ต่างประเทศ : อำนาจรัฐ VS สิทธิเสรีภาพ ในภาวะวิกฤตโรคระบาด

ในยามที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ ที่ต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์โรคระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบนับร้อยปีที่คนรุ่นเราๆ ไม่เคยพบเจอมาก่อนก็ว่าได้

การบังคับใช้มาตรการเข้มงวดต่างๆ ของรัฐบาลภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดประเทศ การห้ามประชาชนออกนอกบ้าน หรือการห้ามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันทางสังคม เพื่อที่จะหยุดยั้งป้องกันไม่ให้สถานการณ์ระบาดของโรคเลวร้ายลงไปมากกว่านี้ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ของประชาชนที่พร้อมจะปฏิบัติตาม

แม้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลหลายประเทศประกาศใช้ ซึ่งให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการกับสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของชาติ อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไปบ้างก็ตาม

แต่สำหรับในบางพื้นที่ บางประเทศ ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืน ไม้หวาย หรือแก๊สน้ำตา เข้าทำร้ายประชาชนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไม่ยั้งมือที่มีถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหลุดออกมาประจานเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ไปเมื่อเร็วๆ นี้

สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจรัฐที่เกินกว่าเหตุไปมากจนล้ำเส้นอำนาจพิเศษตามกฎหมายที่ให้ไว้

ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับหรือทำความเข้าใจได้

 

ภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งดิกเคนส์ โอเลเว ผู้สื่อข่าวบีบีซี หยิบยกสถานการณ์รุนแรงเหล่านี้ขึ้นมาในประเทศแถบแอฟริกา ที่รัฐบาลหลายชาติในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ต่างบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งองค์กรเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิหลายกลุ่มออกมาร้องเตือนว่าการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตจะเป็นการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

ดังเหตุความรุนแรงในประเทศเคนยา ที่มีรายงานเด็กชายวัยเพียง 13 ขวบ ในกรุงไนบีเรีย ถูกกระสุนปืนลูกหลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเข้าใส่ร่างขณะยืนอยู่บนระเบียงห้องพักจนเสียชีวิต

และยังมีผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย ซึ่งรวมถึงคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ถูกตำรวจเคนยาทุบตีทำร้ายร่างกายจนสะบักสะบอม กระทั่งทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตลงในที่สุด

ในประเทศยูกันดาซึ่งอยู่ติดกัน กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยูกันดาใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการควบคุมประชาชนภายใต้สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19

ซึ่งรวมถึงการทุบตีพ่อค้าแม่ค้าขายผักและคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ตำรวจเคนยายังจับกุมคนเร่ร่อนที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีที ไปจำนวน 23 คน ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและกระทำการโดยประมาทที่อาจทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น

ขณะที่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 27 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,415 ราย ยังมีรายงานประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา

 

กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในระหว่างการตอบสนองรับมือกับสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเปราะบางเสี่ยงภัยที่สุดอย่างพ่อค้าแม่ค้าริมถนนและคนเร่ร่อนไร้บ้าน

ขณะที่ฟรีด้อมเฮาส์ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิอีกแห่งออกมาร้องเตือนว่า บางมาตรการที่ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้รับมือกับไวรัสโควิด-19 ยังอาจถูกนำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือภายใต้เป้าหมายอื่นได้แม้ภาวะวิกฤตครั้งนี้จะผ่านพ้นไปแล้ว

ตัวอย่างเช่นในประเทศกานา พรรคการเมืองฝ่ายค้านแสดงความห่วงกังวลว่ากฎหมายภาวะฉุกเฉินของกานาได้เปิดทางให้ประธานาธิบดีนานา อาคูโฟ อัดโด มีอำนาจในมือเด็ดขาดมากขึ้นที่จะสามารถทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน

 

อันเป็นข้อห่วงกังวลเดียวกับที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีปีเตอร์ มูทารีกา ของมาลาวี ว่ากำลังฉวยโอกาสจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองด้วยการจะยื้ออำนาจไว้ในมือต่อไป

หลังจากในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วประธานาธิบดีมูทารีกาต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายจากการถูกประกาศให้ผลการเลือกตั้งที่เขาได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกสมัยให้เป็นโมฆะ

ซึ่งการประกาศภัยพิบัติแห่งชาติครั้งนี้จะทำให้เขารวบอำนาจไว้ในมือต่อไปได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นห่วงกังวลในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐบาลหลายชาติใช้มาตรการติดตามข้อมูลทางโทรศัพท์ของประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อติดตามการกักตนเองเป็นเวลา 14 วันของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ต่อประเด็นนี้ทนายความด้านสิทธิในเคนยามองว่าเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเปิดเผยการเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลตรงนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงยึดมั่นเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน

ที่หยิบยกมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เชื่อว่ายังคงมีอีกในหลายพื้นที่ที่อาจตกที่นั่งปัญหาคล้ายคลึงกันนี้ ที่มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่างการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน กับการล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพประชาชน

หากไร้ซึ่งการใช้อำนาจอย่างเหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ!