อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (19) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

“The life of Shakespeare is a fine mystery and I tremble every day lest something should turn up”

Charles Dickens (1847)

“ชีวิตของเช็กสเปียร์นั้นช่างเป็นปริศนาโดยแท้ และข้าพเจ้ารู้สึกตัวสั่นหวั่นไหวต่อความลึกลับนี้ทุกเมื่อเชื่อวันจนกว่าความจริงในชีวิตเขาจะปรากฏขึ้น”

ชาร์ลส์ ดิกเค่นส์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ (1847)

สําหรับบุรุษผู้มีชื่อว่าเช็กสเปียร์นั้น ปริศนาแห่งชีวิตของเขาดูจะเป็นสิ่งที่มีมนต์ขลังไม่คลายเลือน

และไม่ใช่เพียง ชาร์ลส์ ดิกเค่นส์ ที่สงสัยสงกาในปริศนาเหล่านั้น หากแต่ วอลต์ วิตแมน มาร์ก ทเวน หรือแม้แต่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็ตามที บุคคลเหล่านี้ล้วนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความลึกลับในชีวิตของเช็กสเปียร์ มีหลายสิ่งที่ควรค่าแก่การตั้งคำถามต่อนักเขียนนามอุโฆษผู้นี้

นักเขียนผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนยอดนิยมหลังการพิมพ์ด้วยตัวเรียงพิมพ์ปรากฏขึ้น

นักเขียนที่ฝากผลงานจำนวนมากให้เราได้ซาบซึ้ง เพลิดเพลิน ทั้งในฐานะของสิ่งที่อ่านในรูปของวรรณกรรม

และทั้งในฐานะของสิ่งที่มองเห็นในรูปของละคร ปริศนาเหล่านี้บางอย่างก็มีคำตอบพอให้เราคาดเดาได้

ทว่า หลายอย่างก็ยังไม่ได้รับการเฉลยให้หมดความกังขาไป

 

ปริศนาแรกนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ตัวบทในงานเขียนของเขา

ผลงานของเช็กสเปียร์ นักเขียนผู้มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่ง มีตัวบทที่แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้อย่างกว้างขวางทั้งชีวิตในราชสำนัก กฎหมาย ดนตรี จิตรกรรม ภาษาต่างชาติ ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนนอกประเทศ

หากแต่เราล่วงรู้ว่าเช็กสเปียร์นั้นเป็นบุตรของครอบครัวสามัญธรรมดาจากทางตะวันออกของลอนดอน เขาไม่ได้รับการศึกษาเป็นระบบนัก

ไม่แม้แต่การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

มีการคาดเดาต่างๆ นานาถึงบุคคลที่อาจสวมบทบาทเป็นเช็กสเปียร์และใช้นามนี้ในการแต่งบทประพันธ์ที่พวกเขาไม่อาจกระทำได้ในนามจริง

จำนวนรายชื่อของบุคคลร่วมสมัยในยุคนั้นที่อาจเป็นเช็กสเปียร์ได้มีสูงถึงราวแปดสิบคน

แต่หากจะกลั่นกรองแล้วมีเพียงสามคนเท่านั้นที่มีความเป็นไปได้ว่าเขาคือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังบทประพันธ์จำนวนมากของเช็กสเปียร์

บุคคลแรกนั้นได้แก่ ฟรานซิส เบค่อน-Francis Bacon นักปราชญ์และข้าราชสำนักคู่ใจในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง

 

ฟรานซิส เบค่อน นั้นเกิดในปี 1561 ที่นครลอนดอน บิดาของเขานั้นมียศเป็นท่านเซอร์ คือ เซอร์ นิโคลาส เบค่อน การอยู่ในตระกูลสูงทำให้เขาสามารถเข้าศึกษายังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ด้วยวัยเพียงสิบสองปี

ที่นั่น ฟรานซิส เบค่อน ศึกษาทั้งภาษาละตินและประวัติศาสตร์ในยุคกลางจนเชี่ยวชาญ และที่นั่นเองที่เขาได้พบกับพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งที่ยังทรงพระเยาว์อยู่

พระนางชื่มชมในความสามารถและความรอบรู้ของเขาอย่างยิ่งจนขนานนามเขาว่าเป็นดัง “ผู้คุ้มกฎแห่งราชสำนัก”

และแล้วในที่สุดความเปรื่องปราดของเขาก็ทำให้ ฟรานซิส เบค่อน ได้ทำงานรับใช้ราชสำนักพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินในที่สุดในปี 1603

สมมุติฐานที่ว่า ฟรานซิส เบค่อน เป็นผู้ประพันธ์บทละครหลายเรื่องภายใต้ชื่อของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ นั้นเริ่มขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้า และแพร่หลายต่อมา

เหตุผลหนึ่งคือการที่ ฟรานซิส เบค่อน เป็นผู้รักในการประพันธ์และการละคร ทว่า การที่เขาได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นสูงย่อมทำให้การที่เขาประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ออกสู่สาธารณชนอาจไม่เหมาะสมนัก

และทำให้ ฟรานซิส เบค่อน ตัดสินใจขอร้องให้เช็กสเปียร์รับหน้าที่อ้างตนว่าเป็นผู้ประพันธ์แทน

อีกเหตุผลหนึ่งนั้นมาจากการพบว่าหลักปรัชญาหรือแนวคิดที่ ฟรานซิส เบค่อน ต้องการนำเสนอหรือประกาศต่อสาธารณชนนั้นปรากฏในงานเขียนของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ อยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ตาม มีคำโต้แย้งในกรณีที่ว่านี้ อาทิ ฟรานซิส เบค่อน นั้นเป็นคนมีภารกิจมากเกินกว่าจะมาเสียเวลาเขียนบทละครแล้วขอร้องให้คนอื่นใช้ชื่อผู้ประพันธ์แทน

เพราะนอกจากงานราชสำนักแล้ว ฟรานซิส เบค่อน ยังถือได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานวิชาปรัชญาด้านประจักษวาท หรือ Empiricism ที่เชื่อว่าความจริงทั้งหลายในโลกนั้นได้มาจากการสังเกตและการใช้ประสาทสัมผัสเข้าตรวจสอบ

การหมกมุ่นกับปรัชญาดังกล่าวทำให้ ฟรานซิส เบค่อน ถึงกับล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม อันเนื่องจากการที่เขาพยายามสังเกตผลกระทบของความเย็นที่มีต่อการเก็บรักษาเนื้อสัตว์และทำให้เขาต้องจากโลกนี้ไป

บุคคลที่หมกมุ่นกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ยากจะเสียเวลาไปกับความเพ้อฝันแห่งการประพันธ์โดยแน่นอน

 

บุคคลที่สองที่ถูกคาดเดาว่าอาจเป็นผู้ประพันธ์บทละครจำนวนมากของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ คือกวีหนุ่ม นาม คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์-Christopher Marlowe

เขาเกิดที่แคนเทอเบอรี่ในปี 1564 สามปีให้หลังจาก ฟรานซิส เบค่อน และเกิดในปีเดียวกับ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

ด้วย คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ นั้นมีบิดาเป็นช่างทำรองเท้า หากแต่เขาเป็นคนใฝ่รู้อย่างยิ่ง หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนในบ้านเกิดของตนเอง

คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ ได้เข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังสำเร็จการศึกษา เขาแต่งบทละครบทแรกชื่อ Dido, Queen of Carthage ในปี 1587 ซึ่งถูกนำออกแสดงโดยคณะละครเด็กหลังจากนั้น

ทว่า นอกเหนือจากชีวิตของนักประพันธ์แล้ว คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ ยังมีผลงานในฐานะของสายลับของทางราชการอังกฤษอีกด้วย

ว่ากันว่าเขาถูกทาบทามให้เป็นสายลับตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เหตุการณ์หนึ่งที่บ่งชี้สถานภาพเช่นนี้ของเขาเกิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยตัดสินใจที่จะไม่ประสาทปริญญาบัตรให้แก่เขา

หากแต่กรมการเมืองออกคำสั่งให้มหาวิทยาลัยมอบปริญญาบัตรให้แก่ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ เพราะเขาเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจสำคัญให้แก่ประเทศชาติ

รวมถึงจากเอกสารที่หลงเหลือในบันทึกของมหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นว่า คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ หายตัวไปจากมหาวิทยาลัยและชั้นเรียนเป็นระยะเวลานานไม่น้อยเสมอๆ ในปี 1593 อันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตของ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ กำลังรุ่งโรจน์ เขากลับถูกข้อหาร้ายแรงในคดีสำคัญ

แต่ทว่า ก่อนการขึ้นศาลจะเกิดขึ้น เขาได้ถูกคู่อริที่ทะเลาะเบาะแว้งแทงตายในโรงเหล้าแห่งหนึ่ง

สมมุติฐานที่ว่าด้วยบทละครทั้งหลายของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ นั้นเป็นผลงานของ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ เกิดขึ้นจากการปรากฏตัวของผลงานของเช็กสเปียร์ หลังความตายของ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ ได้เพียงสองสัปดาห์

การปรากฏตัวของผลงานดังกล่าวทำให้มีความเชื่อว่า คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ อาจไม่ได้เสียชีวิตจริง เขาแกล้งตายและหลบหนีออกนอกประเทศอังกฤษไปพำนักอยู่ที่ประเทศอิตาลี

และที่นั่น เขาได้ใช้ไฟแห่งการประพันธ์ผลิตผลงานจำนวนมากภายใต้ชื่อของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

ถ้อยคำในบทละครก่อนหน้าของ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ มีความพ้องเคียงกับบทละครของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะในท่อนที่มาจากงานละครชื่อ Jew of Malta ซึ่งเขียนว่า

But stay! What star shines yonder in the east?

The lodestar of my life, if Abigail!

บทละครท่อนดังกล่าวนั้นมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับบทละครของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ เรื่อง โรเมโอและจูเลียต-Romeo and Juliet ในท่อนที่ว่า

But soft! What light through yonder window breaks?

It is the East, and Juliet is the sun!

 

กระนั้นความเป็นไปได้ที่ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ จะแกล้งตายและหลบหนีไปถิ่นอื่นก่อนจะผลิตงานเขียนภายใต้ชื่อของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ นั้นมีน้อยเต็มที

ข้อแรกนั้นเป็นเพราะมีประจักษ์พยานที่ได้เห็นการทะเลาะวิวาท และการถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตของ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ หลายคน

นอกจากนี้ หาก คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ รอดพ้นความตายไปได้ เขาน่าจะมีกิจกรรมอื่นที่สมควรแก่การกระทำมากกว่าการมุ่งหน้าผลิตผลงานละครจำนวนมากซึ่งเขาได้ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านั้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม สมุมติฐานของบุคคลทั้งสองตกไปเมื่อการค้นพบใหม่ในศตวรรษที่ยี่สิบมาถึง มีความเชื่อว่า ผลงานทั้งหมดของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ หากจะถูกเขียนขึ้นด้วยน้ำมือของผู้อื่นจริง บุคคลผู้นั้นสมควรเป็น-เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์-Edward de Vere

หรือที่รู้จักกันในนามของท่านเอิร์ลแห่งอ๊อกซ์ฟอร์ด