วิรัตน์ แสงทองคำ : ผู้นำค้าปลีกอาเซียน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวอีกฉากของ “ผู้ร่ำรวยไทย” ว่าด้วยความสามารถสถาปนาธุรกิจ กลายเป็นผู้นำค้าปลีกอาเซียนได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ห้วงเวลาที่ผู้คนในสังคมกล่าวถึง “มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน” และ “มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ” หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ “ผู้ร่ำรวย” ที่ว่า สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในระดับภูมิภาค

กล่าวอย่างเจาะจงถึงธุรกิจค้าปลีกอย่างหนึ่งซึ่งมีพลวัตและอิทธิพลอย่างมาก

หนึ่ง-สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างยืดหยุ่น ทั้งโมเดลตามพื้นที่ จากขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Hypermarket สู่ขนาดกลางมักเรียกกันว่า Supermarket จนถึงขนาดเล็กที่เรียกว่าร้านสะดวกซื้อ (convenience store) ขณะอีกบางโมเดล ผสมสานระหว่างการค้าส่งกับค้าปลีกเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว

สอง-เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน มีอิทธิพลต่อผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค มีอิทธิพลต่อผู้ซื้อ โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยจำนวนมาก ด้วยรูปแบบและขนาดหลากหลาย ครอบคลุมจนถึงระดับชุมชน รวมทั้งโมเดลดั้งเดิมที่เรียกว่าโชห่วย จนมาถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการายกลางและย่อย กลุ่มที่ใหญ่และสำคัญอย่างมาก ในฐานะพลังขับเคลื่อนสังคมบริโภคพื้นฐานในสังคมไทย

ธุรกิจค้าปลีกโมเดลจากยุโรปที่ว่า เข้ามาสู่เมืองไทยอย่างเป็นขบวนเมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว ด้วยพัฒนาการอันน่าทึ่ง เติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางโมเดลทางธุรกิจซึ่งผันแปรตามบริบทในช่วงเพียง 3 ทศวรรษ

 

ช่วงบุกเบิก

ปี2531 เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก โมเดลขนาดใหญ่จากยุโรปที่เรียกว่า Hypermarket โดย SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ ร่วมทุนกับกลุ่มซีพี เปิด Makro ครั้งแรกในเมืองไทย

เพียงไม่กี่ปี กลายเป็นธุรกิจใหม่ดาวรุ่งพุ่งขึ้นเป็นกระแสให้ธุรกิจไทยเดินตาม ซีพีเองเปิดฉากธุรกิจค้าปลีกแบบ Hypermarket ขึ้นอย่างตั้งใจท่ามกลางโอกาสในขยายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้น ในนาม โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (ปี 2537)

ขณะ กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำค้าปลีกแบบไลฟ์สไตล์แต่ไหนแต่ไรมา ตามกระแสโมเดล Hypermarket อย่างกระชั้นชิด เปิด Big C สาขาแรกในปีเดียวกัน

เซ็นทรัลมีความพยายามมากขึ้นเป็นพิเศษ ใน 2 ปีต่อมา (ปี 2539) ขยับปรับตัวอีกครั้งสู่เกมใหญ่ขึ้น ด้วยการร่วมทุนกับ Carrefour SA ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกแห่งฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกตัวจริงในโมเดล Hypermarket ไปได้ดีในยุโรปเปิดตัวห้าง Carrefour ในไทย

 

ในกำมือยุโรป

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2540 เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยเผชิญปัญหาถ้วนหน้า

ซีพีต้องตัดใจขายหุ้นใหญ่ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ให้กับ Tesco ผู้นำค้าปลีกระดับโลกแห่งสหราชอาณาจักร (ปี 2541)

ในช่วงเดียวกันเซ็นทรัลเองก็เผชิญรอบด้าน ตัดสินใจถอนตัวจากการลงทุนซึ่งเพิ่งเริ่มต้นกับ Carrefour ขณะ (ปี 2542) ได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการ Big C ให้กับ Casino Group เครือข่ายค้าปลีกระดับโลกแห่งฝรั่งเศส

จากนั้น (ปี 2544) มีการหลอมรวมอย่างน่าสนใจ Big C ภายใต้เครือข่าย Casino Group แห่งฝรั่งเศส เข้าซื้อกิจการ Carrefour ทั้งหมดในประเทศไทย

นั่นคือช่วงเวลาสำคัญ โครงสร้างค้าปลีกโมเดลยุโรปครั้งใหญ่ จากธุรกิจร่วมทุน “กินแบ่ง” กับธุรกิจไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง

ภายใต้เครือข่ายค้าปลีกแห่งยุโรป เป็นช่วงเวลากว่าทศวรรษ (2542-2556) ท่ามกลางขยายเครือข่ายเชิงรุก สามารถปักหลักหนักแน่นในสังคมไทย

 

ผู้นำอาเซียน

ก่อนที่วิกฤตการณ์การเมืองไทยเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายปี 2556 ในช่วงต้นๆ ปี แวดวงธุรกิจไทยตื่นเต้นกับดีลสำคัญ มุมมองต่อธุรกิจค้าปลีกในเชิงบวกยกระดับขึ้นอีกครั้ง เมื่อซีพีซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกโมเดลขนาดเล็ก-ร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเกินคาด ได้เดินหน้าครั้งใหญ่ตามแบบฉบับซีพี เพื่อขยับบทบาทธุรกิจค้าปลีกให้มีวงจรต่อเนื่อง ด้วยการซื้อเครือข่าย Makro ในประเทศไทย

ว่าไปแล้วมุมมองต่อธุรกิจค้าปลีกกับธุรกิจใหญ่ไทยเริ่มคึกคักมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจคลี่คลายไปมาก

แรงปะทุปะทะครั้งใหญ่เกิดขึ้นในกรณี Carrefour ด้วยทั้งซีพี กลุ่มทีซีซีและเซ็นทรัล ที่ไม่น่าเชื่อมี ปตท.ด้วย ล้วนเป็นคู่แข่งในความพยายามซื้อกิจการ Carrefour

ที่ตื่นเต้นยิ่งขึ้น เมื่อมียักษ์ใหญ่ธุรกิจ กลายเป็นรายใหม่ในธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่ ปตท. แต่เป็นทีซีซี ทีซีซีภายใต้การนำของเจริญ สิริวัฒนภักดี แสดงบทบาทที่แตกต่างออกไป ไม่เพียงเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยเท่านั้น ยังข้ามพรมแดนสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ในกรณีเวียดนาม อีกทั้งกรณีเข้าซื้อ Big C ในประเทศไทย (ปี 2559) ก็มีแผนที่แน่ชัด ขยายเครือข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย

และแล้วกรณีล่าสุดก็มาถึง กลุ่มซีพีได้เข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus ในไทยในรูปแบบต่างๆ มีขนาดใหญ่แบบ Hypermarket 214 สาขา ขนาดกลาง 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา ซึ่งสามารถสร้างรายได้รวมกันราว 1.89 แสนล้านบาท (งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562)

และเครือข่ายในประเทศมาเลเซียมี Hypermarket 46 สาขา Supermarket 13 สาขา และ Convenience store 9 สาขา กับโครงสร้างรายได้รวมราว 3.36 หมื่นล้านบาท (งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562)

 

ดีลซีพีกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ไม่ปกติ ในภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ในโลก ผู้คนอาจสนใจไม่มาก ทั้งๆ เป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยเลยก็ว่าได้ เป็นดีลซึ่งส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจอย่างพลิกโฉม

หนึ่ง-เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทยมีบุคลิกเฉพาะตัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครือข่ายค้าปลีกที่มีขนาดและโมเดลยืดหยุ่น อย่าง Makro Big C และ Tesco Lotus ได้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ในเวลานี้ อยู่ในกำมือของยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ ซึ่งธุรกิจต่างชาติมีบทบาทไม่น้อย ไม่ว่าธุรกิจการเงิน ธนาคาร หลักทรัพย์ และสื่อสาร

สอง-มีอิทธิพลระดับภูมิภาค ต้องนับว่าปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกไทยกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

สิ่งที่ติดตามต่อไป ในช่วงเวลาราวๆ 5 ปีกับแผนการลงทุนครั้งใหญ่มากถึง 800,000 ล้านบาท เพื่อเข้ายึดครองธุรกิจหนึ่ง ท่ามกลางช่วงเวลาธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม กำลังเผชิญความท้าทาย ดูจะยิ่งมีมากขึ้นหลัง COVID-19

 

ดีลสำคัญ

ปี 2556

กลุ่มซีพี ซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย (69 สาขา) จาก SHV Holding แห่งเนเธอร์แลนด์ (มูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท)

ปี 2559

กลุ่มทีซีซี ซื้อเครือข่ายค้าปลีก METRO Cash & Carry แห่งเยอรมนีในเวียดนาม (19 สาขา) ในราคา 655 ล้านยูโร (มูลค่ามากกว่า 25,500 ล้านบาท)

กลุ่มทีซีซี ซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทย (116 สาขา) จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส ในราคา 3,100 ล้านยูโร (หรือทะลุ 200,000 ล้านบาท)

กลุ่มเซ็นทรัล ซื้อเครือข่าย Big C Vietnam (43 สาขา) จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส ในราคา 920 ล้านยูโร (หรือประมาณ 36,800 ล้านบาท)

2562

กลุ่มซีพี ซื้อเครือข่าย Tesco ในประเทศไทย และมาเลเซียจาก Tesco Plc แห่งสหราชอาณาจักร มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,400 ล้านบาท