อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : รัสเซียกับสหรัฐ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความน่าสนใจหากว่าเราไปมองดูบทบาทของชาติมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา บทบาทและปฏิสัมพันธ์ของรัสเซียต่อสหรัฐอเมริกาดูจะมีอะไรที่สลับซับซ้อน แปลกและแตกต่างไปจากอดีตเป็นอย่างมาก

บทบาทของรัสเซียมีมิติที่แปลกออกไป สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะผู้นำทางนโยบายของสหรัฐอเมริกาเองทั้งในพรรคการเมือง รัฐสภา ฝ่ายความมั่นคงและสื่อมวลชนต่างหยิบยกประเด็นการเข้าสู่ระบบข้อมูลการเลือกตั้ง อันมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประเด็นมีจะจริงแค่ไหนไม่มีใครทราบ แต่บทบาททางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่อาจทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งไม่เพียงแต่รัสเซียเท่านั้น ชาติมหาอำนาจอื่นก็สามารถในเรื่องนี้

ประเด็นนี้อาจเข้าข่ายแนวคิดสมคบคิด ซึ่งอาจไม่เป็นความจริง แต่น่าสนใจ ผู้ใกล้ชิดและผู้นำทางนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ติดต่อกันเป็นส่วนตัว ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเสียอีก


รัสเซียในมุมมองของทรัมป์

เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ใครๆ ต่างมองว่ารัสเซียกำลังผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลกไม่แพ้สาธารณรัฐประชาชนจีน

ประธานาธิบดี Vladimir Putin มีสถานะหลายสถานะในโลกทุกวันนี้ ท่านเป็นผู้นำรัสเซียและชาติคอมมิวนิสต์ แต่กลับเป็นอภิมหาเศรษฐกิจของโลกเลยทีเดียว

ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ท่านผู้นำรัสเซียถูกเรียกว่า “นักฆ่า” เพราะเป็นผู้สั่งปราบปรามกบฏทั้งในประเทศรัสเซียและในประเทศต่างๆ ในคาบสมุทร Crimea

แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับแสดงให้เห็นว่า รัสเซียเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ (potential partners) โดยที่เขาไม่สนใจประเด็นการล้วงข้อมูลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงการติดต่อเป็นการส่วนตัวระหว่างรัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐและเจ้าหน้าที่การทูตรัสเซียเลย

ฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์และผู้ช่วยของเขาอธิบายว่า ให้มองแนวทางการทูตต่อรอง (grand diplomatic bargain) กับรัสเซีย คือการต่อรองเรื่องการควบคุมอาวุธ การต่อต้านการก่อการร้าย ประเด็นสถานะของ Crimea การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน

นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อรัสเซียตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีสหรัฐ 2 คนก่อนหน้านั้น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ถือว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่น่ารำคาญ ใช้อาวุธนิวเคลียร์รุกรานเพื่อนบ้านของรัสเซีย

ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งเคยพบและประชุมกับประธานาธิบดีปูติน ต่อมาในภายหลังเขากลับมีความรู้สึกแกว่งไปแกว่งมากับการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ต่อเครมลิน


ทรัมป์ต้องการอะไรจากรัสเซีย

หากกลับมาดูทรัมป์ มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากทรัมป์มีเป้าหมายของตนอยู่ที่ตะวันออกกลางและที่อื่นๆ ไพ่รัสเซีย อาจมีข้อบกพร่องอย่างสำคัญ 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง การคบรัสเซียเป็นการทำลายพันธมิตรที่มีอยู่เดิมของสหรัฐและชื่อเสียงระหว่างประเทศ

ประการที่สอง การคบกับรัสเซียอาจไม่คุ้มกับความสัมพันธ์ของสหรัฐกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ

ประการสุดท้าย ทรัมป์ได้ทำแบบคนที่เริ่มต้นแล้วผิดพลาด (1)

เราจะเห็นได้ว่า ดูเหมือนประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้พันธมิตรต่อต้าน Islamic State มีความคิดจะให้กองกำลังของรัสเซียต่อสู้กับ IS ในซีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด ความจริงก็คือ ผู้นำซีเรีย Baharal al-Assad คือลูกค้าของประธานาธิบดีปูติน การโจมตีของรัสเซียในซีเรียเป็นการทิ้งระเบิดโดยไม่แยกเป้าหมายทางทหารและพลเรือน ทำให้ไม่ได้ข้อสรุปของการใช้กำลังรัสเซียโจมตีในซีเรีย

มีเพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือ การบุกยึดดินแดน ซึ่งกองกำลังรัสเซียก็ทำน้อยมาก เหตุที่รัสเซียไม่ต้องการบุกภาคพื้นดินในซีเรียเพราะกองกำลังของรัสเซียเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับกลุ่ม Hizbullah และอิหร่าน

อิหร่านคือเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนของรัสเซียกับทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) และ The Caucasus ดินแดนทั้งสองฝั่งมีอิทธิพลต่อเอเชียกลาง เพราะอิหร่านมีระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเหนือกว่าของรัสเซียในภูมิภาคนั้น

รัสเซียจะพอใจอย่างมากหากได้ดำเนินการยับยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่เนื่องจากความที่อยู่ใกล้กัน ประธานาธิบดีปูตินจึงมีความกังวลต่อความขัดแย้งกับคนอิหร่าน

รัสเซียมีผลประโยชน์ที่ทะเลแคสเปียนโดยที่สหรัฐไม่มี รวมทั้งโครงการพลังงานและท่อน้ำมันทั้งในและรอบๆ ทะเลแคสเปียน รัสเซียต้องการขายอาวุธให้อิหร่าน รวมทั้งจรวดยิงสู่อากาศ และโครงการพลังงานนิวเคลียร์ใช้ในกิจการพลเรือน รัสเซียต้องการร่วมมือกับอิหร่าน เพื่อช่วยให้ประธานาธิบดี Assad อยู่ในอำนาจต่อไป

ภาพที่ใหญ่ไปกว่านั้นคือ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงและด้านการค้า ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าใกล้ชิดกับรัสเซีย ต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีน

อย่างไรก็ตาม การมีความสัมพันธ์ที่น่าสงสัยระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานไม่สามารถทำอะไรได้กับประธานาธิบดี สี่ จิ้น ผิง (Xi Jinping) ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เองสร้างความโกรธเคืองให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรณีไต้หวัน

ทั้งๆ ที่กรณีนี้เป็นการติดต่อทางโทรศัพท์ส่วนตัวระหว่างทรัมป์กับผู้นำไต้หวันก่อนที่ทรัมป์จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเสียอีก

ความจำเป็นของรัสเซีย

เป็นไปได้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ประเมินรัสเซียสูงเกินไป หากทรัมป์ผูกพันสหรัฐกับรัสเซียตามเป้าหมายของทรัมป์ ความผิดพลาดของนโยบายนี้จะทำให้อภิมหาอำนาจซึ่งเป็นอันธพาลเดินอย่างผงาดในเวทีการเมืองโลกเลยทีเดียว

เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ความประทับใจของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อรัสเซียผูกติดกับคุณค่าของรัสเซียด้านยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องของอดีตกาล ได้แก่ ที่นั่งรัสเซียในสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งพลังงานคาร์บอนสำรองของรัสเซีย

การยกเลิกการคว่ำบาตรต่างๆ ต่อรัสเซียเป็นประเด็นวาระสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีทรัมป์ (2) สิ่งหนึ่งเท่ากับเพิ่มพลังการช่วยเศรษฐกิจรัสเซีย อีกทั้งยังเป็นการแบ่งแยกพันธมิตรของสหรัฐเอง แต่สิ่งอื่นๆ อาจมีต่อประธานาธิบดีปูตินเอง ชัดเจนว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 1 สถานีโทรทัศน์หลักของรัฐบาลรัสเซียได้นำเสนอแนวทางที่เป็นเรื่องความสำเร็จของประธานาธิบดีปูตินภายหลังวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของทรัมป์ออกมาเผยแพร่ เช่น

หนึ่ง พันธมิตรต่อต้านการก่อการร้าย ไม่มีการดึงประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมต่อสู้กับการก่อการร้าย

สอง รัสเซียต้องการระงับ NATO เข้าไปในมอนเตเนโกร (Montenegro) หากทำสำเร็จ รัสเซียจะมีอิทธิพลต่อเพื่อนบ้านของตนในกลุ่มบอลติก แต่จะทำให้ NATO ตายไปเลย และนี่คือรางวัลสูงสุดสำหรับประธานาธิบดีปูติน

ประการที่สาม สถานีโทรทัศน์ช่อง 1 ของรัฐบาลรัสเซียบอกแนวทางถึงการรับรองไครเมีย (Crimea) เป็นดินแดนของรัสเซีย ซึ่งคือการรับรองอย่างเป็นทางการของรัสเซียต่อยูเครน (Ukraine) ในอนาคต

ประชาชนรัสเซียคงเปล่งเสียงดังก้องออกมาจากเครมลินว่า

ทรัมป์จงเจริญ

(1)”What America might want from Russia, but is unlikely to get” The Economist 11 February 2017

(2)Ibid.,