วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

 

คํานำจาก “เรื่องของหนังสือ 3 เล่ม” ที่ขรรค์ชัย บุนปาน บอกกล่าวไว้ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2520…”

หลังจากประสบความล้มเหลวอย่างเรียบร้อยในปี 2519 ด้วยอำนาจอันไม่เป็นธรรมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ขึ้นมาเผด็จการประเทศชาติบ้านเมืองเดือนตุลาคม ของ พ.ศ.นั้น ด้วยงานจร เมื่อมีหนังสือในเครือบริษัทมติชน 3 ฉบับ… เรียกว่างานประจำ

เมื่อมีงานประจำก็ต้องมีงานจร เหมือนคนที่ต้องผจญกับงานประจำอันหนักหนาแล้ว ต้องมีงานอดิเรกช่วยจรรโลงชีวิตด้วยฉะนั้น จะต่างกันก็แต่ว่า เราไม่มีงานอดิเรกอื่นนอกจากเรื่องในแวดวงหนังสือ ด้วยความ สามารถอันจำกัดเช่นนี้ งานจรของเราก็หนีไม่พ้นเรื่องของหนังสืออีกเช่นเคย คือเหตุผลที่ขรรค์ชัย บุนปาน ชี้แจงเรื่องการมีหนังสือเล่มจากนักข่าวนักเขียนของมติชน

หมายถึงว่า ผู้ทำงานใน “มติชน” จะมีรายได้เพิ่มต่อเมื่อทำหนังสือเพิ่มเท่านั้น จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก หลังมีหนังสือพิมพ์อันเป็นงานประจำ 3 ฉบับ ที่ต้องทำทุกวัน

คำนำเรื่องของหนังสือ 3 เล่มขึ้นต้นไว้ว่า

 

บริษัท มติชน จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นด้วยจุดหมายว่า จะดำเนินเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดแล้วพยายามนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความอยู่รอด ความมั่นคงของส่วนรวม ตลอดจนความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นสำคัญ

หลังจากย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 มีเรื่องต้องตัดสินใจหลายเรื่อง หนึ่งคือไม่ย้ายเครื่องพิมพ์เก่า แต่เป็นการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ใหม่ “ยูนิแมน” จากเยอรมนีมาติดตั้งในอาคารที่สร้างใหม่

ตัดสินใจให้ “บริษัท มติชน จำกัด” เป็นบริษัท “มหาชน” เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดการออกหุ้นจำนวนหนึ่ง ให้สิทธิ์พนักงานมีโอกาสเป็นเจ้าของซื้อหุ้นในราคาพาร์ (ราคาเริ่มต้น) 10 บาท โดยทั่วถึงกัน ไม่จำกัดจำนวนและสิทธิในการซื้อ

ตัดสินใจสร้างอาคารสำนักงานใหญ่บนที่ดินหน้าสำนักงานซึ่งเป็นสนามบาสเกตบอลเดิม รื้ออาคารโรงอาหารและห้องประชุมด้านหน้า แล้วสร้างอาคารต่อจากอาคารเดิมบนที่ดินด้านตะวันตกอีกสองหลัง เป็นอาคารติดตั้งเครื่องพิมพ์ ด้วยเงินหุ้นทั้งของพนักงานและบุคคลภายนอกในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การก่อสร้างอาคารทั้งหมดตั้งแต่เริ่มแรก บริษัทที่ออกแบบและก่อสร้างคือบริษัท บุญนิยม แอสโซซิเอท จำกัด โดยบุญนิยม สิทธิหาญ เป็นผู้จัดการ และมัณฑนากร จินดา สายสมร เป็นสถาปนิก

 

ออกนิตยสารอีกหลายเล่ม อาทิ บานไม่รู้โรย ผู้ดำเนินการคือ ธรรมเกียรติ กันอริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกนิตยสารฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อสกอลลาร์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นบรรณาธิการ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ เป็นบรรณาธิการบริหาร นิธินันท์ (ยอแสงรัตน์) นาคทรานันท์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร

เทคโนโลยีชาวบ้าน ปรับปรุงจาก “มติชนบท” แทรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เพื่อการศึกษานอกโรงเรียน ต่อมาเป็นนิตยสารรายปักษ์ ประพันธ์ ผลเสวก เป็นบรรณาธิการบริหาร โอภาส เพ็งเจริญ เป็นบรรณาธิการ ปัจจุบันคือพานิชย์ ยศปัญญา และนิตยสารเส้นทางเศรษฐี บรรณาธิการคือ โอภาส เพ็งเจริญ… วัชรินทร์ อิ่มอารมย์ เป็นเลขานุการกองบรรณาธิการ ทั้งยังมีทันโลก นิตยสารเกี่ยวกับความรู้ วิทยาการก้าวหน้า

นอกจากนั้น ออกนิตยสารที่พิมพ์แทรกในประชาชาติธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์แอนด์สไตล์ ฯลฯ

จัดตั้งสำนักพิมพ์จัดพิมพ์หนังสือเล่มหลากหลายประเภท ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรม เรื่องแปล เทคโนโลยี วิทยาการก้าวหน้า วิชาการ เพื่อความรู้และความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นสำคัญ

ทั้งยังมีหนังสือพิมพ์ข่าวกีฬา สปอร์ตนิวส์ และหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

เพราะ “จะดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดแล้วพยายามนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนให้มากที่สุด” แม้ในที่สุดนิตยสารบางเล่ม หนังสือบางประเภท ต้องหยุดดำเนินการ ด้วยเหตุผลหลายประการ

ส่วนที่สำคัญคือเรื่องของต้นทุน และความนิยมในการอ่านของผู้อ่าน กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนการอ่านหนังสือ “กระดาษ” มาอ่านเรื่องผ่านจอคอมพิวเตอร์

 

ปณิธานประการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ต้น คือการทำนุบำรุงศาสนา โดยเบื้องต้นเมื่อครั้งสุจิตต์ วงษ์เทศ กับขรรค์ชัย บุนปาน ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นอาจารย์ดูแลการสำรวจและขุดค้น ต้องออกฝึกงานสำรวจแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีแทบว่าทั่วประเทศไทย แห่งหนึ่งคือจังหวัดพะเยา วัดศรีโคมคำ ซึ่งเป็นทั้งที่หลับที่นอนและที่กินอยู่นาน

เมื่อก่อตั้งบริษัท มติชน จำกัด ทั้งสองคนจึงดำริบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีโคมคำ ตั้งแต่การสร้างโบสถ์ใหม่ยื่นลงไปในกว๊านพะเยา ผนังโบสถ์เป็นฝีมือภาพเขียนของอังคาร กัลยาณพงศ์ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของภาพตะวัน สุวรรณกูฏ คือทะนุบำรุงศาสนาในกิจกรรม “เชิดชูศาสนา” ด้วยการทอดผ้าป่าสามัคคีและรับบริจาคในงานวันเกิดมติชน

และขณะนี้คือสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อฺมพรมหาเถร)

 

ขณะที่ทำหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นสำคัญ เป็นการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ จึงมีโครงการนำหนังสือไปมอบให้ห้องสมุดโรงเรียน ครั้งแรกๆ เกิดจากวิธีคิดของขรรค์ชัย ที่เขียนบอกกล่าวเสมอว่า หนังสือที่ไม่ได้อ่านและไม่ได้ใช้แล้ว ใส่กล่องเอาไว้ท้ายรถ เมื่อไปต่างจังหวัดหรือผ่านห้องสมุดโรงเรียนหรือวัดที่ใด ให้นำหนังสือนั้นมอบเพื่อให้ครู นักเรียน ภิกษุ และประชาชนได้อ่าน

ครั้งแรกๆ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ชวนประชาสัมพันธ์เอสโซ่ นำหนังสือไปมอบให้โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครนายก และอีกสองสามครั้งต่อมาจึงเกิดกิจกรรม “แบ่งปันความรู้”

ที่สุดคือ เมื่อครั้ง ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มีโครงการดูแลคลองแสนแสบให้สะอาด จึงระดมเงินจากงานวันเกิดมติชน 9 มกราคม เพื่อนำไปบูรณะคลองแสนแสบให้สะอาด ร่วมกับมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สมเด็จกรมพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันพระราชสมภพ

รวมเป็นโครงการชื่อเต็มว่า “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ฯลฯ

 

ปี2533 เริ่มก่อสร้างอาคารใหม่ตึก 9 ชั้น และอาคารติดตั้งเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ 4 ยูนิต เพื่อพิมพ์มติชน 4 สีสมบูรณ์แบบให้ได้จำนวนการพิมพ์เพิ่มมากขึ้น และหนังสือพิมพ์ข่าวสด กับหนังสืออื่น

แต่เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสารสนเทศการสื่อสารจากสื่อกระดาษเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทำให้บริษัทหนังสือพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

หลายแห่งเลิกการพิมพ์เปลี่ยนเป็นเสนอทาง “ออนไลน์” แทน