คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / รู้จัก “อารยสมาช” : องค์กรฮินดูปฏิรูปอีกแห่งในสังคมไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คราวที่แล้วผมกล่าวถึง “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” ว่ามีการออกแบบองค์กรทางศาสนาฮินดู ซึ่งมาพร้อมกับการออกแบบประเทศโดยนักชาตินิยม บางองค์กรก็ยังคงมีอยู่ บางองค์กรก็ค่อยๆ หายไป

ที่จริงอาจต้องพูดให้ชัดเจนว่า องค์กรฮินดูที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความเป็นชาตินิยมอินเดีย นักเรียกร้องเอกราชอินเดียนั้นไม่ได้มีแต่สายสันติวิธีอย่างมหาตมา คานธี แต่มีสายที่สนับสนุนการใช้การต่อสู้ทางการทหาร เช่น สายท่านผู้นำ (เนตา) สุภาส จันทระ โพส ด้วย

องค์กรศาสนาทั้งหลายจึงต่างก็มีเอี่ยวในการต่อสู้ภายใต้สองกระแสนั้นมากน้อยต่างกันออกไป

ดังนั้น นอกจากต้องต่อสู้กับบริติชราชแล้ว เพราะองค์กรเหล่านี้มีอุดมการณ์และภาพของศาสนาฮินดูและประเทศที่อยากให้เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน จึงต้องต่อสู้โจมตีกันเองด้วยทั้งในทางลับและทางแจ้ง

ทั้งนี้ นอกเหนือจากนักชาตินิยมที่สวมบทบาทนักการศาสนาแล้ว แม้แต่นักการศาสนาหรือนักบวชเองต่างก็สวมบทบาทนักชาตินิยมอินเดียด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ท่านมหาสวามีจันทรเศขร (มหาเปริยาร์) ศังกราจารย์แห่งกาญจีปุรัม, สวามีวิเวกานันท์, สหชานันทะสวามี (สวามีนารายัณ)

และท่านหนึ่งที่ผมจะกล่าวถึงวันนี้คือ สวามีทยานันท์ สรัสวตี

 

ท่านเหล่านี้ต่างเป็นนักบวช “ตามประเพณี” ของฮินดูทั้งสิ้น (คือเป็น “พระ” จริงๆ) แถมบางองค์เป็นถึงประมุขของนิกาย เช่น ท่านศังกราจารย์แห่งกาญจีปุรัม

ผมเข้าใจว่าด้วยบริบททางประวัติศาสตร์แบบนี้ คนอินเดียจึงไม่ได้มองว่าศาสนากับการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ ศาสนาในฐานะพลังทางสังคมจึงถูกช่วงชิงการตีความเพื่อใช้ผลักดันประเด็นทางสังคมการเมืองตลอดมา

โจทย์ของอินเดียจึงไม่ไช่ทำอย่างไรจะแยกศาสนาออกจากการเมืองได้เด็ดขาด แต่คือทำอย่างไรให้ศาสนาสัมพันธ์กับการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ก็เพราะมันแยกออกจากกันบ่ได้ดอก

ผลพวงของขบวนการข้างต้นไม่เพียงปรากฏอยู่ในอินเดียเท่านั้น ยังปรากฏในต่างประเทศที่มีชุมชนชาวอินเดียอพยพไปตั้งรกราก

รวมทั้งเมืองไทย

 

การต่อสู้ของท่านสุภาส จันทระ โพส ผ่านมาทางสวามีสัตยานันทะ ปุรีผู้เป็นศิษย์ของสวามีวิเวกานันท์และสวามีรามกฤษณะบรมหงส์ ได้ก่อให้เกิด “อาศรมวัฒนธรรม ไทย-ภารตะ” แหล่งค้นคว้าทางวิชาการด้านต่างๆ ของอินเดีย ที่ยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน

มีโอกาสผมคงได้กล่าวถึงท่านสวามีสัตยานันทะ ปุรี เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางภารตวิทยาในบ้านเราที่สำคัญคนหนึ่ง

อีกองค์กรที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการสร้างชาติอินเดียคือ “อารยสมาช” (Arya samaj) ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดวิษณุ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

ที่จริงผมคิดว่า องค์กรฮินดูใหม่ทั้งหมดในไทยไม่ว่า ฮินดูสมาช ฮินดูธรรมสภา (วัดวิษณุ) หรือคุรุทวาราของชาวสิกข์ ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างชาติอินเดียในครั้งนั้นทั้งสิ้น แต่ยังไม่มีโอกาสสืบค้นกับท่านผู้ใหญ่

จึงขอเสนอเท่าที่พอทราบก่อน

 

อารยสมาชก่อตั้งโดยสวามีทยานันท์ สรัสวตี (สวามีเป็นสมณศักดิ์หรือคำยกย่องนักบวช ส่วนสรัสวตีเป็นฉายานามตามลักษณะพิเศษ หรือวัดที่สังกัด) ในปี ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) ที่มุมไบ ประเทศอินเดีย

ในประวัติชีวิตของท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะออกบวชครั้งหนึ่งท่านกระทำบูชาพระศิวลึงค์อยู่ แต่มีหนูออกมากินเครื่องสักการบูชา ท่านเห็นดังนั้นจึงรำพึงว่า ไฉนหนูตัวเล็กๆ ไม่ยำเกรงพระเจ้า หรือที่จริงแล้วการบูชาแบบนี้ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ถูกต้อง ท่านจึงออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อหาคำตอบ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านพบให้ความสำคัญกับพระเวทและมนูธรรมศาสตร์ ท่านจึงเห็นว่าสองอย่างนี้เป็นหลักในทางศาสนาได้ ส่วนธรรมเนียมพิธีกรรมที่ได้ทำๆ มามีทั้งถูกและผิด

ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ ฮินดูนิกายต่างๆ มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย ต่างถือว่าของตนถูกต้องเที่ยงแท้

แต่ท่านเห็นว่านิกายเหล่านี้ละเลยธรรมเนียมเดิมที่มีในพระเวท พากันปฏิบัติบิดเบือนไปจากที่ควรเป็น

 

ดังนั้น ผมสรุปง่ายๆ ว่า สำหรับท่านสวามีแล้ว “ศาสนาฮินดูที่แท้” เท่ากับ “ศาสนาพระเวท” แนวการปฏิบัติในพระเวทเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมเหตุสมผลที่สุด ส่วนหลักการทางศีลธรรมนั้นคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ก็มีพร้อมมูลแล้ว จึงไม่ต้องพึ่งคัมภีร์อื่นๆ

ดังนั้น ท่านจึงตั้งก่อสมาคมชื่อ “อารยสมาช” (สมาคมอารยัน) เพราะถือว่าพระเวทนั้นคือวัฒนธรรมและคำสอนชั้นสูงของพวกอารยันนั่นเอง

อารยสมาชปฏิเสธการบูชารูปเคารพ ด้วยเห็นว่าไม่ได้มีอยู่ในคำสอนของพระเวท นับถือพระเจ้าองค์เดียว ปฏิเสธการบูชายัญด้วยสัตว์ ปฏิเสธการสมรสวัยเด็ก และให้ความสำคัญแก่สตรีมากขึ้น

วัดของอารยสมาชปราศจากรูปเคารพ มีโรงพิธีสำหรับ “ยัชญะ” หรือการบูชาไฟ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีในสมัยพระเวท

นอกจากนี้ยังทำ “สัมสการ” หรือพิธีเปลี่ยนผ่านในช่วงชีวิตตามที่กำหนดในพระเวททั้งสิบหกพิธี

สัญลักษณ์สำคัญของอารยสมาชคือ “โอม” แต่เป็นโอมที่ต่างกับอักษรทั่วไป (ปกติโอม จะมีอักษรพิเศษที่ใช้โดยเฉพาะ) โดยเขียนในลักษณะการออกเสียงและมีเลขสามอยู่ตรงกลาง ซึ่งแสดงถึงการออกเสียงที่ถูกต้อง และถือว่าเป็นพระนามที่สำคัญสุดของพระเจ้า

 

สวามีทยานันทะใช้ชีวิตของท่านในการเผยแพร่คำสอนและโต้วาทีกับสำนักอื่นๆ ของฮินดู ท่านได้ออกหนังสือชื่อ “ประทีปแห่งสัจธรรมสัตยรรถประกาศ” เป็นหนังสือเล่มใหญ่มีความยาวถึงแปดร้อยกว่าหน้า และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมใหม่ๆ (อารยสมาชกรุงเทพฯ ก่อตั้งในราว พ.ศ.2464-2465)

เนื้อความในหนังสือนั้น นอกจากจะแสดงข้ออรรถกถาตามพระเวทและมนูธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีการโจมตีศาสนาอื่นๆ และนิกายต่างๆ ของฮินดูเองอย่างรุนแรง รวมทั้งโจมตีพิธีกรรมและธรรมเนียมนอกพระเวทว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการบิดเบือน ไม่ใช่ฮินดูแท้

ด้วยท่าทีเช่นนี้ ท่านสวามีทยานันท์จึงมีศัตรูมากมายและถูกลอบวางยาพิษมรณภาพในปี พ.ศ.2426

ตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมจำได้คือ ท่านโจมตีวิธีรับศาสนิกของไวษณวะนิกายบางพวก ซึ่งใช้ตราประทับโลหะเผาไฟกดลงบนไหล่ศาสนิก แล้วจุ่มลงในนม ท่านเหน็บแนมว่า ก็แค่ชอบรสของเนื้อย่างที่ปนลงในนมเท่านั้นเอง อะไรทำนองนี้

นอกเหนือจากการเผยแพร่คำสอน ภารกิจอย่างหนึ่งของสมาคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือการป้องกันไม่ให้คนฮินดูละทิ้งศาสนาเดิม รวมทั้งการนำชาวฮินดูที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาใหม่ให้กลับมาถือฮินดูอีกครั้ง

อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆ สมาชทำ คือการมองว่าอินเดียที่จะได้รับเอกราช คืออินเดียของ “ฮินดู” (ฮินดูสถาน) การรักษาคนฮินดูไว้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

อารยสมาชถูกมองจากผู้ปกครองชาวอังกฤษว่าเป็นสมาคมทางการเมือง ว่ากันว่าสมาชิกของสมาชหลายคนล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการเมืองช่วงเรียกร้องเอกราช เช่น ภกัต สิงห์ และอารยสมาชค่อนข้างมีอิทธิพลในภาคเหนือของอินเดีย

 

นี่คือตัวอย่างของการปฏิรูปทางศาสนาที่มีแนวทางปฏิเสธหรือไม่ประนีประนอมและการพยายามนำเสนอ “ของแท้” ในแบบที่ตัวเชื่อ ซึ่งคงต้องถามกันต่อว่า ใครๆ ก็ต่างอ้าง “ความแท้” ทั้งนั้น แล้วของใครแท้กันแน่? หรือสุดท้ายมีแต่แท้ที่เพิ่งสร้าง?

ปัจจุบันอารยสมาชมีสมาชิกไม่มากทั้งในและนอกอินเดีย และกลับมาเน้นเรื่องการศึกษาแทนเรื่องการเมืองโดยเฉพาะการศึกษาพระเวท แต่ก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนชาวฮินดูอยู่

ใครมีโอกาสก็ไปเยี่ยมชมอารยสมาชในบ้านเราได้ครับ เข้าใจว่ายังคงมีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ และเขายินดีต้อนรับมากๆ ผมเคยรู้จักท่านนายกสมาคมคือคุณอนันต์ (ศิเวนทร ซิงห์) ไม่ทราบว่าปัจจุบันท่านยังคงเป็นนายกไหม ก็ขอฝากความระลึกถึงไปกับหน้ากระดาษนี้ด้วยครับ

ไปดูเถิด อย่างน้อยๆ เผื่อจะได้เห็นประวัติศาสตร์และตัวอย่างการตีความศาสนาฮินดูอีกแบบที่ต่างไปจากแนวทางที่เราคุ้นเคย

ซึ่งจะช่วยเปิดหูเปิดตาเรายิ่งขึ้น