สุจิตต์ วงษ์เทศ / หมอลำ ‘ไม่ไทย’ ในโลกเสรี ไม่มีปมด้อย

หมอลำไม่มีปมด้อย, ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป, และไม่ถูกครอบงำจากวัฒนธรรมความเป็นไทย จึงมีลักษณะเสรีอยู่ในโลกไม่เหมือนเดิมอย่างองอาจ (หมอลำกลอนซิ่ง สังวาลย์น้อย ดาวเหนือ ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=ryfzmBquMy4)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

หมอลำ ‘ไม่ไทย’

ในโลกเสรี ไม่มีปมด้อย

 

หมอลำเป็นการแสดง “ไม่ไทย” ในอีสาน ที่ปรับตนกลมกลืนวัฒนธรรมป๊อป แล้วได้รับความนิยมกว้างขวางมากทั้งในไทยและในระดับสากล โดยมีพัฒนาการเก่าแก่จากการละเล่นในพิธีกรรมถึงการแสดงเป็นมหรสพ

ความเป็นมาของหมอลำมียาวนานจากการละเล่นขับลำทำขวัญของคนกลุ่มที่พูดภาษาไต-ไทหลายพันปีแล้ว ครั้นต่อมาได้ปรับเปลี่ยนดัดแปลงเป็นการแสดงมหรสพสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ต้นตอหมอลำมีรากเหง้าเก่าแก่ จึงมีลักษณะเสรี และมีความฉับไวต่อการปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อความทันสมัยและแข็งแรงอยู่รอดในโลกไม่เหมือนเดิม

ลักษณะเสรีของหมอลำมีเหตุจากปลอดการครอบงำของวัฒนธรรมความเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะดินแดนที่ราบสูงอีสานอยู่นอกอำนาจรัฐใหญ่ และถูกทอดทิ้งหลายร้อยปีจากศูนย์กลาง

 

อีสานที่ราบสูง

หมอลำมีลักษณะเสรีและฉับไวต่อการปรับตัว เพราะบริเวณอีสานที่ราบสูงปลอดจากการครอบงำของความเป็นไทยในภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ชาวอีสานประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรม นับถือศาสนาอีสานซึ่งมีศาสนาผีเป็นแกนสำคัญแล้วผสมกับพุทธ, พราหมณ์แบบพื้นเมือง โดยตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายตามลุ่มน้ำและแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง บุ่ง ทาม ฯลฯ

ที่ราบสูงอีสานเป็นแอ่งอารยธรรมเก่าแก่ของอุษาคเนย์ ซึ่งมีผู้คนหนาแน่น และมีทรัพยากรมั่งคั่งด้วยเหล็กและเกลือสินเธาว์มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ทั้งเคยมีรัฐใหญ่หลายรัฐบริเวณลุ่มน้ำมูลและชี แต่ร่วงโรยแล้วลดความสำคัญลงเมื่อเศรษฐกิจ-การเมืองเปลี่ยนไปราว 700-800 ปีมาแล้ว ทำให้ผู้คนดั้งเดิมของรัฐเหล่านั้นโยกย้ายไปเป็นประชากรของรัฐใหญ่แถบที่ราบลุ่ม เช่น ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, โตนเลสาบของกัมพูชา

หลังจากนั้นมีคนจากสองฝั่งโขง ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงโยกย้ายเข้ามาแทนที่ โดยเลือกทำเลตั้งหลักแหล่งแห่งหนใหม่เป็นบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายตามแหล่งน้ำ แล้วขยายตัวเติบโตเป็นชาวอีสานสืบเนื่องหมอลำจนทุกวันนี้

[ยกเว้นเมืองนครราชสีมา บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนต้นน้ำ เพราะไม่ลาว และไม่นิยมหมอลำ แต่อยู่ในวัฒนธรรมภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นิยมเพลงโคราชในประเพณีเดียวกับเพลงฉ่อย, เพลงพาดควาย]

 

มือป้องหู

หมอลำเมื่อเริ่มเล่นหรือแสดงมักใช้มือป้องหู เป็นกิริยาแสดงความนอบน้อมทักทายตามประเพณีดั้งเดิมของคนอุษาคเนย์

ส่วนไหว้และกราบเป็นวัฒนธรรมพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย ซึ่งรับเข้ามาภายหลัง

มือป้องหูของหมอลำไม่เกี่ยวกับการฟังเสียงตัวเอง เพราะไม่มีผลและเป็นลักษณะสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นในสมัยดั้งเดิม

 

ทำนองลำ

หมอลำมีทำนองลำเป็นลักษณะพิเศษ ที่สืบเนื่องจากประเพณีขับลำในวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยลูกคอและเสียงโหยหวนสูงต่ำสั้นยาวอย่างเสรี ไม่มีกำหนดตายตัว

ลูกคอ หมายถึง เอื้อนเสียงสั้นยาวเป็นลูกคลื่นในลำคออย่างคะนองคล่องแคล่วครื้นเครง คล้ายอึกอักตะกุกตะกักอย่างคนติดอ่าง (แต่ไม่ติดอ่าง) เพราะทำต่อเนื่องเป็นทำนองยืดยาวก็ได้

เอื้อนโหยหวน หมายถึง เอื้อนเสียงโหยหวนโอดพันสูงต่ำ เหมือนคร่ำครวญยืดยาวอย่างไพเราะและเสรีไม่มีกำหนดสั้นยาวตายตัว

ลูกคอและเอื้อนโหยหวน เป็นทำนองของหมอลำได้จากประเพณีขับลำในวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นต้นตอเดียวกันกับแบบแผนอื่นๆ หรือเป็นต้นแบบให้ประเพณีต่างๆ ที่แพร่กระจายสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เทศน์มหาชาติ, ลำสวดต่างๆ เช่น สวดคฤหัสถ์, ขับเสภา รวมทั้งกระบวน “เอื้อน” ในร้องเถาของเพลงไทยเดิมที่มีสามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว

 

คำขับลำ “ท่องจำ” ไปเล่น

หมอลำมาจากประเพณีขับลำทำขวัญหลายพันปีมาแล้ว คำขับลำมีรากเหง้าจากคำคล้องจองในตระกูลไต-ไท

คำขับลำของหมอลำเรียกกลอนลำ แต่งโดยผู้มีภูมิรู้ (ที่เรียกต่อมาว่า ครู) มอบหมอลำไปท่องจำเพื่อแสดง เพราะหมอลำส่วนมากหรือเกือบหมดล้วนแต่งไม่ได้ในบทลำหรือกลอนลำ สืบเนื่องจากชาวบ้านทั่วไปเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

ดังนั้น หมอลำต้องท่องจำตามครูบอกหรือแต่งเท่านั้น เมื่อนานไปอาจมีบางคนเลียนแบบแต่งเองได้

คำคล้องจองดั้งเดิมมีลักษณะเสรีเต็มที่ และมีขนาดสั้นๆ แล้วค่อยๆ ยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ ตามต้องการใช้บอกเล่าเป็นเรื่องราวที่มียาวขึ้น จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคำพูดในชีวิตประจำวัน โดยไม่กำหนดแบบแผน ไม่กำหนดจำนวนคำและสัมผัสว่าต้องอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น

[ตรงข้ามกับร้อยกรองที่คุ้นเคยทุกวันนี้ ล้วนให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกสมัยหลังจนปัจจุบันว่าฉันทลักษณ์ หมายถึงกำหนดจำนวนคำแต่ละวรรค และกำหนดสัมผัสเสียงระหว่างวรรค]

ครั้นหลังรับศาสนาจากอินเดีย แบบแผนคำคล้องจองได้รับยกย่องเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น บทสวด, บทเทศน์มหาชาติ, บทสรรเสริญ หรือประณามพจน์ ฯลฯ แล้วถูกเรียกว่าร่าย มีทั้งร่าย (ปกติ) และร่ายยาว

 

สอย

สอย หมายถึง ถ้อยคำกลุ่มหนึ่งสั้นๆ ส่วนมากคล้องจองกัน (หรือไม่คล้องจองก็ได้) เลือกที่สนุก ตลกคะนอง ขบขัน และทะลึ่งทะเล้น สัปดน ฯลฯ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะหมอลำเมื่อลำจบแต่ละท่อน แต่ละเที่ยว

มีคำอธิบายมากกว่านี้ในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? สั่งซื้อที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516

สอย เป็นคำลาว น่าสงสัยว่าเมื่อแพร่หลายตามเส้นทางการค้าถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็กลายเป็น “สร้อย” ดังที่มีร้องสร้อยในเพลงไทยเดิม