อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ตัวอย่างประเทศรับมือ “โควิด-19”

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ช่วงเวลานี้มหันตภัยจากโรคระบาดใหม่ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย

ดังนั้น เราควรบันทึกและศึกษามหันตภัยนี้ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างต่อมวลมนุษยชาติ

รวมทั้งตัวเราเอง

 

ตัวอย่างไม่ดี

อิตาลี

หาใช่อคติด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมและการพัฒนาในระบบทุนนิยมโลก อิตาลีมีดีหลายด้านที่มาจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาอันเห็นได้จากความงดงามของศิลปะด้านต่างๆ

มิไยต้องกล่าวถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดใหม่ซึ่งไม่ได้ตั้งใจแพร่ระบาดไปที่ยุโรป รวมทั้งอิตาลี ทว่าโรคระบาดใหม่ก็กะเทาะเปลือกสังคม เศรษฐกิจและรากวัฒนธรรมการเมืองบางประการของอิตาลีให้ปรากฏเด่นชัด

สื่อต่างประเทศได้สรุปสาระสำคัญของอิตาลีที่เผชิญโรคระบาดใหม่ดังนี้

อิตาลีพลาดโอกาสควบคุมโรคระบาดใหม่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการระบาด

มีการสื่อสารผิดพลาดกับประชาชน

มีการเมืองภายใน

ปล่อยให้ชาวมิลานหนีลงใต้

ข้อสรุปที่ง่ายๆ แต่ตรงประเด็นนี้ชวนให้เราต้องมองอิตาลีและโรคระบาดใหม่หลายๆ ด้าน เช่น เปลือกแห่งอิตาลีมิได้เป็นเปลือกเฉพาะสังคมอิตาลี ตรงกันข้าม มีสังคมอีกหลายสังคมที่คล้ายคลึงกับอิตาลีอย่างน่าทึ่ง แต่ไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง

ขณะที่เขียนบทความนี้ อิตาลีนับเป็น ตัวอย่างไม่ดี ของโลกด้วยเหตุแห่งโรคระบาดใหม่นั่นเอง เช่น คนทั่วโลก องค์การอนามัยโลก รวมทั้งคนอิตาเลียนด้วยเพราะ คนอิตาเลียนล้มตายลงด้วยโรคระบาดใหม่แซงหน้าคนที่ตายในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าทางการจีนได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ทางการแพทย์และยาต่อต้านกับโรคระบาดใหม่มาให้อิตาลีก่อนใครเพื่อน แต่ความช่วยเหลือจากประสบการณ์ที่ดีของคณะผู้เชี่ยวชาญจีนไร้ผล

รายงานของสื่อมวลชนได้ให้ภาพความด้อยประสิทธิภาพและความไร้ระเบียบวินัยของอิตาเลียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ประการแรก รัฐบาลอิตาลีไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาแพร่ระบาดของโรคระบาดใหม่ เหมือนกันเปี๊ยบกับท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

อาทิ พลางก็โทษรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้นเรื่องนโยบายสาธารณสุข หรือดูถูกเชิงเชื้อชาติทั้งคนตะวันออกในเมืองต่างๆ ของอิตาลี รวมทั้งคนที่ไม่ใช่อิตาเลียน

ผมอาจเก็บความจากสื่อมวลชนผิดพลาด สังคมอิตาเลียนตั้งใจทอดทิ้ง รวมทั้งให้คนแก่ คนพิการ คนพิการทางสังคม เช่น คนไร้ญาติ คนเร่ร่อน พวกโฮมเลสหรือคนไร้บ้านตายไปหากป่วยด้วยโรคระบาดใหม่

จริงหรือเปล่าที่สังคมอิตาลีปล่อยให้คนอายุ 70 ปีขึ้นไปตามยถากรรม โอ้!

 

สื่อสารผิดพลาดกับประชาชน

น่าประหลาดใจ การสื่อสารจากรัฐบาลผิดพลาด ผิดพลาดซ้ำๆ ซากๆ กับประชาชนทุกหมู่เหล่าเกิดขึ้นโดยถ้วนหน้า อิตาลี สหรัฐอเมริกา และพี่ไทยด้วย

อิตาลีนั้นรัฐบาลของเขาสื่อสารผิดพลาดกับประชาชนช่วงเวลาสำคัญเยี่ยงนี้อย่างไม่น่าเชื่อ รัฐบาลอิตาลีมีเครื่องมือสื่อสารชั้นนำระดับโลก เพราะรัฐบาลเขาร่ำรวย อิตาลีมีโซเชียลมีเดีย เช่น อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ รวมทั้งอย่างน้อยๆ ระบบสื่อสารอิตาลีกำลังจะก้าวเข้าสู่ระบบ 5 G ในไม่ช้า

แต่เครื่องมือสื่อสารล้ำยุคไม่ได้ช่วย การสื่อสาร ของใครต่อใครที่ควรจะสื่อสารกับประชาชนดีขึ้น ทว่าดันมาสื่อสารกันผิดพลาดอย่างซ้ำๆ ชากๆ ช่วงเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางของโรคระบาดใหม่

อาจเป็นไปได้ว่า อิตาลีประกอบด้วยรัฐบาลหลายพรรคการเมือง นักการเมืองของเขาก็ไม่ธรรมดา หลายท่านคงได้ชมภาพยนตร์ The GOD FATHER ซึ่งแต่ละภาคของภาพยนตร์สื่อตรงไปตรงมาของการเมืองของเจ้าพ่อ ผู้อุปถัมภ์ นายแบงก์กับขั้วอำนาจ ความมั่งคั่งของผู้นำทางศาสนาซึ่งจริงๆ เป็นนักการเมืองอีกประเภทหนึ่งผู้ค้ำจุนรัฐบาลและเลี้ยงดูรัฐมนตรีบางคนที่เป็นตัวแทนแห่งผลประโยชน์ และความยิ่งใหญ่ของครอบครัว บางครอบครัวในเกาะซิซิลี เป็นต้น

ความน่าจะเป็นของโครงสร้างการเมืองแบบอุปถัมภ์แบบซิซิเลี่ยนที่ภาพยนตร์บอกแก่เรานั้น เป็นความจริงทางการเมืองแล้วมีผลมหาศาลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ช่างน่าเศร้า วัฒนธรรมอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงโครงสร้างการเมืองแบบเจ้าพ่อ การเมืองหลายๆ เจ้าพ่อนับเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจที่ปราศจากอคติต่อการ ปิดเมือง และปิดประเทศ ในเวลาที่ทันสถานการณ์

ไม่มีใครทราบว่า ผู้คนได้หนีออกจากเมืองมิลานลงใต้มากขนาดไหน แต่สื่อมวลชนอธิบายว่า คนที่หนีจากมิลานลงภาคใต้ของอิตาลีน่าจะเป็นพาหะโรคระบาดใหม่ลงสู่เขตเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรมทางใต้ของอิตาลี อันเป็นสาเหตุแห่งหายนะทั่วอิตาลีด้วยภัยจากโรคระบาดครั้งใหญ่นี่เอง

ตอนที่เขียนบทความนี้ คนอิตาลีตายไปแล้วเป็นพันคน ส่วนหนึ่งตายอย่างอเนจอนาถใจนัก ไม่มีเตียงรักษาไข้ หมอมีไม่เพียงพอ อิตาลีต้องเร่งให้นักศึกษาแพทย์ที่กำลังเรียนอยู่เรียนจบโดยไวเพื่อเอามาต่อกรกับการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้

จริงหรือเปล่าไม่ทราบ รัฐบาลอิตาลีต้องขอร้องให้ทหารอิตาลีนำรถบรรทุกมาช่วยขนศพไปฝังยังสถานที่ที่ห่างใกล้ออกไป

 

ตัวอย่างที่บ้านเรา

ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ ผมลืมนับเวลาที่รัฐท่านตัดสินใจจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อไร

แต่ช่วงแรกดูเหมือนรัฐท่านยังไม่แน่ใจว่า โรคระบาดใหม่จะกระทบต่อไทยอย่างไร

เรื่องนี้หากย้อนกลับไปตอนนี้ การเมืองในรัฐสภากำลังเข้มข้นด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ผู้คนกำลังอินกับความหยาบคายแห่งกาย วาจาและใจของนักการเมืองท่านผู้ทรงเกียรติ ทรงภูมิทั้งในและนอกรัฐสภา สมาชิกแห่งรัฐท่านก็มีประพฤติปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกัน ระหว่างที่ขุดวิชามารต่อมารด้วยกัน การรุกฮือแห่งทศวรรษก็อุบัติขึ้นด้วย ขบวนการทางสังคมใหม่ ในนามของนิสิต นักศึกษา

รัฐท่านจึงมิได้เพ่งพินิจกับมหันตภัยแห่งโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่มีใครเอาชนะได้

แต่ทว่ารัฐท่านหมกมุ่นกับศัตรูการเมืองจากนักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น อีกทั้งยังตื่นตระหนกต่อศัตรูทางการเมืองตัวใหม่ที่ท่านๆ ประกอบสร้างขึ้นมานั่นคือ นิสิตอายุ 17 เท่านั้น

ดังนั้น รัฐท่านจึงกระโดดเข้าไปขวางการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาที่ก่อตัวทั่วประเทศ โดยอ้างโรคระบาดใหม่ ห้ามชุมนุม

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โครงสร้างการเมืองระบบอุปถัมภ์และการเมืองภายในบั่นทอนการบริหารและการจัดการต่อโรคระบาดใหม่

ผมอาจจะผิด ผมคิดว่า คณะกรรมการโรคโควิด-19 (ชื่อทำนองนี้) ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหม่ในประเทศไทยเกือบ 2 เดือนแล้ว

หน้ากากอนามัยหายไปไหน? ใครได้ ใครเสีย ไข่ไก่ส่งออกไปต่างประเทศ ใครรวย นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แห่งการเมืองภายในที่เน่าและเน่าสนิทแห่งการเมืองไทยในยามนี้

เน่า เน่าสนิท

 

หลังจากนั้น การสื่อสารกับประชาชนผิดพลาดซ้ำๆ ซากๆ จวบจนปัจจุบันทั้งภาษากายและภาษาพูด

แล้วการแพร่กระจายของโรคก็ไปทั่ว จากสนามมวย ผับ บาร์ แหล่งบันเทิงในย่านดังของบรรดาเซเลบเมืองไทย คนรวยที่ไปเที่ยวเมืองนอก ทั้งที่เมืองนั้นคือ เมืองเสี่ยงต่อโรค งานบวช งานทำบุญบ้าน ชาวบ้านแห่ไปซื้อล็อตเตอรี่ ชาวบ้านแห่ไปขอหวยหลวงพ่อกันนับหมื่น ชาวบ้านในชนบทก็เป็นสปอตแห่งการแพร่ระบาดของโรคพอๆ กับสถานีรถขนส่ง และด่านเข้า-ออกไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน

ผมได้แต่คิดว่า รัฐท่านจะดูตัวอย่างดีๆ ในต่างแดน แต่ไม่เอาเยี่ยงอิตาลี ไม่ทราบว่า ผมมองโลกในแง่ดีเกินไปไหมครับ

สำหรับผม อย่าไว้วางใจรัฐ