อัญเจียแขฺมร์ : กายกรรมแขฺมร์ เกมฝันเดิมพันชีวิต (จบ)

นี่เป็นเรื่องชวนให้สนเท่ห์ว่า พลันเมื่อระบบเขมรแดงล่มสลาย สหภาพโซเวียตและเวียดนามได้เข้ามาทำพิมพ์เขียวในการฟื้นฟูประเทศนั้น กัมพูชาที่เริ่มจะอ่อนล้าจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สุดโต่ง

แต่ก็มีหลักฐานว่า มีการคัดตัวนักเรียนเด็กกำพร้าเพื่อไปเรียนการแสดงละครสัตว์ในบันทึกของ มม รัสมี ในปี ค.ศ.1980 แม้เวลานั้น สหภาพโซเวียตกำลังต่อสู้กับภาวะการล่มสลายระบบตัวเองในระยะสุดท้าย

กระนั้น รัฐบาลมอสโกก็ยังให้ความร่วมมือช่วยเหลือกับกัมพูชาอย่างไม่รั้งรอ

โดยแม้ว่าโครงการรับนักศึกษาจากพนมเปญนี้จะมีขึ้นในรัฐบาลของ นายแปน โสวัน (1979-81) และแม้ว่าหัวหน้ารัฐบาลจะถูกรัฐประหาร โดยในปีเดียวกันหลังจากที่รัสมีและเพื่อนเดินทางไปมอสโกได้เพียง 6 เดือน นายจัน ซี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชาที่เพิ่งรับตำแหน่งและไปเยือนมอสโก

ก็ไปเสียชีวิตอย่างปริศนา และไม่เคยได้รับการสืบสวนอย่างเป็นทางการมาจนบัดนี้

แต่ความสัมพันธ์เขมร-รัสเซียก็ดูเหมือนจะยังราบรื่น

เมื่อถึงคราวที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 นั้น กัมพูชาประเจียมานิตในฐานะประเทศในอารักขา กลับสามารถบรรลุกลไกพิเศษที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบปกครองกัมพูชาใหม่ในปีเดียวกัน นั่นคือ “ข้อตกลงปารีส” ในเดือนตุลาคม

จึงเท่ากับว่า ระหว่างที่ลูกพี่-โซเวียตกำลังระส่ำระสายในระบบสหภาพอยู่นั้น ลูกน้องกัมพูชาโดย นายฮุน เซน ก็ไม่ปล่อยตนให้ตกต่ำ โดยแอบเดินหน้าเจรจาลับๆ กับภาคีเขมรอื่นๆ ตั้งแต่ ค.ศ.1989

ความหลักแหลมเฉียบคมของผู้นำกัมพูชานี้ ยังกะเทาะปริศนาที่ว่า ทำให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจึงยอมเสียสละตำแหน่งผู้นำเพื่อไปทำหน้าที่เป็น รมว.ต่างประเทศเสียงั้น

และมีข้อพิสูจน์ว่า รัฐบาลกัมพูชาประเจียมานิตนั้น มิได้ถึงกับลืมเลือนคุณูปการในอดีตที่สหภาพโซเวียตเคยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ แม้หลังปี 1997 มาแล้ว อย่างไม่เป็นที่สังเกต รัฐบาล ฮุน เซน ได้เคลื่อนย้ายรูปปั้นเลนิน ณ สวนพนมเปญเขตใกล้ไปรษณีย์กลาง-อย่างเงียบๆ

แต่สิ่งที่แสดงออกและคงไว้ในมิตรภาพเขมร-รัสเซีย ซึ่ง 2 สิ่งนั้นก็คือ โรงพยาบาลมิตรภาพสหภาพโซเวียต-แขฺมร์ และถนนสหภาพโซเวียตรัสเซีย

แม้วิถีรัสเซียกัมพูชาจะปรากฏเพียง 1 ทศวรรษ และเล็กเรียวลงทุกวันในรัฐบาลประเจียมานิต ดังที่ปรากฏหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียฉบับสุดท้ายในปี 1993 และศูนย์วัฒนธรรมรัสเซีย-พนมเปญที่เก่าแก่ทรุดโทรมซึ่งเคยเป็นที่พบปะและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมของกลุ่มอดีตนิสิตเขมร-รัสเซีย

นับเป็นภาวะโดดเดี่ยวที่พบได้จากการถ่ายเปลี่ยน เช่นเดียวกับชีวิตนักแสดงกายกรรมของ มม รัสมี ที่ตกอยู่ในภาวะเลือนหายไปกับยุคสมัยของช่วงเวลานั้น

แต่ความรู้สึกความผูกพันกับสิ่งละอันพันละน้อยที่อยู่ในวัฒนธรรมรัสเซียนี่เอง ที่เคยทำให้ มม รัสมี รู้สึกโดดเดี่ยว สิ้นหวัง

โรงละครกายกรรม-โรงละครสัตว์ หรือ “โรงเสียกฺ” (อ่านว่าเซียะ มาจากคำว่า Cirque/Circus) ที่ มม รัสมี บอกว่ารัฐบาลสหภาพโซเวียตสร้างและมอบให้กัมพูชาด้วยมิตรภาพนั้น นับเป็นการหว่านเมล็ดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนที่เหลืออยู่ของอดีตสหภาพโซเวียต

ต่อศิลปินเขมรด้านการแสดงละครสัตว์ แม้จะทำได้เพียงเป็นคณะกายกรรมเล็กๆ คณะหนึ่ง แต่ศิลปินสาขานักกายกรรม-ละครสัตว์แขนงนี้ เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า รัสเซียสมัยคอมมิวนิสต์ยังมีจิตสร้างสรรค์บุคลากรในวงการศิลปะและอักษรศาสตร์ มิใช่แค่ล้างสมองแนวคิดแบบเลนินอย่างที่คนอีกโลกหนึ่งพากันปรักปรำ

ผลผลิตบุคลากรของรัสเซียในกัมพูชาแขนงศิลปศาสตร์นี้ หนึ่งในหมู่นักวิทูสำคัญทางโบราณคดีคือศาสตราจารย์ลอง เสียม

และคณะละครวงกลม (Circus) นักกายกรรมละครสัตว์กลุ่มแรกและกลุ่มสุดท้าย ที่สหภาพโซเวียตมอบไว้เป็นของขวัญพิเศษแก่รัฐบาลกัมพูชา

 

แม้จะขาดบุคลากรด้านเทคนิค แต่ มม รัสมี และเพื่อน ต่างคือตัวอ่อนของมิตรภาพอัน (เกือบจะ) ยั่งยืนที่เกิดจากแผนก Circus ของรัสเซีย

โดยเฉพาะในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ถูกผูกไว้กับปมเจ็บปวดและยุ่งเหยิงแห่งอดีต

โดยสำหรับรัสมีนั้น ซึ่งสารภาพว่า ผ่านชีวิตมาถึง 5 ยุคสมัย (ขออภัยที่ผู้เขียนคะเนอายุเขาผิดไปในฉบับก่อน) แต่เมื่อแรกเกิดสมัยสีหนุนั้น ก็นับว่าเขาคงซึมซับอิทธิพลฝรั่งเศส-อเมริกันยุค “70 อย่างมิต้องสงสัย สำหรับชนชั้นกลางพนมเปญที่มักคลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตกที่เฟื่องฟูมากโดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐ มม รัสมี ตอนนั้นน่าจะอายุราว 15 ปี

ดังที่เห็นความปรารถนาจะเดินทางและตกผลึกสำนึกว่า จะไปเล่าเรียนในต่างแดน ทั้งหมดนี้ จะมีอยู่ในความตั้งใจของเขาตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนสมัยรัฐบาลลอนนอล

แลชะตาประเทศนั่นเองที่พลิกผันและพัดพาให้เขาต้องเดินทางไปตามหาฝันอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งคือการเป็นศิลปินกายกรรมละครเซียะ-ละครสัตว์

มม รัสมี น่าจะเป็นศิลปินร่วมสมัยยุคสังคมนิยมเขมรที่มีอยู่น้อยนิด แต่ที่น่าสนใจกว่า นั่นคืออิทธิพลในแบบตะวันตกที่ มม รัสมี รับมา และแสดงออกอย่างสุดฮิปในยุคประเจียมานิตของตน ตั้งแต่การแต่งตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่ ล้วนแต่เป็นอเมริกันในยุคเซเวนตี้ ที่เขาได้รับอิทธิพลจากครั้งที่ยังอาศัยในรัสเซีย

เป็นสีสันนอกบทชีวิตที่ยากลำบากยุคสังคมนิยม แต่ มม รัสมี และคณะกายกรรมของเขาก็ดูจะเป็นกลุ่มแฟชั่นนิยมสมัยกัมพูชาประเจียมานิต ทั้งชุดสวมใส่ในการแสดงและชีวิตประจำวัน แต่ส่วนใหญ่มักเปลือยท่อนบน เมื่อตอนที่พวกเขาต้องฝึกซ้อมการแสดง

ซึ่งตอนที่ไปเรียนตามหลักสูตรศิลปะรัสเซีย ที่นั่น มม รัสมี และเพื่อนดูจะได้มีโอกาสปลดปล่อยอิสรภาพในแบบของตน

มันคือภาพชีวิตเด็กหนุ่มหลังยุคเขมรแดงที่เต็มไปด้วยลักษณะพิเศษแห่งการผสมผสานระหว่างความโดดเดี่ยวเดียงสาของกลุ่มเด็กกำพร้าและการมีพลังแห่งความเป็นมนุษย์ที่โดดเด่นท้าทายในรูปนักกายกรรมละครสัตว์ที่ไม่น่าจะปรากฏอยู่ในสมัยสาธารณรัฐสังคมนิยม

เพราะขณะที่การสู้รบตามชายแดนระหว่างเขมรยังพันตูอย่างดุเดือดอยู่นั้น ในบางฤดูร้อนที่มอสโก มม รัสมี และพวกก็ถูกส่งไปทำงานในชนบท นัยว่าเพื่อเรียนรู้วิถีแบบสังคมนิยม

ด้วยเหตุนั้น มม รัสมี และเพื่อนถูกส่งไปซ่อมแซมรางรถไฟในแถบไซบีเรีย และนั่นเอง ทำไมเขาถึงมีภาพความทุกข์ยากที่แจ่มชัดของชาวรัสเซีย โดยเปรียบว่า น่าจะมากกว่าชาวเขมรในยุคหลังเขมรแดงที่ตนประสบเคราะห์กรรมเสียอีก

จึงไม่น่าจะต่างกันนัก เมื่อต้องกลายเป็นบุคคลตกยุคสังคมนิยมล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นสหายในรัสเซีย, มม รัสมี และเพื่อนที่ถูกลอยแพจากชีวิตศิลปินที่เขาอุทิศร่ำเรียน ในยามที่ประเทศประเจียมานิตกำลังจะเปลี่ยนเป็นแบบประชาธิปไตย

มม รัสมี ทำงานประจำสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ (ทีวีเค) และหันไปเปิดโรงเรียนสอนเต้นรำที่กลับมาเฟื่องฟูเหมือนสมัยที่เขาเป็นเยาวชน พลันคุณค่าดั้งเดิมที่เคยถูกละทิ้งไปในอดีตก็หวนคืนกลับมาตั้งต้นใหม่

เหมือนสมัยที่เขาต้องทำหน้าที่-ความเป็นพลเมืองในแบบต่างๆ ตามแต่ละยุครัฐบาล ตั้งต้นจาก “สีหนุ-ลอนนอล”-การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผู้นำ ณ สถานศึกษา ยุคเขมรแดง-แรงงานชนบทในแบบคอมมิวนิสต์

และสมัยประเจียมานิต-ศิลปินนักแสดงกายกรรมละครสัตว์ของรัฐ ซึ่งทั้งหมดในที่สุดก็ล่มสลายไปหมด

 

แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของ มม รัสมี แต่ฤดูร้อนปีนี้ แวดวงกายกรรมเขมร 20 ปีที่หายไปก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง

เมื่อ สก ดีนา หนุ่มน้อยวัย 16 จากบัตตัมบอง ได้เซ็นสัญญาร่วมแสดงกับ Cirque du Soleil คณะกายกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ขณะที่ เนม สุเจีย วัย 17 คู่บัดดี้บ้านเดียวกับ สก ดีนา ก็ได้ทุนเรียนต่อที่สถาบันผลิตนักกายกรรมของแคนาดา หลังจากฤดูร้อนปีก่อนเขาเพิ่งออกโชว์ชุด Colibri กับคณะ TOHU

ทั้งสองหนุ่มน้อยต่างเติบโตฝึกฝนเบื้องต้นมาจาก PHARR องค์การฝึกฝนอาชีพด้านกายกรรมแก่เด็กกำพร้าในกัมพูชา

และเชื่อกันว่า เนม สุเจีย และ สก ดีนา จะก้าวไปเป็นนักกายกรรมแถวหน้าของวงการ The Circus โลกดังที่พวกเขาใฝ่ฝัน

ราวกับการสานฝันของ มม รัสมี ที่มีอันดับหายไปกับยุคสมัย

แต่ในที่สุดการต่อสู้ของเขาก็ไม่สูญเปล่า เมื่อในที่สุด “The Circus-วงเวียนชีวิตเด็กกำพร้านักกายกรรมแขฺมร์” ก็กลับมาฟื้นฟูและยืนหยัดอยู่แถวหน้า

และจากรัสเซีย ถึงประเจียมานิต

หมายเหตุ : ขอบคุณ Facebook/MamRasmey