มนัส สัตยารักษ์ | ไวรัสจัดระบบเงินเดือน

ในระหว่างกักตัวเองอยู่บ้านตามคำขอของ กทม. (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ) ผมพบว่ามีคน (ที่กินเงินเดือนของรัฐ) ยังต้องทำงานโดยไม่ได้หยุดอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มอาชีพ คือ หมอกับพยาบาล ตำรวจ และพนักงานกำจัดขยะ

ไม่เพียงเฉพาะสภาวะวิกฤตโรคติดต่อร้ายแรงเท่านั้นที่พวกเขาทั้ง 3 อาชีพไม่ได้หยุดการทำงาน ในวิกฤตอย่างอื่นพวกเขาก็หยุดไม่ได้ รวมไปถึงวันเวลาแห่งความรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน ฯลฯ พวกเขาก็ยังไม่ได้หยุด

ในวันและเวลาของวิกฤต “โควิด-19” เป็นวันและเวลาที่ไม่มีที่นั่งในร้านอาหาร เราต้องซื้อหรือโทรศัพท์สั่งอาหารใส่ถุงมากินที่บ้าน เราทุกคนคงมีมโนภาพของขยะกองใหญ่ทั้งที่บ้านและที่ภูเขาขยะ แต่เพียงไม่นานเกินรอ เราก็เห็นรถขนขยะกับพนักงานมาทำงานตามปกติ

ทำให้นึกถึงเมื่อหลายปีก่อนครั้งไปเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ตื่นตีสี่จ๊อกกิ้งออกกำลังกาย พบรถและคนขนขยะทำงานอย่างเข้มแข็ง และเมื่อวิ่งวนกลับโรงแรมที่พักราวตีห้า พบว่าเมืองโตรอนโตสะอาดเกลี้ยงเกลาไปแล้ว ประทับใจจนอดคิดถึงบ้านเมืองของเราเองไม่ได้

เราควรจะ “ลงทุน” ค่าทำความสะอาดบ้านเมืองมากขึ้นกว่าเดิมไหม?

ควรจะเพิ่มรถ เพิ่มคน และเพิ่มเงินเดือนบุคลากรผู้มีภาระงานอันสำคัญไหม?

ความคิดเรื่องเพิ่มเงินเดือนแก่บุคลากรให้เหมาะสม (กับงานที่ทำ) เกิดมานานแล้ว ก่อนไปเห็นภาพประทับใจที่โตรอนโตด้วยซ้ำ…จากการอ่านบทความหนึ่งที่กล่าวถึง “เงินเดือนของคนเยอรมัน”

บทความกล่าวว่า เงินเดือนของเสมียนในบริษัทไม่ห่างจากเงินเดือนผู้จัดการเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะระบบของเยอรมนีให้ค่าของเงินเดือนตามความหนักเบาของภาระงาน ไม่ได้ตีค่าตามตำแหน่ง หรือชั้นยศ หรือ “ซี” ตามระบบของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เป็นนายตำรวจใหม่ไปอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารสหรัฐที่มาปฏิบัติหน้าที่ในเวียดนาม

เพื่อนนายทหารไทยแนะนำให้รู้จักกับทหารอเมริกันทั้งที่เป็นชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน ได้ความรู้ว่าทหารชั้นประทวนสูงวัยที่มีเครื่องหมายบั้งเป็นปึกที่แขนเสื้อนั้น เงินเดือนมากกว่าสัญญาบัตรหนุ่มหลายเท่า แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในซีโอคลับซึ่งแยกจัดไว้สำหรับสัญญาบัตรโดยเฉพาะ

ระดับเงินเดือนไม่เกี่ยวกับระบบการบังคับบัญชา

ในวิกฤตจลาจลทำให้ผมคิดถึงเงินเดือนของตัวเองและเพื่อนตำรวจ ผมและเพื่อนตำรวจบางหน่วยทำงานด้วยความเครียดมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงโดยไม่มีโอทีหรือเงินล่วงเวลา และส่วนใหญ่เราไม่ได้กลับไปพักผ่อนที่บ้านตามสิทธิที่ควรจะเป็น เนื่องจากเวลาพักกลายเป็นเวลาเตรียมพร้อมไปโดยอัตโนมัติ เราจะถูกเรียกมาเข้าแถวพร้อมตะบองและโล่เมื่อไรก็ได้

และหากพื้นที่การจลาจลสกปรก ก็ตำรวจแหละครับที่ต้องทำ “บิ๊กคลีน”

ต้นเหตุของการจลาจลมักจะเริ่มจากความขัดแย้งของนักการเมือง 2 ฝ่าย ตำรวจอยู่ตรงกลางและทำงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ว่านักการเมืองฝ่ายใดจะชนะก็เป็นการชนะชั่วคราว หรือแพ้ก็อาจจะเพียง “สมัย” เดียว ตำรวจจึงหนีไม่พ้นคำประณาม และทุกครั้งเมื่อมีการสลายการชุมนุมตำรวจก็จะถูกดำเนินคดี

ในกรณีของวิกฤต “โควิด-19” ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่ตรวจและคัดกรองตามมาตรการสาธารณสุขก็เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นทัพหน้า กล่าวคือ ติดเชื้อไวรัสจำนวนหนึ่ง และถูกกักตัวเพื่อรอผลตรวจสอบอีกจำนวนหนึ่ง

ตำรวจไม่ได้เรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม เพียงแต่มีความเห็นในการปฏิรูปว่า เราต้องเพิ่มกำลังตำรวจให้เพียงพอกับภารกิจ หรือไม่ก็ให้ตำรวจมีสิทธิเบิกเงินโอทีตามความเป็นธรรม

ผมน้ำตาไหลเมื่อดูวิดีโอจากเมืองจีน เป็นวิดีโอที่ชาวจีนร่วมร้องเพลงยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ของเขาที่สามารถสยบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงได้ ภาพชาวเมืองแสดงความคารวะอย่างสูงต่อบุคลากรทางการแพทย์ ในฐานะ “วีรบุรุษ” ที่กำลังเดินทางกลับหลังจากปิดสถานพยาบาลชั่วคราว 14 แห่งที่เมืองอู่ฮั่น

ผมน้ำตาไหลเหมือนเมื่อครั้งที่ได้เห็นภาพและฟังเสียงชาวจีนจำนวนมากร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราเสด็จสวรรคต พวกเขาร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวของเราในฐานะ “วีรกษัตริย์” ของโลก

ในวาระวิกฤต “โควิด-19” ครั้งนี้ พวกเราที่อ่านข่าวหรือดูทีวีได้พบเห็นการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ต่างตระหนักดีถึงความเป็นนักรบแนวหน้าที่เสียสละ องค์กรโลกชมเชยประเทศไทยจากจุดนี้ ไม่ใช่ชมเชยความสับสนของรัฐบาล

อาชีพนี้รัฐบาลควรที่จะ “ลงทุน” ทั้งเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงพอ ทั้งในช่วงวิกฤตและช่วงปกติ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถจะหาคนมาทำหน้าที่แทนได้อย่างฉุกเฉิน และเราไม่ควรจะมีข่าวความขาดแคลนและความสูญเสีย

รัฐต้อง “ลงทุน” แทนที่จะขอบริจาค!

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขอชื่นชมกองทัพบกที่ได้ลงแรงทำ “บิ๊กคลีน” เป็นการช่วยเหลืองานสาธารณสุขอย่างตรงเป้า แม้จะมีเสียงค่อนแคะจากฝ่ายตรงข้ามกับพรรครัฐบาลว่ากองทัพมีชุดป้องกันที่ดีกว่าชุด PPE (Personal Protective Equipment) ที่แพทย์และพยาบาลของเรากำลังขาดแคลน

แต่ก็ยังชื่นชมอยู่ว่า กองทัพรู้จักใช้งบประมาณ (ที่มากกว่ากระทรวงสาธารณสุข) และไม่ต้องลงทุนค่าแรง ใช้กำลังพลไปในทางที่ถูกต้อง ได้ผลงานระดับนี้แพร่ไปทุกสื่อก็นับว่าคุ้มแล้ว

เพียงแต่ว่ายังไม่สมกับที่เคยฝันไว้ที่เมืองโตรอนโต (เมื่อ 30 ปีก่อน) คือบ้านเมืองสะอาดเป็นปกติ จะเป็นช่วงวันวิกฤตหรือไม่วิกฤตก็ตาม

เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายเฉพาะเป็นเงินเดือนของ “นักการเมือง” พบว่าส่วนที่ไม่จำเป็นมีเพียงเงินเดือนของหน่วยงานวุฒิสภาเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย นั่นหมายถึงสมาชิกวุฒิสภา ประธานและรองประธาน หรือที่เราเรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า “ส.ว.”

ส.ว. มีเงินเดือนคนละ 71,230 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

ส.ว. 250 คน ตกเดือนละ 28,390,000 บาท 28 ล้านกว่าบาท/เดือน (ยังไม่รวมสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม ค่ารักษาพยาบาล)

เดือนละ 28 ล้านกว่าบาทนี้ ถ้าเอามาจ่ายเป็นค่าบุคลากรทางการแทพย์หรือพนักงานเก็บขยะซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เราจะได้ “คนทำงาน” กลุ่มใหญ่ทีเดียว

หน้าที่หลักของวุฒิสภาคือกลั่นกรองกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เรามีองค์กรที่รับผิดชอบงานนี้อยู่แล้ว นั่นคือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่รัฐบาลหารือข้อกฎหมายนั่นแหละ

ข้อเสนอในการปรับแก้ระบบบริหารบุคคลและเงินเดือนนี้ ไม่ได้หวังจะเสนอในวาระของรัฐบาลนี้หรอก ด้วยตระหนักดีถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่จะต้องมี “วุฒิสภา” ไว้ค้ำบัลลังก์ จนถึงกับกำหนดข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญ

อีกประการหนึ่งก็คือ เราสังเกตเห็นว่าประชาชนใหญ่หลายกลุ่มไม่ไว้วางใจพฤติกรรมของรัฐมนตรีหลายคนใน ครม.ชุดนี้ พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ ในเป้าประสงค์ของการครองอำนาจอย่างไร้ธรรมาภิบาล

จึงฉวยโอกาสที่ “ไวรัสระบาด” มาช่วยทำให้สังคมเห็นชัดเจนขึ้น ก็เลยลองเสนอความฝันโบราณอายุ 30 ปีบวกเข้ากับความจริงเชิงประจักษ์ในวาระวิกฤตนี้ด้วย

ไม่แน่ครับ ในอนาคตอันไม่ไกลนัก ความฝันอาจเป็นจริงโดยไม่ต้องมีไวรัสมาช่วยกระตุ้นก็ได้