ต่างประเทศ : มองวัฒนธรรมญี่ปุ่น กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19

ในขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

เกิดข้อสังเกตและวิเคราะห์ถึงยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตโควิดในหลายๆ ประเทศที่อาจเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

หนึ่งในนั้นคือญี่ปุ่น

ที่ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจะค่อนข้างน้อย แม้ในช่วงเวลาที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ยอดดูจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนรัฐบาลญี่ปุ่น นำโดยนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีเตรียมจะประกาศใช้กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่นยังไม่สูงนัก

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะเข้ารับการตรวจเชื้อที่เข้มงวดมากๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้คนที่มีสิทธิจะเข้ารับการตรวจโควิด-19 นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ “มีไข้” ติดต่อกันนานไม่น้อยกว่า 4 วัน

และต้องมี “ประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ” มีความ “ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ” ที่ได้รับการยืนยัน หรือ “มีอาการปอดอักเสบ” รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

การตั้งเงื่อนไขเหล่านี้เอาไว้ไม่ใช่เพื่อการค้นหาผู้ติดเชื้อทุกคน แต่เป็นการเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ให้กับผู้ที่ต้องการจริงๆ

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าแพทย์ได้ใช้เครื่องมือซีทีสแกนในการตรวจโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นอาการหลักของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนจะรักษาโดยที่ไม่เข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

นั่นหมายถึงว่า ผู้ป่วยบางคนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่ได้ถูกนับลงไปในสถิติผู้ติดเชื้อของประเทศญี่ปุ่น

นอกจากการตั้งเงื่อนไขการรับการตรวจเชื้อที่เข้มข้นแล้ว โรเชลล์ คอปป์ คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์เจแปนไทม์ส เขียนบทความตั้งข้อสังเกตถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่อาจส่งผลกระทบให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศยังคงไม่สูงมากนัก

โดยรวบรวมเอาความเห็นของชาวญี่ปุ่นและประสบการณ์ส่วนตัวมาอธิบาย

คอปป์ระบุว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นอาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นไม่สูงนัก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการใส่หน้ากากอนามัยของชาวญี่ปุ่น

การไม่สัมผัสร่างกายกัน เช่น การกอด หรือจับมือแบบวัฒนธรรมในภูมิภาคยุโรป

การไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน รวมไปถึงความสะอาดของห้องน้ำสาธารณะและร้านอาหารในประเทศ

 

คอปป์ยกตัวอย่างความเห็นของชีววิทยาเซลล์ชาวญี่ปุ่นอย่างฮิโรโนริ ฟูนาบิกิ ที่อธิบายเอาไว้ว่า วัฒนธรรมการใส่หน้ากาก การไม่พูดคุยกันบนระบบขนส่งสาธารณะ การรวมตัวทำพิธีทางศาสนาที่น้อย

และการไม่ทานอาหารด้วยมือเปล่า เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ทำให้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดในประเทศทำได้ค่อนข้างดี

วัฒนธรรมการสวมใส่หน้ากากในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายชาติในเอเชีย ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ส่งผลให้การแพร่ระบาดไม่วิกฤตร้ายแรงเหมือนกับหลายๆ ประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี หรือสเปน ที่ยึดถือข้อปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าคนป่วยเท่านั้นที่จะต้องสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ

จนกระทั่งล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ออกมาแนะนำว่า การสวมหน้ากากนั้นสามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่แสดงอาการได้เป็นเวลาหลายวันและอาจแพร่เชื้อในช่วงเวลานี้

อีกหนึ่งปัจจัยทางวัฒนธรรมที่คอปป์เอ่ยถึงในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กล่าวถึงเงื่อนปมทางวัฒนธรรมที่จะส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นไม่ยอมไปตรวจร่างกายเพื่อหาเชื้อโควิด-19 นั่นก็คือ “ความกลัว” ที่ว่า หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 อาจนำไปสู่การถูกตีตราทางสังคมในฐานะผู้สร้างปัญหาให้กับผู้อื่น หรือ “เมอิวากุ”

ความรู้สึกนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่อยากจะเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจต้องเป็นต้นเหตุให้ต้องปิดสำนักงานหรือปิดโรงงานลง เพื่อเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค ขณะที่บริษัทเองก็ไม่ต้องการให้มีลูกจ้างมีชื่อเป็นผู้ติดเชื้อที่อาจสร้างความหวาดกลัวให้กับลูกค้าได้

คอปป์ระบุว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมองผู้ป่วยในแง่ลบ และสังคมส่วนใหญ่จะกล่าวโทษคนป่วยว่าเป็นคนที่ “ไม่รับผิดชอบ” ในการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี และสถานการณ์ดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีความกังวลไปถึงการถูกเลือกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เช่น การเกลียดกลัวคนเป็นโรคเรื้อน วัณโรค หรือแม้กระทั่งเหยื่อกัมมันตรังสีจากระเบิดปรมาณู

ผู้เป็นโรคหรือเหยื่อกัมมันตรังสี แม้จะรักษาหายแล้วก็จะถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่ถูกเลือกให้มีคู่ครอง หรือถูกปฏิเสธเข้าทำงานในบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม บทความเอ่ยถึงความเห็นของเคนทาโร่ อิวาตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ที่มองว่าวัฒนธรรมอาจไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินยอดผู้ติดเชื้อหรือยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศได้

อิวาตะระบุว่า การมองเรื่องวัฒนธรรมของประเทศมาตัดสินอาจส่งผลให้ประชาชนละเลยในการเว้นระยะห่างทางสังคมลง และนั่นอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดใหญ่ได้เช่นกัน

ดังนั้น นอกจากวัฒนธรรมที่อาจมีส่วนช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างน้อยก็ทำได้ดีกว่าประเทศในภูมิภาคยุโรปที่กำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตในเวลานี้

มาตรการด้านการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อมากเกินไปจนทรัพยากรด้านสาธารณสุขของประเทศไม่สามารถรองรับได้นั่นเอง