จัตวา กลิ่นสุนทร : เดือนเมษายนกับความทรงจำ

ผ่านวันมหาสงกรานต์ วันแห่งครอบครัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยความเงียบเหงาเศร้าหมองอย่างไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนสำหรับบ้านเรา

ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากไวรัส (Virus) โคโรนา 2019 (Covid-19) ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

ถึงวันนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสกระทั่งเสียชีวิตมากแค่ไหน จะจบลงเมื่อไร

แต่ดูเหมือนประเทศในฝั่งตะวันตกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่น อิตาลี สเปน อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ จะได้รับผลร้ายมาก จนประชากรล้มตายเป็นหมื่น

มากกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ว่ากันว่าเป็นประเทศต้นทางของไวรัส

ปกติในเดือนเมษายนของทุกๆ ปี ประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนหลักร้อย โดยไม่นับพิการอีกจำนวนหนึ่งด้วยอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์ จักรยานยนต์ เมื่อประชาชนพากันหลั่งไหลจากเมืองหลวงและอื่นๆ กลับบ้านไปทำบุญ รดน้ำดำหัวพ่อ-แม่ ญาติโยมบุพการี ในวันงานเทศกาลมหาสงกรานต์

สำหรับปี พ.ศ.2563 นี้ จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางไป-กลับในเทศกาลดังกล่าวที่เรียกกันว่า 7 วันอันตรายเปลี่ยนแปลงไป? คิดว่าคงจะน้อยกว่าการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา ซึ่งถึงขณะนี้ตัวเลขกำลังเดินทางเพิ่มขึ้นวันละคนสองคนจนใกล้หลักครึ่งร้อยแล้ว

อันเป็นความทรงจำสำหรับเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ที่ประเทศของเราเว้นวรรค “วันมหาสงกรานต์” ประเพณีอันงดงามทรงคุณค่าเก่าแก่ยาวนาน

 

แต่ไวรัสร้ายย่อมต้องหายไปไม่ช้าก็เร็วก่อนทิ้งความเสียหายบอบช้ำให้กับมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ สำหรับประเทศต้องก้าวเดินต่อไป ประชาชนจะต้องอยู่รอดปลอดภัย เพียงแต่ว่าสภาพเหตุการณ์ต่างๆ การทำมาหาเลี้ยงชีพจะเป็นอย่างไรย่อมต้องเผชิญหน้ากับมัน เพราะ “เศรษฐกิจ” ย่อมต้องถดถอยตกต่ำแน่ๆ

อันที่จริงก่อนที่โรคร้ายจะระบาดข้ามน้ำข้ามทะเลมาเยือนแผ่นดินนี้และเกือบทั่วโลกอย่างไม่มีการเลือกเชื้อชาติศาสนา ประเทศไทยของเราก็มีสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ค่อนข้างถดถอยอยู่มากพอสมควร เราต้องแก้ปัญหาความแห้งแล้ง สภาพฝุ่นละอองที่เกิดจาการลักลอบเผาป่า จนกระทั่งถึงจำนวนปริมาณของน้ำซึ่งเกิดจากฝนอาจไม่พอเพียงสำหรับปลูกข้าว การเพาะปลูกเพื่อทำการเกษตร

รัฐบาลกำลังมึนงงจับทิศทางไม่ค่อยถูกกับการแก้ปัญหา ซึ่งยังคิดอะไรไม่ออกนอกจากจะแจกเงินจนถูกคัดค้านโดยทั่วไป ในที่สุดก็เกิดโรคร้ายจนกระทั่งต้องหันมาแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ แรงงานที่ต้องตกงานโดยไม่มีมาตรการอะไรรองรับที่รู้จักกันในชื่อว่า “เราไม่ทิ้งกัน”

แต่กลับเกิดปัญหาผิดพลาดไม่ทั่วถึง คนที่ควรได้กลับไม่ได้ คนที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่กลายเป็นเกษตรกร แม่บ้านกลายเป็นนักศึกษา คนจนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ต้องมีคนรับจ้างดำเนินการให้ และ ฯลฯ กระทั่งมีนัดหมายยกขบวนพากันไปขอพบรัฐมนตรีคลังเพื่อสอบถามเรียกร้องสิทธิ์

ซึ่งว่ากันว่าแทนที่จะเป็นการสร้างความชื่นชมให้กับประชาชน กลับกลายจะเป็นการติดลบ

นอกจากประเทศจะเป็นหนี้มากมายมหาศาลแล้ว นักวิชาการ นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ ด้านทุกมุมเรื่องเศรษฐกิจต่างคาดหมายว่าหลังไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ผ่านไป ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาพอันตรายเรื่องเศรษฐกิจ จะมีคนตกงานจำนวนมหาศาลเป็น 10 ล้านคน

นับว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่รัฐบาลต้องรับฟัง และหาทางแก้ไข

 

ประมาณเดือนกันยายน 2562 สาวน้อยที่บ้านทั้ง 2 คนซึ่งมีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวฝั่งตะวันออกได้เดินทางไปพักผ่อนเล่นคลื่นเล่นน้ำทะเลยังบริเวณหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง

และทุกครั้งที่เขาเดินทางกลับไปเยือนจังหวัดฝั่งทะเลดังกล่าวเขาจะไม่ลืมซื้ออาหารในแถบถิ่นนั้นกลับมาฝากที่บ้านเสมอๆ

น่าประหลาดใจที่ครั้งนี้เขาซื้อ “ข้าวกระราง” หรือ “ข้าวราง” อาหารที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป บางคนบอกว่ามันคืออาหารที่โลกลืมซึ่งน่าจะเป็นอาหารประจำท้องถิ่นฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ที่คนแก่คนเฒ่าชอบรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ แนมด้วยผลไม้ เช่น มะม่วงอกร่องสุกๆ หรือแตงโมหวานชื่นใจ จะเรียกว่าเป็นอาหารพื้นบ้านโบราณก็ได้

ผมรู้จักข้าวรางเพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ท่านซื้อมารับประทาน โดยชาวบ้านเขาใช้ความอุตสาหะอย่างใจเย็นมากค่อยๆ ทำขึ้นมาทีละไม่มากนักทั้งที่สมัยก่อนเขาขายกระทง หรือชิ้นละไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ

 

ข้าวกระรางทำมาจากลูกกระบกซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งยืนต้นขนาดใหญ่ แต่ไม่นิยมเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ หรือก่อสร้างเป็นพื้นบ้านเรือนเพราะเรียบๆ ไม่มีลายสวยงามอะไรเหมือนไม้เนื้อแข็งอื่นๆ

แต่ทว่าทั้งต้นล้วนเป็นประโยชน์ เช่น ราก ใบ ลูกกระบกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย

เมื่อลูกกระบกแก่จัดจนสุกและเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นน้ำตาลอ่อนร่วงหล่นลงมา เนื้อนอกตกเป็นอาหารของสัตว์ตัวเล็กสัตว์น้อย กระรอก กระแต นก หนู แม้แต่วัว ฯลฯ เหลือแต่เม็ดในคนเราก็ผ่าแกะเอาออกมา แล้วนำมาคั่วจนสุกปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นก่อนเอาไปตำให้ละเอียดพอประมาณ ปรุงแต่งด้วยเกลือ น้ำตาลทรายเล็กน้อย นำไปใส่กระทงใบตอง ใบขนุน หรือ ฯลฯ ทำเป็นรูปทรงกรวยกลัดด้วยไม้กลัด แต่สมัยนี้ใช้แมกซ์คลิปติดแล้ว

เม็ดกระบกจะเป็นรูปทรงตามกระทง ซึ่งจริงๆ แล้วจะเอาไปหยอดในถ้วยเล็กๆ ก็น่าจะได้ เพียงแต่มันคงดูไม่สวยงามเป็นธรรมชาติ ธรรมดาๆ แบบบ้านๆ เหมือนกระทงใบไม้

ผมเป็นคนบ้านนอกลูกชาวบ้านธรรมดาๆ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขารับประทานกันดูเอร็ดอร่อย ก็เลยลองดูบ้างแต่ไม่ได้ติดอกติดใจอะไรสักเท่าไร จำได้แต่เพียงว่ามันมีรสเค็มๆ มันๆ ปนหวานนิดหน่อย

โดยความมันมาจากธรรมชาติแต่หวานกับเค็มเกิดจากการปรุงแต่ง ก่อนรับประทานเอาไปหมกกับข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จให้มันละลายอ่อนลงมา

บอกต่อๆ กันมาว่ามันมีสรรพคุณคือมีน้ำมันช่วยบำรุงสมอง หัวใจ บรรเทาอาการโรคหืดหอบสามารถรักษาริดสีดวง

ทั้งหมดนี้ล้วนจำคำมาจากคนเฒ่าคนแก่

 

เกิดความรู้สึกแปลกใจนิดหน่อยที่ได้รับของฝากครั้งนี้ ได้สอบถามสองสาวน้อยว่าทำไมซื้อข้าวกระราง (ลูกกระบก) มาฝาก รู้จักได้อย่างไร

เขาบอกว่าเคยเดินทางไปกับพ่อ ได้เห็นพ่อซื้อ คราวนี้มาเจอจึงซื้อมาฝากพ่อ

ปัจจุบันอาหารที่โลกลืมแบบนี้น่าจะหมดหายหมดไปแล้ว แต่ยังมีชาวบ้านทำมาขายโดยขายกระทงเล็กๆ กระทงละ 10 บาท

ความทรงจำเก่าๆ คืนกลับมาระลึกถึงครูอาจารย์อย่างท่านศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่อสัญกรรม-พ.ศ.2538) อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ศิลปินแห่งชาติ นักคิด นักเขียน นักการเมือง ปราชญ์ของแผ่นดิน บุคคลสำคัญของโลกผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โขนธรรมศาสตร์ และ ฯลฯ

ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีด้วยการสัมผัสมือกับท่านประธานเหมาเจ๋อตุง พญามังกรผู้ยิ่งใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี พ.ศ.2518 ท่านได้ร่วมกับคนใหญ่คนโตหลายท่านที่ส่วนมากได้ลาจากโลกนี้ไปตามอายุขัยเป็นส่วนใหญ่ก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” เมื่อปี พ.ศ.2517

ครั้งหนึ่งกว่า 30 ปีมาแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมในเขต 2 จังหวัดชลบุรี พรรคกิจสังคมได้ส่งคุณคณิน บุญสุวรรณ (ถึงแก่กรรม) ลงรับเลือกตั้ง ท่านอาจารย์เดินทางไปปักหลักที่พัทยาเพื่อช่วยหาเสียง

วันหนึ่งเราเดินทางไปยังตลาดช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หาเสียงกับชาวบ้าน ได้เจอข้าวกระรางวางขายอยู่ ท่านได้สั่งซื้อทั้งหมด

ซึ่งต่อมาทุกครั้งเมื่อผมเดินทางกลับไประยองจึงต้องหาซื้ออาหารดังกล่าวกลับไปฝากท่าน สาวน้อยทั้งสองที่บ้านจึงได้รู้เห็น

 

การเดินทางของความคิดยังส่งกลับไปถึง “วันที่ 20 เมษายน” ของทุกๆ ปี ซึ่งได้ผ่านเลยมาเมื่อต้นสัปดาห์ เป็น “วันเกิด” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ และผมเคยบอกกล่าวเล่าขานไปหลายครั้งแล้วว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่ซอยสวนพลู ที่ตั้งบ้านของท่าน ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” เพื่อได้ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ของ (นักการเมือง) คนทุกอาชีพยังสนามหลังบ้าน

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับเพียงร่าง, ท่านรัฐมนตรี ทีมงานเศรษฐกิจผู้ปราดเปรื่องเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์หลายท่านเคยพบปะพูดคุยปรึกษาหารือเจ้าของบ้าน สัมผัสบรรยากาศในงานวันที่ 20 เมษายนทุกๆ ปีมาแทบทั้งนั้น

อยากเห็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของรัฐบาลทุกวันนี้มากความสามารถ มีวิสัยทัศน์อย่างเช่นรัฐบาลแต่ครั้งก่อน เพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศชาติหลัง “วิกฤตโคโรนา 2019 (Covid-19)”

ไม่รู้จะมีวันนั้นหรือไม่?