ฉัตรสุมาลย์ : พาไปกินอาหารแขก

เมื่อท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว คุยเรื่องอาหารไม่ถนัด เลยเป็นผู้เขียนชวนคุยแทน ทริปนี้ สนุกที่สุด คือตอนที่ออกไปกันตามลำพัง วันที่เราไปพิพิธภัณฑ์ในเมืองรายปุร์นั่นแหละค่ะ พอเดินชมพิพิธภัณฑ์ทั้งสามชั้น พอเหนื่อยและหิว ก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน

เราจะออกไปเดินหาร้านอาหารเอง ไม่ฉลาดแน่ๆ เพราะเราไม่รู้จักพื้นที่แถวนั้นมาก่อน

ท่านธัมมนันทาเลยถือโอกาสเข้าไปลาเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่ถวายหนังสือให้ท่านตอนเช้า แล้วถามว่า จะหาอาหารกลางวันได้ที่ไหน

เธอไม่เพียงแต่จะบอกทาง แต่ใช้ภาษากาย เดินออกมาส่ง และชี้ให้เห็นว่า มีร้านอาหารของรัฐบาล น่าจะอิงอยู่กับที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ด้วย ตั้งอยู่ประมาณว่า รั้วติดกันเลยค่ะ

พอเข้าไปก็ไปสั่งอาหาร มีทุกอย่างครบ แล้วจ่ายเงิน ถือคูปองไปว่าเราจ่ายเงินแล้ว

เลือกอาหารอะไร ง่ายที่สุดคืออาหารเป็นถาด เรียกว่า ทาลี เขาจัดเป็นสำรับมาพร้อมเสร็จค่ะ ขอแต่เพียงอาหารมังสวิรัติ ง่ายที่สุด ปลอดภัยที่สุด

สำหรับคนที่ยังรับประทานเนื้อสัตว์ ชาวอินเดียไม่กินพิสดาร มีเพียงไก่ ปลา และเนื้อแพะ

อ้อ เบ็ดเสร็จ ทั้งสำรับราคาเพียง 100 รูปี (ประมาณ 50 บาท)

 

ชายหนุ่มที่ถือคูปองของเรา คงเห็นเราเป็นต่างชาติซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ผ่านมาให้เขาได้บริการบ่อยนัก พาเดินมาอีกสุดทางของพื้นที่ เป็นธรรมชาติน่านั่งมาก ริมขวามือที่เราเดินผ่านไป เป็นพื้นที่ที่มีชายคา แนบไปกับกำแพง ที่กำแพงมีลวดลายศิลปะพื้นบ้าน

ว้าว ให้บรรยากาศดีมากๆ สำหรับคนที่อยากสัมผัสบรรยากาศแบบแขกๆ ตรงนี้ โดนใจมาก ใช่เลย

ความที่ตาสนใจมองบรรยากาศเกือบเดินสะดุดรากไม้ โอ้โฮ ต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงาดีมาก

เรามาถึงครัวจริงๆ ที่อยู่ด้านในสุด นั่งที่โต๊ะแบบชาวบ้าน ท่ามกลางบรรยากาศ open air อุณหภูมิยังหนาวอยู่เล็กน้อย นั่งข้างนอกพอสบาย ท่ามกลางสายลมแสงแดด

เพ้อไปเล็กๆ นะคะ

นานๆ ทีไม่ว่ากัน

 

ชายหนุ่มคนเดิมค่ะ นำหน้า พาผู้หญิงอินเดีย ยกอาหารมาทั้งทาลี เป็นถาดใหญ่และหนักมาก ทองเหลืองทั้งชุด แม่เจ้า

ดีกว่าในภัตตาคารที่ไปกินแพงๆ อีกค่ะ จาปาตี คือแป้งปิ้งสองแผ่น ร้อนๆ พับมาวางข้างบนเลยทีเดียว

จาปาตีเป็นแป้งข้าวสาลีนวดเป็นแผ่นบางๆ แล้ววางบนกระทะแบน เมื่อได้ความร้อนสุกพอประมาณ เดี๋ยวเดียวค่ะ ต้องเสิร์ฟร้อนๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นแขกเขามีหม้อแบนๆ ใส่จาปาตี ต้องห่อด้วยกระดาษฟอยล์ เพื่อรักษาความร้อนไว้นั่นเอง

กินแทนข้าว อยู่ท้องกว่าข้าว ใช้มือขวากด แล้วฉีกเป็นชิ้น ไปหยิบอาหารอื่น เช่น แกงถั่วที่เรียกว่า ดาล หรือผัดผักอื่นๆ ป้อนเข้าปาก มือซ้ายไม่เอาขึ้นมาเลยค่ะ แขกถือมาก ว่าเป็นมือที่ไม่สะอาด

ข้าวมาอีกในถ้วยทองเหลือง ที่เรียกว่า กะโตลี ที่พุทธคยามีขายเยอะมาก แต่เป็นสเตนเลส

แกงดาลมาในถ้วยทองเหลืองอีก

มีผัดผักสองอย่างมาอีกสองถ้วย แม่เจ้า

อาหารพระราชา ประมาณพระเจ้าปเสนทิโกศลนั่นแหละ

 

นอกเรื่องไปนิดนะคะ สมัยพุทธกาลนั้นพระเจ้าปเสนทิท่านครองแคว้นโกศล ราชธานีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ส่วนกบิลพัสดุ์ เมืองของเจ้าชายสิทธัตถะก็ขึ้นกับแคว้นของท่านล่ะค่ะ ท่านเป็นคนกินจุ นึกเห็นภาพก็ตอนนี้เลย ข้าวที่ใส่ทาลี ถาดที่ว่านี้ ของท่านก็คงเป็นถาดทองคำจริงๆ นะ ไม่ว่ากัน

แต่ข้าวที่พระองค์ท่านเสวยนั้น พูนขึ้นมาเป็นภูเขาทีเดียว ในพระบาลีว่าท่านเสวยข้าวเป็นทะนาน พระพุทธองค์เคยสอนให้พระองค์ท่านลดการเสวยพระกระยาหารลง เห็นอาหารวันนั้นแล้วนึกถึงท่านจริงๆ

ตรงที่เราไปนั่งกินข้าวกันนั้น อยู่ในเมืองรายปุร์ ซึ่งเป็นดินแดนตอนใต้ของแคว้นโกศล ในสมัยพุทธกาลก็อยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ท่านค่ะ

การระลึกถึงพระองค์ท่านก็ไม่ได้นอกขอบเขตเลย

 

ย้อนกลับมาดูอาหารที่อยู่เบื้องหน้าเรา ที่เรา ร้องอู อา มากด้วยความตื่นเต้น ยังมีแป้งทอดกรอบ กินเป็นเครื่องเคียงแก้เลี่ยน รสปะแล่มๆ

ถ้ากินแบบแขก เขาก็เอาแกงดาล คือแกงถั่วนั้น เทลงบนข้าวเลยค่ะ

แต่เราทำไม่เป็น เอาจาปาตีฉีกแล้วจิ้มแกงค่ะ อร่อย

เล่าถึงแกงดาล มีถั่วหลายอย่างมาก วันหนึ่งก็ใช้ถั่วอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยู่หลายวัน ก็จะได้กินแกงถั่ว แต่ถั่วอาจจะแตกต่างกันไป ถั่วเป็นอาหารหลักที่ให้โปรตีน สำหรับแขกที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ถ้าเทียบกับไทย ว่าอาหารหลักคือข้าวกับน้ำพริก

ของแขกก็ประมาณว่า จาปาตีกับดาล

 

แป้งอีกอย่างหนึ่งที่เขาเรียกว่า ปูรี ของโปรดของผู้เขียน แต่ปูรีทอดในน้ำมันเดือด แป้งพองเป็นลูกกลม แต่พอเอาลงจากกระทะ ก็จะแฟบลงเป็นแผ่น มื้อหนึ่งบางคนกินถึง 7-8 แผ่น อันนี้ตัวอ้วนของจริง เพราะทอดน้ำมัน ถ้าเป็นคนจน น้ำมันก็แพงค่ะ อย่างดีก็จาปาตี แป้งปิ้งที่ว่านั่นเอง

อาหารแป้งอีกอย่างหนึ่ง เป็นแป้งปิ้งเหมือนกัน แต่ใช้แป้งสาลีกระมัง สีขาว แผ่นใหญ่ บางทีทำเป็นแผ่นรูปร่างคล้ายแผนที่อินเดีย เรียกว่า นิยมกินกับไก่ย่าง ที่เราเรียกว่า ทันดูรี เตาที่ปิ้งน่าสนใจ ใช้แผ่นแป้งแปะไปกับฝาผนังของเตา พอสุก แป้งจะร่วงลงมา ต้องมีเหล็กยาวๆ คอยจิ้มขึ้นมา เวลาเขาทำ น่าสนุก ที่เดลลี มีตั้งเตาทำขายริมถนน เมืองไทยก็มีค่ะ แต่มักเป็นร้านอาหาร เตาจะอยู่ข้างใน เราเข้าไปดูกระบวนการทำไม่ได้

เวลาที่ไปงานนอกสถานที่ ที่เขาเลี้ยงคนจำนวนมากเป็นร้อย เขาใช้ใบตอง หรือใช้ใบไม้ตากแห้งเอาไม้กลัดเย็บเป็นแผ่นใหญ่ขนาดถาดนั่นทีเดียว คนที่จะกินก็นั่งกันเป็นแถว แล้วเจ้าของบ้านก็จะเดินมาตักข้าวใส่ ตักกับข้าวใส่บนกองข้าวที่ตักไว้ทีแรก

ใช่ค่ะ ต้องเสิร์ฟข้าวก่อน เพราะจะต้องราดแกงบนข้าว มีน้ำพริก มีผักดอง มีของทอดอย่างอื่นๆ จะวางไว้ข้างๆ

 

ถ้าไม่เห็นภาพการกินแบบนี้ จะไม่เข้าใจพระวินัย โดยเฉพาะตอนที่บัญญัติเรื่องการขบฉัน บางคนต้องการได้กับข้าวมากขึ้น จริงๆ เขาเสิร์ฟไปแล้ว แต่เพราะอยากได้เพิ่ม เอากับข้าวซุกไว้ในกองข้าว ในพระวินัยจึงห้ามไม่ให้พระเอากับไปซุกไว้ในข้าว เพื่อจุดประสงค์ว่า ให้เจ้าของบ้าน หรือคนที่เสิร์ฟเข้าใจผิดว่ายังไม่ได้ ก็จะมาถวายซ้ำอีก ไม่ใช่อะไรอื่น ก็โลภนั่นแหละ

ห้ามไม่ให้ดูดนิ้ว

ห้ามไม่ให้กินเสียงดังจั๊บๆ

ห้ามไม่ให้สูดอาหารเข้าปาก

ห้ามไม่ให้ทำข้าวเป็นก้อน แล้วเดาะ หรือโยนเข้าปาก

อันนี้น่าจะเป็นพระขี้เล่นหน่อย

ที่ว่ามานี้ อยู่ในเสขิยะ ซึ่งเป็นพระวินัยสอนให้พระมีมารยาทที่ดีงามในสังคมนั่นเอง เรื่องการกินนี้ สำหรับคนไทยที่ไม่เคยเห็นแขกกินข้าว จะนึกไม่ออกว่า ทำไมพระวินัยจึงมีข้อห้ามเช่นนั้น

ที่ห้ามไม่ให้เลียนิ้ว เลียมือ

สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ที่อินเดีย ห้องอาหารใหญ่ เราต้องไปกินในห้องอาหารของมหาวิทยาลัย ผู้หญิงอยู่ส่วนผู้หญิง ผู้ชายอยู่ส่วนผู้ชาย เคยเห็นเวลาเขากินข้าว น้ำแกงไหลเลยมาถึงแขน ก็เลียตามมาถึงแขนจริงๆ

เขาไม่ได้เปิบอาหารแบบที่แม่เราสอนว่า ไม่ให้เปื้อนเกินข้อองคุลี เขาเอามือทั้งมือคลุกข้าว เปื้อนทั้งมือเลยค่ะ เพราะฉะนั้น จึงมีสิทธิ์ที่น้ำแกงจะไหลเลยขึ้นไปถึงแขน

 

มื้อนั้น ผู้เขียนจอดเพียงแป้งจาปาตี ไม่ได้แตะข้าวเลย เวลาเขามายกถาดเก็บ บอกเขาว่า ข้าวนั้นไม่ได้แตะเลยนะ

ไม่ได้เปื้อนน้ำลาย “จูท่ะ นหิ” อินเดียเขาถือเรื่องเปื้อนน้ำลายมาก เป็นเหตุว่า เวลากินน้ำสาธารณะ เขาจะเอากระบวยตักเท แล้วเอามือรอง กินจากมือของตัวเอง ไม่เอาปากไปสัมผัสกับภาชนะใส่น้ำ แม้แต่น้ำขวดของเขาเองเขาก็ไม่เอามาจรดกับปากค่ะ

ที่ศานตินิเกตัน มีการเล่นละครฉากที่พระอานนท์ไปขอน้ำจากผู้หญิงชาวบ้านที่เป็นคนวรรณะต่ำ ทีแรกนางไม่ให้ เพราะว่า นางเป็นคนชั้นต่ำ พระอานนท์อธิบายให้นางฟังว่า ในพุทธศาสนาไม่มีการถือวรรณะเช่นนั้น นางจึงยอมเทน้ำให้ ฉากนี้ พระอานนท์คุกเข่าลงเอามือรอง หญิงวรรณะต่ำนั้น เทน้ำจากเหยือกดินเผา โดยยกเหยือกขึ้นสูง

เป็นฉากที่มีความงามเชิงศิลปะมาก ติดตาผู้เขียนเลยค่ะ

 

ก่อนกินก็ต้องล้างมือ กินเสร็จก็ต้องล้างมือ ใกล้ๆ กันนั้น มีที่ล้างมืออย่างดีเลย

ใกล้กับที่เรานั่งรับประทานอาหาร มีฉากกั้น แต่มองทะลุเข้าไป คือครัวกลางแจ้งค่ะ เห็นนางหนึ่งกำลังหั่นผัก มีดที่จะหั่นนั้น นางเหยียบด้ามมีดไว้ แล้วเอาผักเข้าไปตัดกับมีด จะเรียกว่า เถือก็ได้ค่ะ ก็ผักที่เอามาผัดให้เรากินนั่นแหละ

ได้บรรยากาศสุดๆ

จบทริปนี้ ด้วยการกินอาหาร โชคดีว่าเรากลับมาก่อน ตอนนี้ โดนโคขวิด (โควิด-19) ไปอินเดียไม่ได้ อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งแหละ

นักศึกษาชาวอินเดียที่มาเรียนที่ ม.มหิดล เอาอาหารที่เขาซื้อไว้มาถวาย ก่อนกลับบ้าน มีถั่วนานาชนิด ไปอินเดียไม่ได้ก็ทำแกงดาลกินเองก็ได้