หนุ่มเมืองจันท์ | จินตนาการหลังโควิด

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

มีคนบอกว่ากระแสทำลายล้างที่แรงที่สุดในวันนี้

คือ “โควิด ดิสรัปชั่น”

ไม่ใช่ “เทคโนโลยี”

เพราะ “โควิด” ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก

การใส่หน้ากากเข้าหากัน ซึ่งเป็นเหมือน “คำด่า” ในอดีต เพราะแสดงถึงความไม่จริงใจต่อกัน

แต่วันนี้ถ้าใครไม่ใส่หน้ากากเข้าหากัน

คนนั้นกลายเป็น “คนนิสัยไม่ดี”

ก่อนหน้าที่ กทม.จะ “ปิดห้าง” เวลาเดินในห้างแล้วมีคนทัก

บางทีต้องเพ่งมองพักหนึ่ง

เพราะจำไม่ได้ว่าคนทักเป็นใคร

ไม่แปลกที่ศิลปิน ดารา หรือคนดังจะชอบช่วงเวลานี้มาก

เพราะทุกคนใส่หน้ากากกันหมด

เดินไปไหนคนจะจำไม่ค่อยได้

เพียงแต่ช่วงนี้ไม่มีที่ให้ไปไหนเท่านั้นเอง

การใส่หน้ากากเป็นประจำ ทำให้สินค้าตัวหนึ่งขายดีมาก

รู้ไหมครับว่าอะไร

“เมฆ” น้องที่ทำคลังสินค้าออนไลน์ บอกว่าสินค้าที่ยอดขายดีมาก

คือ “เครื่องสำอาง”

ตรงกับข้อมูลของ “อาลีบาบา”

ช่วงที่ผ่านมา “อายแชโดว์” ยอดขายเพิ่มขึ้น 150%

อธิบายง่ายๆ ก็คือ การใส่หน้ากาก ทำให้สาวๆ ไม่ได้โชว์ด้านล่างของผิวหน้า

เหลือแต่คิ้ว ตา ที่เห็นชัดเจน

“อายแชโดว์” จึงมีความจำเป็น

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็น “โควิด ดิสรัปชั่น”

ในอดีต ใครผายลมในที่สาธารณะถือว่าน่ารังเกียจ

มีกลิ่นยังพอเนียนๆ ได้

แต่ถ้ามีเสียง คนจะทายออกว่ามาจากใคร

มีคนบอกว่าสมัยก่อนถ้าอั้นไม่ไหว ต้องแกล้งไอเสียงดังๆ กลบเสียงตด

แต่วันนี้การไอในที่สาธารณะ กลับน่ารังเกียจกว่าการผายลม

ถ้าจะไอต้องตดดังๆ กลบเสียงไอ

น่ารังเกียจน้อยกว่า

เอ๊ะ หรือไม่จริง

ตอนนี้รัฐบาลเริ่ม “คลายล็อก” บ้างแล้ว

หลังจากใช้มาตรการปิดเมืองมาประมาณ 1 เดือน

หลายคนอยู่กับบ้านจนเริ่มเห็นมดยิ้มให้

มีคนบอกว่าแค่เห็นมดยิ้มให้ไม่เท่าไร

ถ้าได้ยินเสียงมดพูดด้วย

แบบนี้เริ่มหนัก

แต่ถ้าเราเริ่มพูดตอบมด

ให้รีบไปหาหมอทันที

พอมีข่าวว่ารัฐบาลเริ่มคลายล็อก

ผมลองถามเล่นๆ ในเพจว่าถ้ารัฐบาลให้เปิดศูนย์การค้า ร้านค้าต่างๆ ให้บริการได้ตามปกติ ใครจะไปร้านไหนก่อน

ลองทายสิครับ ว่าเหมือนกับเราอยากไปไหม

คำตอบที่ได้ ไม่ใช่ “ร้านอาหาร”

ไม่ใช่ “ห้างสรรพสินค้า”

แต่เป็น “ร้านตัดผม” หรือ “ร้านเสริมสวย” ครับ

ทุกคนทนรำคาญกับผมเผ้าที่รกรุงรังไม่ได้

ว่ากันว่าช่วงปิดร้านทำผม เป็นช่วงที่ “ความจริง” เริ่มปรากฏ

ใครที่ผมหงอกก็ย้อมหรือทำสีผมไม่ได้

ทุกคนจะรู้เลย

ผู้หญิงหลายคนประชุมผ่าน zoom แต่ใช้วิธีหันกล้องขึ้นเพดาน ไม่ยอมให้น้องเห็นหน้าและสีผม

ส่วนผู้ชาย พอรับความจริงได้ แต่รำคาญความรุงรัง

ทุกคนอยากไปร้านทำผม

คาดว่าหลังคลายล็อก คิวของช่างทำผมจะยาวมาก

มีน้องคนหนึ่งรอบคอบมาก

นอกจากบอกว่าไปร้านทำผมแล้ว

เขายังเตรียมบอกช่างให้ตัดสั้นเลย

ป้องกันไว้ก่อน

เผื่อเกิดไวรัสระบาดรอบ 2

ปิดร้านตัดผมอีก

คราวนี้ไม่กลัวแล้ว

ยืนระยะอีกนานกว่าผมจะยาว

เวลาพูดถึง “โลกหลังโควิด”

ผมจะแยกเป็น 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้เกิด “ความเคยชิน” ใหม่

เช่น การสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่

หรือการช้อปปิ้งออนไลน์

คนที่ไม่เคยใช้บริการก็เริ่มใช้ และใช้นานๆ ก็เริ่มชิน

การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home และการประชุมผ่าน zoom ก็เช่นกัน

ไม่เคยใช้ก็ต้องใช้

พอใช้แล้วจะเริ่มชิน และรู้สึกว่าดีเหมือนกัน

“ความเคยชิน” ใหม่แบบนี้จะทำให้โลกหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไป

ทั้ง “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย” และ “คนทำงาน”

เรื่องที่สอง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะ “โควิด” ระบาด และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาที่ได้ผลแบบง่ายๆ

การใส่หน้ากาก การใช้ข้อศอกกดลิฟต์ ล้างมือด้วยเจลบ่อยๆ การรักษาระยะห่าง ฯลฯ

พฤติกรรมแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นพฤติกรรมชั่วคราว

มีวัคซีนหรือยา แล้วจบ

ใครที่คิดว่าสินค้าในอนาคตจะต้องออกแบบมาเพื่อลดการใช้มือสัมผัส

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า “ความกลัว” ของคนเราจะยาวนานแค่ไหน

หรือบอกว่า “โควิด” ได้ทำลาย “แชริ่ง อีโคโนมี” ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นโลกแห่งอนาคต

จะใช้ห้องพัก รถ ห้องทำงานแบบ “โค เวิร์กกิ้ง สเปซ” ร่วมกัน

ผมไม่ค่อยแน่ใจ

เพราะถ้ามีวัคซีน หรือยารักษาโรคที่ทำให้ความหวาดกลัวในการใช้ชีวิตใกล้ชิดกันลดลงจนเป็นปกติเหมือนในอดีต

“แชริ่ง อีโคโนมี” ก็ยังมีความเป็นไปได้

ตอนนี้ “โควิด” เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

แต่ถ้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือบริษัทยาสามารถคิดค้นวัคซีนหรือยาได้ ทำให้ “โควิด” เหลือแค่ “ไข้เลือดออก” หรือ “ไข้หวัดใหญ่”

เราน่าจะไม่กลัวมาก

ขนาดโรคเอดส์ที่ยังรักษาไม่หาย พอถึงวันหนึ่งคนก็กลัวน้อยลง เพราะรู้ว่า “ถุงยางอนามัย” ป้องกันได้

แต่ถ้าคิดค้นวัคซีนหรือยาไม่ได้สิครับ

เรื่องใหญ่เลย

มีนักเขียนคนหนึ่งบอกว่า ถ้า “โควิด” ยังอยู่และรักษาไม่ได้

เวลาเราเขียนนิยายจะต้องจินตนาการใหม่ จะบรรยายแบบเดิมไม่ได้แล้ว

การแสดงความรักระยะ 2 เมตรต้องทำอย่างไร

กอดกันก็ไม่ได้

จูบก็ไม่ได้

ยิ่งพอบรรยายถึงฉากอีโรติกเราต้องตั้งหลักกันใหม่เลย

ลองจินตนาการตามหลัก Social Distancing ดูสิครับ

ปากของผู้หญิงและผู้ชายต้องห่างกัน 2 เมตรเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

แต่ต้องมี “จุดตัด” ที่ร่างกายทั้งคู่บรรจบกัน

เพื่อให้ขั้วบวกกับขั้วลบปะทะสังสรรค์กันจนสายรุ้งพรั่งพรู

นึกเป็นภาพทางสาธารณสุขได้ครับ

แต่พอบรรยายเป็นภาษาวรรณกรรม

ลองนึกภาพดูนะครับ

…เราต่างเบนตัวออกจากกัน กะระยะได้ประมาณ 2 เมตร ขาของเราเริ่มเกี่ยวพันเหมือนเถาวัลย์

ผมจูบปลายเท้าของเธอ

เธอละเลียดปลายเท้าของผม

เขี่ยขนหน้าแข้งเบาๆ…

ยังไม่ถึงบทอัศจรรย์ก็อึกอัก-อึกอักแล้ว

ราวกับฉากอีโรติกของมนุษย์ต่างดาว

“มะเร็งเก็งกอง” น่าดูเลย