เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / คุยเรื่องสามก๊ก

อรุณ วัชระสวัสดิ์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

 

คุยเรื่องสามก๊ก

 

พักเรื่องโควิด-19 สักหน่อยนะครับ เพราะเขียนถึงเรื่องฮิตนี้ติดต่อกันมา 5-6 ตอนแล้ว

เครื่องเคียงฯ ตอนนี้ไม่ได้พูดถึงสงครามที่สู้กับเชื้อโรค แต่จะพูดถึงสงครามที่สู้กับ “ความอยากมีอำนาจ” ของคน

ยอมรับว่าหลังๆ นี่อ่านหนังสือเล่มน้อยลง แต่ก็พยายามจัดเวลาให้ได้ทุกวัน อย่างน้อยก่อนนอนสักบทสองบทพอให้ได้หลับสบายขึ้น

“สามก๊ก” เป็นหนังสือที่ผมอ่านค้างคาอยู่ และก็เพิ่งมาได้จบเสียทีก็ช่วงโควิดนี่แหละ

เพราะได้เจียดเวลาจาก work from home มา read from sofa บ้างเป็นการเบรกสมอง ซึ่งก็เจียดได้ไม่น้อยจนจบเล่มลงได้

 

“สามก๊ก” ที่ว่านี้ เป็นเล่มฉบับ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์สองสมัยที่นักอ่านรู้จักดี

ก่อนหน้านี้ “สามก๊ก” ได้มีออกมาหลายฉบับตามแต่มุมมองของผู้ประพันธ์ อย่างเช่น ฉบับดั้งเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง (หน), ฉบับวณิพก ของยาขอบ หรือฉบับนายทุน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่นับที่ออกมาเป็นแบบการ์ตูน หรือแบบวรรณกรรมที่เขียนเฉพาะตัวละครเด่นๆ

เขาว่า “ใครอ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้” โชคดีที่ผมไม่เคยอ่านแบบครบถ้วนกระบวนเรื่องสักจบเลย จึงยังพอมีคนคบหาอยู่บ้าง…แฮ่ม

แต่เก็บความชื่นชมในแคแร็กเตอร์ตัวละครทั้งหลายที่แต่ละคนโดดเด่น น่าสนใจ มีเรื่องราวซับซ้อนหลากหลายน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าหมู่นักรบ Avenger ของฮอลลีวู้ดเสียอีก

เมื่อได้เจอฉบับวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรุ่นพี่ที่คณะถาปัด จุฬาฯ จึงเลือกมาอ่านแบบตั้งใจจนจบดั่งว่า

 

มีผู้สงสัยว่าเรื่องสามก๊กเป็นเรื่องจริงหรือแต่ง หรือผสมผสานกันมากน้อยเพียงใด

“สามก๊ก” เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจีนในขณะนั้นบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย แตกแผ่นดินออกเป็นก๊กต่างๆ รวมสามก๊กด้วยกันคือ จ๊กก๊ก, วุยก๊ก และง่อก๊ก มีการทำสงครามอันยาวนานนับ 100 ปี และสุดท้ายจีนที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าก็กลับมารวมเป็นจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์จิ้น

บันทึกไว้ว่าจดหมายเหตุสามก๊ก เป็นผลงานการเขียนในลักษณะพงศาวดารโดย “ตันซิ่น” บัณฑิตแห่งราชวงศ์จิ้น อดีตข้าราชการอาลักษณ์คนหนึ่งของจ๊กก๊ก โดยเขียนขึ้นตามบัญชาของพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์

สำหรับสามก๊ก ฉบับโควิด เอ๊ย ฉบับวินทร์ เลียววาริณ ได้นำเหตุการณ์เป็นช่วงๆ ที่สะท้อนถึงความคิด เล่ห์เหลี่ยม ความโง่ ความฉลาดของตัวละครที่โดดเด่นในเหตุการณ์นั้นมาเล่าในแบบฉบับภาษาและลีลาของเขา ไม่ได้เล่าเรียงตามเหตุการณ์แบบประวัติศาสตร์

แบ่งเป็นตอนๆ ทั้งหมด 39 ตอน ซึ่งทำให้มือใหม่หัดอ่านสามก๊กแบบจริงจังอย่างผมได้รู้จักตัวละครหลากชีวิตมากขึ้น

จะขอหยิบยกบางตอนมาเขียนถึงสักหน่อยนะครับ

 

เริ่มจากตอนแรกที่เป็นกลุ่มตัวอักษรสั้นๆ เพียง 2 หน้ากระดาษ ในชื่อตอน “เสียงขลุ่ยกับเสียงกลองศึก” ที่ขอย่นย่อมาให้อ่านกันดังนี้

“…เด็กเลี้ยงควายมีความสุขทุกครั้งที่เป่าขลุ่ย มันเป็นขลุ่ยไม้ธรรมดา สำหรับเด็กเลี้ยงควายธรรมดา …เด็กเลี้ยงควายมองเส้นขอบฟ้าอย่างเหม่อลอย เขาชอบมองภาพเบื้องหน้า มันมีมนตร์สะกดใจเขาเสมอ นี่คือแผ่นดินดนตรีที่เทพประทาน”

“เสียงขลุ่ยสะดุดวูบ เมื่อโสตแว่วเสียงหนึ่งแทรกเข้ามา เป็นเสียงกลองกังวานหนักแน่น ตามด้วยเสียงย่ำเท้าของคนและม้า…มันคือกลองศึก ดังจนหัวใจสะท้านหวั่นไหว เขารู้ว่าท้องทุ่งนี้กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิ และโลกของเขากำลังเปลี่ยน”

วินทร์เลือกขึ้นต้นด้วยภาพชีวิตเรียบง่ายของเด็กเลี้ยงควาย ที่เป็นอินโทรให้เขาและผู้อ่านรู้ว่า กำลังจะได้พานพบกับมหาสงครามแย่งชิงอำนาจที่กินเวลายาวนานยิ่ง

นั่นเป็นตอนแรก สำหรับตอนจบ หลังจากเขาพาผู้อ่านท่องไปบนหลังม้า ปัญญาคน ผจญการรบที่ชุ่มโชกด้วยเลือดและคมง้าว เขาก็พามาจบที่เด็กเลี้ยงควายอีกครั้ง แต่เป็นรุ่นลูกของตอนแรก ในชื่อตอน “เพลงแผ่นดิน” ที่เขาเขียนไว้ว่า

“พ่อเคยเล่าว่า สมัยพ่อเป็นเด็ก เกิดสงคราม…เวลานั้นแผ่นดินแบ่งเป็นสามส่วน รบพุ่งกันตลอดเวลา บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพทุกข์เข็ญ ขุนศึกชิงอำนาจ หญ้าแพรกทั้งแผ่นดินแหลกลาญ เวลานี้แผ่นดินมีเพียงหนึ่งเดียว”

“คนผ่านทางคนหนึ่งหยุดฟังเสียงขลุ่ยของเขา …มันคือเพลงอะไร? เขาสั่นศีรษะ ชายผู้นั้นถามอีก…เพลงทางเหนือ ภาคกลาง หรือภาคใต้กังตั๋ง?”

“…เขาไม่รู้ สำหรับเขา เพลงก็คือเพลง ไม่มีเพลงของชาวภาคเหนือ ชาวภาคกลาง หรือชาวภาคใต้…มันเป็นเสียงเพลง”

วินทร์ทิ้งตอนจบของสามก๊กในฉบับของเขาไว้เพียงนี้

 

เพลงก็คือเพลง ไม่มีเพลงของชาวไหน เหมือนกำลังจะบอกว่าแผ่นดินจีนได้รวมกันเป็นจีนแผ่นดินใหญ่หนึ่งเดียวอย่างแนบแน่นแล้ว หลังจากแตกเป็นก๊ก จากแตกก็กลับมารวม แล้วก็แตกอีกเพื่อจะรวมอีกครั้ง เป็นวัฏจักรไปอย่างนี้

ในตอนที่ 18 ชื่อตอน “ขลุ่ยไม้” วินทร์ได้พาผู้อ่านย้อนไปหาเด็กเลี้ยงควายในบทแรกอีกครั้ง

“ทั้งกองทัพเงียบสงบ เหล่าทหารหลายพันคนใต้บัญชาการของแม่ทัพจิวยี่ยืนตระหง่านแน่วนิ่ง…พลันได้ยินเสียงขลุ่ยลอยมา เป็นดนตรีพื้นบ้านไพเราะอ่อนหวาน แผ่วพลิ้ว เด็กเลี้ยงควายคนนี้มีฝีมือทางดนตรีดีกว่าเด็กเลี้ยงควายทั่วไป”

“แม่ทัพจิวยี่พลันกล่าวว่า…ระคายหูนัก จิวยี่เดินไปหาเด็กเลี้ยงควาย ขอขลุ่ยเจ้ามาดู แม่ทัพใหญ่ชักมีดสั้นขึ้นมาเหลาปลายและรู ครู่หนึ่งก็ส่งขลุ่ยกลับให้เด็กเลี้ยงควาย…ลองเป่าใหม่”

“เด็กเลี้ยงควายเป่าเพลงเดิม เสียงกังวานขึ้น แม่ทัพจิวยี่ประสานตากับคนสนิทแวบหนึ่ง คล้ายจะพูดว่า นี่คือความแตกต่างระหว่างรายละเอียด”

เนื้อความในตอนนี้ทำให้ผู้อ่านรู้ลึกไปว่า จิวยี่นั้นนอกจากจะเป็นนักรบแล้ว ยังเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญการเป่าขลุ่ยอีกด้วย

นานมาแล้ว ระหว่างทางกลับบ้านที่ไม่ใช่ทางเดิม จิวยี่สะดุดกับเสียงพิณที่บรรเลงข้ามกำแพงมา เขาหยิบขลุ่ยขึ้นมาเป่าแทรก เสียงพิณสะดุดวูบเดียวแล้วก็เล่นต่อ สองเสียงดนตรีบรรเลงสอดคล้องไปด้วยกันอย่างไพเราะ และเป็นเช่นนั้นอีกหลายค่ำคืน

ภายหลังอีกหลายปี จิวยี่ได้พบกับแม่หญิงนางหนึ่ง ซึ่งก็คือเจ้าของเสียงพิณนั้นเอง เมื่อได้สนทนากัน เขายิ่งประทับใจในตัวนาง เมื่อรู้ว่านางเป็นคนเดียวที่เข้าใจเรื่องดนตรีกับสรรพสิ่งในโลกเหมือนที่เขารู้สึก เขากล่าวว่า

“ข้าฯ ยังใช้ดนตรีทำสงคราม เสียงดนตรีคือจังหวะเพลงยุทธ์ จังหวะการเคลื่อนกองทัพ ข้าฯเรียนตำรับพิชัยสงครามหลายเล่ม ทว่าข้าฯ พบเคล็ดลับที่มิได้ปรากฏในตำราเล่มใด นั่นคือการจัดทัพที่ดีก็เช่นการเล่นดนตรี…การวางทัพตามจังหวะดนตรี มิเพียงทรงพลัง ยังมีความงาม”

ช่างเฉียบคมเสียนักแล้วว่าไหมครับ และทำให้เรารู้จักมักจี่ขุนศึกจิวยี่มากขึ้น ถ้าเป็นนักแสดง คนรับบทจิวยิ่วนี่ต้องหล่อ เท่ ดูดี มีสมองแน่นอน

 

อีกตอนหนึ่งที่ขอนำมาเขียนถึง ชื่อตอนว่า “หมากตาบังคับ” เป็นตอนที่คุณปู่สุมาอี้ อดีตขุนศึกผู้เก่งกาจและมีปัญญาเทียบเทียมกับขงเบ้ง ได้เล่นหมากรุกกับหลานชายชื่อสุมาเอี๋ยน พร้อมสอนปรัชญาไปด้วยในตัว

“การยึดอำนาจคือรัฐประหาร ชิงอำนาจจากผู้ครองอำนาจกระทำได้ง่าย ยึดกุมหัวใจราษฎรทำได้ยากกว่า”

“ประชาชนเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุด ได้ใจประชาชน เจ้าจะได้ทุกสิ่ง ได้ใจประชาชน เจ้าจะฆ่าใครสักกี่คนก็ไม่มีใครแย้ง ทรราชมักเข่นฆ่าประชาชน ทว่าหมากที่ทรราชทั้งหลายกลัวมากที่สุดก็คือประชาชน”

ในกระดานหมากรุกที่ปู่กับหลานเล่นนั้น เบี้ยคือตัวที่ต่ำต้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหมากตัวอื่น แต่สุดท้ายตัวหมากอันสูงส่งของหลานสุมาเอี๋ยนก็พ่ายแพ้แก่เบี้ย 5 ตัวของปู่ที่รุมล้อม

สุมาอี้ได้พูดถึง “ความเชื่อ” “ความศรัทธา” ให้หลานฟังว่า ถ้าเราสร้างความเชื่อความศรัทธาให้เกิดกับประชาชนได้ นั่นคืออาวุธที่สำคัญและทรงอานุภาพ ประชาชนจะอยู่ข้างเราเสมอ และนั่นคือ “ความชอบธรรม” ที่มีพลังกว่า “อำนาจที่มาด้วยการกดขี่ประชาชน”

 

ในยามนี้ งานหนักของแม่ทัพใหญ่อย่าง “สุมาตู่ แห่งกองทัพ ศบค.” ก็คือ การสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่น ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้ เมื่อนั้นสุมาตู่จึงจะรบกับสงครามไวรัสได้สำเร็จ และเขาก็ต้องเด็ดเดี่ยวในอันที่จะลงโทษขุนศึกนายกองและบริวารที่กระทำผิดให้เห็นกันจะจะ

ถ้าทำได้ พลังของเบี้ยตัวน้อยๆ ที่รวมตัวกันเข้ามาจะเป็นดั่งชุดฆ่าเชื้อโรคให้กับตัวท่านผู้นำเอง แต่ถ้าไม่ หรือยอมให้บริวารเป็นพิษซึ่งจะลดทอนความเชื่อมั่นลงอย่างน่าเสียดาย

เมื่อนั้นแม้การไอจามเพียงเล็กน้อยก็อาจล้มรัฐบาลได้

เอ๊ะ ไหนว่าจะไม่พูดเรื่องโควิดแล้วไง เห็นไหมเล่า…คนเราก็ยังงี้

ตบปากตัวเองหนึ่งทีเร็ว…มิโดยช้า