไม่แพง นั่นไม่เกี่ยวกับเงินในกระเป๋าเท่านั้น แต่เกี่ยวกับความเข้าใจในงานครัวด้วย

ถ้าเราเคยเข้าครัว เราย่อมรู้ว่า เราจ่ายให้การไปตลาด จ่ายค่าล้างผัก ค่าเด็ดผัก ราคาของรสมือ รวมถึงการล้างจานและความสะดวก

และนั่นหมายถึง ถ้าเราลงมือทำเอง เราก็ปลดค่าใช้จ่ายข้างต้นออก เหลือแต่ค่าวัตถุดิบ

ในบางมื้อของฉันกับเขา จึงมีต้นทุนไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท

 

ฉันบอกเขาว่า ขอวันนี้อีกวัน ไม่อยากไปตลาด

ตลาดที่เราชอบไป หากอยากได้ของครบควรไปตอนบ่ายสามครึ่ง ฉันตั้งใจมาสองวันแล้ว ครั้นถึงบ่ายสามก็ร้อนจนฉันถอดใจ

ข้อดีคือ เราประหยัดไปอีกวัน แต่เราก็มีวัตถุดิบเหลืออยู่จำกัด

“กินผัดดอกกะหล่ำมั้ย” ฉันถาม

ไม่ว่าเขาจะตอบอย่างไร วันนี้เราก็เหลือแค่ดอกกะหล่ำนั่นล่ะ

“ตอนเด็กๆ เวลายายผัด ยายใส่กุ้งแห้งด้วยนะ” เขาว่า

อืม…น่าสนใจ ฉันจะลองดู

 

ดอกกะหล่ำเป็นผักที่สุกยาก ฉันไม่ชอบเติมน้ำตอนผัด เพราะอยากได้ผัดผักที่แห้ง ฉันจึงลวกดอกกะหล่ำเสียก่อน

หั่นดอกกะหล่ำเป็นชิ้น ล้างให้สะอาดแล้วลวกรอไว้ แล้วหั่นสันคอหมูหมักกับซีอิ๊วขาวและน้ำมันงา

ฉันชอบกลิ่นน้ำมันงา และมันจะทำให้ผัดผักจานนี้พราวเสน่ห์

พอข้าวสุก ระหว่างข้าวดงนั้นล่ะ ที่ฉันจะผัดผัก และทอดไข่ดาว

ตั้งกระทะให้ร้อน ทอดไข่ดาวก่อนสองฟอง ของเขาแบบไข่แดงดิบ ของฉันแบบสุกกรอบทั้งฟอง

กระทะใบเดิม เอาน้ำมันออก โยนกระเทียมลงไป ตามด้วยหมู ผัดหมูสุก แล้วใส่ดอกกะกล่ำลงกระทะ สุดท้ายคือกุ้งแห้ง

ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวกับเกลือ ตัดน้ำตาลแค่เล็กน้อย

ใช้ไฟแรง ผัดให้ดอกกะหล่ำร้อนฉ่า ติดกลิ่นกระทะไหม้นิดๆ แล้วฉันก็ปิดเตา

ตักใส่จาน โรยพริกไทยขาวเยอะๆ

 

“จานใหญ่มาก” เขาว่า

ฉันหัวเราะ “กินไม่หมดแน่เลย กะหล่ำหัวหนึ่งสิบกว่าบาทเอง จากตลาดน่ะ”

“กินไม่หมดก็เก็บไว้มื้อกลางวัน จะได้ไม่ต้องทำให้ร้อน” เขาพูด แล้วตักผัดผักเคี้ยว

เราสองคนกินผัดผักจนลืมไข่ดาว ทั้งที่ชอบไข่ดาวมาก

แค่ใส่กุ้งแห้งและหมักหมูด้วยน้ำมันงา ก็ทำให้ผัดผักง่ายๆ เปลี่ยนไป ทำให้เราตื่นตัวกับอาหาร อย่างกับเพิ่งเคยกินผัดดอกกะกล่ำ

คำหลังๆ เราถึงกับลืมข้าว ตักแต่ผัดผักกันทั้งคู่

ดีจริงๆ ที่ขี้เกียจไปตลาด ฉันคิดขณะตักผักเข้าปาก

แน่นอน เรากินหมดในมื้อเดียว แม้จานใหญ่มาก แล้วเราก็อิ่มจนไม่อยากคิดถึงมื้อกลางวันเลยล่ะ