วิรัตน์ แสงทองคำ : แรงบีบคั้นการศึกษาในระบบไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญแรงบีบคั้นในทางสองแพร่ง จะเดินหน้าข้ามไป หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก ปรากฏผู้สังเกตการณ์มากมาย ผู้คนซึ่งมีมุมมองทั้งโลกมากกว่าที่เคย ทั้งผู้คนเฝ้ามอง ติดตาม วิเคราะห์อย่างกระชั้นชิดเกี่ยวกับสถิติต่างๆ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ ผู้สียชีวิต และผู้คนซึ่งติดตามบทวิเคราะห์ซึ่งมองโลกข้างหน้าไกลออกไป ว่าด้วยปรากฏการณ์และแนวโน้มใหม่ๆ ทางสังคมหลังวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ มักเรียกกันว่า “ความปกติใหม่” (New Normal)

ในฐานะนักสังเกตการณ์อีกคน ไม่อาจหลีกเลี่ยงหน้าที่เช่นนั้น ด้วยมุมมองและความเชื่อให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ คาดว่าระบบการศึกษาที่ควรเป็น จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ผู้คนสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ข้ามผ่านวิกฤตการณ์ไปได้

ระบบการศึกษาซึ่งสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับผู้คนทั้งสังคม ผู้คนซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างคาดไม่ถึง จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ผู้คนซึ่งพยายาม “พึ่งพาตนเอง” มากกว่าเดิม ขณะแสวงหาความมั่งคั่ง ความมั่นคงในความหมายซึ่งกว้างและสมดุลมากกว่าเดิม

ผู้คนในเมืองกลุ่มหนึ่ง ผู้ซึ่งลงหลักปักฐาน ทำงานประจำ สามารถทำงานจากบ้าน (WFH) ในเวลานี้ เป็นไปได้ว่าระบบทำงานเช่นนั้นจะคงอยู่ และสลับปรับเปลี่ยนเป็นระบบมากขึ้น ผู้คนเหล่านี้ย่อมมีเวลาอันยืดหยุ่นมากกว่าเดิม เข้าใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะสามารถทำการผลิตเพื่อบริโภคบางอย่างได้ การค้นคิด หาหนทาง ริเริ่ม เพื่อทางเลือกใหม่ๆ

อย่าง Start up ท่ามกลางความไม่แน่นอน จะมีมากขึ้น การเรียนรู้ ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากอาชีพหลัก เป็นความจำเป็น และมีความเป็นไปได้มากขึ้น

ขณะอีกกลุ่ม ผู้มาอยู่ชั่วคราว จะมีความเป็นชั่วครั้งคราวมากขึ้น ทำงานในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ สลับวิถีชีวิตหลักกับเกษตรกรรมพื้นฐานและเกี่ยวข้อง ผู้คนซึ่งมีประสบการณ์ที่แตกต่างสลับไปมา จะสร้างประสบการณ์เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ปรับปรุงวิถีการผลิตแบบเดิม เพื่อสร้างความสมดุลให้มีความมั่นคงมากกว่าเดิม

ความต้องการความรู้ใหม่ๆ จะเป็นกระแสซึ่งขึ้นสูงเช่นกัน

 

อีกกลุ่มที่น่าสนใจ บรรดานักเรียน-นักศึกษาในระบบได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการเรียนแบบออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น เป็นการเปิดโลกกว้างกว่าเดิม ขณะพวกเขาและเธอไม่อาจวางใจกับการศึกษาตามมาตรฐานในระบบเช่นแต่ก่อน ว่าจะเป็นหลักประกันซึ่งอาชีพอย่างที่เป็นมาในยุคก่อนๆ อาจจำเป็นต้องเสริมด้วยการเรียนวิชาเฉพาะวิชาชีพ หรือความรู้ทางเทคนิคอันหลากหลายมากขึ้น

ดังนั้น ข้อเรียกร้องต่อผู้ให้บริการทางการศึกษาในระบบของไทยจึงมีมากขึ้น ให้กระชับกระชั้นมากขึ้น

ผมเองเคยนำเสนอเรื่องทำนองนี้มาครั้งหนึ่ง (หากสนใจ โปรดอ่านข้อเขียนชุด “มหาวิทยาลัยไทย ไปทางไหน” มติชนสุดสัปดาห์ ปลายกันยายน-ต้นตุลาคม ปี 2561) เพียงช่วงไม่ถึง 2 ปี สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก

ปรากฏการณ์ซึ่งเผชิญหน้ามหาวิทยาลัยไทย เนื่องด้วยจำนวนผู้เข้าเรียนลดลงอย่างมากๆ “โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เด็กจะลดลงอย่างมหาศาล…”

กับข้อเรียกร้องอย่างกว้างๆ “มหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเป็น Demand-side เน้นการพัฒนาอาชีพ ยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ” (ข้อเขียนของผม ในบางตอนอ้างมาจากปาฐกถารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์อุดม คชินทร) เรื่อง “Higher Education and It”s Role In Education Landscape” 29 สิงหาคม 2561) สู่สถานการณ์ใหม่ซึ่งเร่งเร้ามากขึ้น

“ข้อเสนอเดียวเท่านั้น” ข้อเสนอย่างเจาะจงในครั้งนั้น ยังคงยืนยันเช่นนั้น “มหาวิทยาลัยไทยต้องไปออนไลน์”

 

ระบบการศึกษาออนไลน์ซึ่งอ้างถึงอย่างเจาะจง เรียกกันว่า MOOC (Massive Open Online Courses) โดยอ้างอิงโมเดล 2 เครือข่ายใหญ่

“หนึ่ง -edX (https://www.edx.org) ซึ่งก่อตั้งโดย Harvard University และ MIT ในปี 2545 ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้าร่วมมากกว่า 120 แห่ง เริ่มต้นจากหลักสูตรพื้นฐาน พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง หลักสูตร Professional Certificate และ MicroMasters Program จนถึง Online Master”s Degree”

จากภาพนำเสนอครั้งก่อน สะท้อนพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งถึงปัจจุบัน

“ด้วยผู้สอน 5,743 คน ผู้เรียน 24 ล้านคน สถาบันเข้าร่วมมากกว่า 145 แห่ง เข้าถึง 196 ประเทศทั่วโลก มีมากกว่า 3,000 หลักสูตร ให้ประกาศนียบัตรแล้ว 1.6 ใบ กิจกรรมผ่านแก้ปัญหาโจทย์ สนทนาใน Forum และกลุ่มทางสังคมต่างๆ มากกว่า 443 ล้านครั้ง…” (อ้างจาก edX 2020 Impact Report)

เช่นเดียวกับอีกค่าย “Coursera (https://about.coursera.org/) ก่อตั้งในปีเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ 2 คนจาก Stanford University ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 150 แห่ง มีมากกว่า 2,700 หลักสูตร ในสาขาเฉพาะทางมากกว่า 250 สาขา และให้ปริญญาถึง 12 หลักสูตร รวมทั้ง MBA ด้วย” (ข้อมูลปี 2561) ได้พัฒนาไปมากเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปัจจุบัน

ด้วยมีมากกว่า 3,900 หลักสูตรและวิชาเฉพาะทาง ให้ประกาศนียบัตรวิชาชีพมากกว่า 13 วิชา มีหลักสูตรระดับปริญญาและที่เรียกว่า MasterTrack Certificates มากกว่า 20 หลักสูตร

ทั้งนี้ มีบทบาทในการฝึกอบรมและโปรแกรมพัฒนาบุคลาการในภาคธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 2,000 บริษัท

เท่าที่สำรวจ ไม่ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมกับทั้งสองค่ายนั้น มีบางข้อมูลแสดงความเชื่อมโยงมายังประเทศไทยอยู่บ้าง

“ในปี 2556 edX มีบทบาทในฐานะ platform ในกระบวนการเรียนรู้ระดับประเทศในหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิสราเอล จอร์แดน จีน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย โปรตุเกส เกาหลี อินโดนีเชีย สวิตเซอร์แลนด์ และไทย”

(อ้างจาก edX 2020 Impact Report)

 

นั่นคือภาพกว้างๆ ระบบการศึกษาแบบใหม่ หรือ MOOC ปรากฏการณ์สำคัญ ว่าด้วยพัฒนาการระบบการศึกษาของโลกยุคใหม่ สร้างผลกระทบและมีอิทธิพลอย่างรวดเร็วภายในช่วงทศวรรษเดียว กลายเป็นศูนย์กลางแรงดึงดูดให้สถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมมือในหลากหลายประเทศและภาษา ดังตัวอย่างกรณีมหาวิทยาลัยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยชั้นนำนับสิบแห่งสามารถปรับตัวเข้าร่วมมือด้วยอย่างคึกคัก

ยิ่งไปกว่านั้น “การปรากฏขึ้นของผู้ให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ที่มิใช่สถาบันการศึกษา…เป็นปรากฏการณ์ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง …จะเป็น Disruptive อย่างหนึ่งต่อระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม” สาระที่อ้างไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลายเป็นกระแสอันเชี่ยวกรากยิ่งขึ้นๆ จากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีโลก Microsoft IBM Intel Cisco Amazon Web Services และ Google จนถึงสถาบันการเงินอย่าง Goldman Sachs และบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก- Boston Consulting Group (BCG)

ความเป็นไปเครือข่ายผู้ให้บริการการศึกษาดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ เป็นกระแสสำคัญว่าด้วยการปรับตัว บรรดามหาวิทยาลัยระดับโลกจากสหรัฐอเมริกาโดย 2 เครือข่ายสำคัญดังกล่าว เป็นโมเดลอ้างอิงระดับโลก โดยเฉพาะกรณีสหราชอาณาจักร ที่เรียกว่า Future Learn (www.futurelearn.com) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2556 จากประสบการณ์ 50 ปีของ Open University ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ในเกาะอังกฤษกับสถาบันการศึกษาทั่วโลกอีกหลายสิบแห่ง ที่น่าสนใจขยายมิติความร่วมมือ เชื่อมโยงระบบข้อมูลกับหน่วยงานสำคัญ อย่างหอสมุดแห่งชาติ (British Library) กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (British Museum) ทั้งร่วมมือกับสถาบันวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าการบัญชี (Association of Chartered Certified Accountants : ACCA) หรือทางวิศวกรรม (Institution of Engineering and Technology : IET) ไปจนถึงธุรกิจสำคัญๆ อย่าง BBC และ Marks & Spencer

ในภาคพื้นยุโรป เป็นอีกกรณีที่ควรอ้างถึง เปิดตัวอย่างเป็นทางการขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (Iversity–www.iversity.org) ในปีเดียวกับกรณีสหราชอาณาจักร ที่น่าสังเกตมีความพยายามมีหลักสูตรมีหลายภาษาที่ใช้ในยุโรป

อีกกรณีที่ควรกล่าวถึงเช่นกัน ในซีกโลกใต้ Open Universities Australia (www.open.edu.au) เครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีประสบกาณ์ในการเรียนการสอนทางไกล ในฐานะประเทศที่พื้นที่ห่างไกล ได้มีความพยายามนำเสนอหลักสูตรให้ปริญญาบัตรมากเป็นพิเศษ ระบุว่ามีมากถึง 258 หลักสูตร

ขณะที่ผู้เรียนรวมกันทั้งหมดยังไม่มากนัก ราวๆ 400,000 คนมาตั้งแต่ปี 2536

ที่น่าตื่นเต้นมีหลักสูตรสอนภาษาไทยด้วย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำ-Australian National University นำเสนอไว้มีถึง 4 วิชา ทั้งนี้ มีการเก็บค่าเรียนด้วย จำนวนมากกว่า 3,000 เหรียญออสเตรเลีย หรือมากกว่า 60,000 บาท

 

สําหรับสถาบันการศึกษาในระบบของไทยจะไปถึงจุดนั้น ไม่เพียงสร้างนำเสนอหลักสูตรซึ่งตอบสนอง New Normal ของผู้คนทั้งสังคม หากต้องผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนระบบภายในครั้งใหญ่

“ตามมาตรฐานการศึกษาในระบบออนไลน์ อ้างอิงโมเดลระดับโลก (อย่างที่ว่าไว้) ด้วยการจัดการใหม่ จัดระบบเนื้อหา (content) ไม่เพียงแค่คลิปบรรยาย หากมี e-textbook ระบบข้อมูล (Archive) หนังสืออ้างอิง ชุดโจทย์และข้อทดสอบ (problem sets) บางคอร์สมี online laboratories ระบบติวแบบเรียลไทม์ (live tutorials) การจัดให้มี forum เพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียน มีการประเมินและวัดผล…”

ความเป็นไปโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University Project) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (https://www.thaicyberu.go.th/ และ https://thaimooc.org/) ยังคงต้องติดตามเฝ้ามองต่อไปอีก