‘วิโรจน์ ณ ระนอง’ ถอดโมเดล โควิดจากอิตาลีถึงอเมริกา บทเรียนที่ห้าม (เลียน) แบบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือที่เราเรียกกันอีกชื่อว่าไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ มีทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด อย่างเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และกลุ่มประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างเช่น อิตาลี สเปน อิหร่าน หรืออาจจะรวมถึงพี่ใหญ่ของโลกอย่างอเมริกา ที่จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ ตัวเลขของผู้ป่วยสะสมพุ่งไปกว่า 150,000 ราย เสียชีวิตไปเกือบๆ 3,000 ราย ส่วนประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังคงขยับทุกวัน เพิ่มบ้าง ลดบ้าง รายวัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วตัวเลขก็ยังคงอยู่ในหลักร้อยเกือบทุกวัน

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI วิเคราะห์สถานการณ์การรับมือการระบาดของโควิด-19 ในไทยกับมติชนทีวีและมติชนสุดสัปดาห์อย่างมีประเด็น

“ตัวเลขผู้ป่วยรายวันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ และก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถตรวจได้หมดทุกคน แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางที่กำลังจะเกิดขึ้น” ดร.วิโรจน์กล่าว

 

ตัวเลขที่ลดลงในแต่ละวันที่มีการประกาศไม่ได้แปลว่าเราคุมสถานการณ์อยู่ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากมีการปิดห้างร้านในกรุงเทพมหานคร คนต่างจังหวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแห่กลับกันไปจำนวนมาก ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในต่างจังหวัดก็เริ่มมียอดเข้ามาเร็วขึ้น

และถ้าเอาจริงๆ ก็จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยโดยรวมในแต่ละวันที่ขยับเพิ่ม มีความน่ากังวลน้อยกว่าที่แพทย์บางท่านออกมาประเมินว่า เราจะมีผู้ป่วยเพิ่มวันละ 33% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เรายังไม่ถึงขั้นนั้นและดีกว่านั้น

แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไว้วางใจได้

ดร.วิโรจน์ยังตั้งข้อสังเกตกรณีของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ออกมาประกาศว่าจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วยได้อีกแค่ 10-11 วัน ถ้ายังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน แม้ว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีระบบการรักษาพยาบาลที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังแสดงความเป็นห่วงตั้งแต่แรกเริ่มการระบาดของโควิด-19 ว่าสถานพยาบาลที่มีจะไม่เพียงพอรักษาผู้ติดเชื้อ

เมื่อหันมามองระบบของไทย ซึ่งมักจะชอบพูดแค่ข่าวดี หลบเลี่ยงข่าวร้าย บอกมาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดว่า เราจัดการได้ เราเอาอยู่ ซึ่งถ้าดูในระยะสั้นก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อจำนวนผู้ป่วยที่ต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งขึ้นรวดเร็ว ระบบไหนๆ ในโลกก็เอาไม่อยู่

อิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ ดร.วิโรจน์หยิบยกมาพูดคุย โดยบอกว่าอิตาลีเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากและเขาก็มีระบบที่รองรับจำนวนผู้สูงอายุของเขาอยู่แล้ว แต่เมื่อระบบรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันไม่ไหว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แพทย์ต้องตัดสินใจว่า ถ้าผู้ป่วยอายุ 80 ขึ้นไปอาจจะไม่รักษาให้ เป็นสถานการณ์ที่พอถึงจุดหนึ่ง ต้องมาตัดสินใจกันว่าจะรักษาใครก่อนหลัง

ไทยเองยังไม่ถึงจุดนั้น แต่เราก็มีความพยายามเพิ่มโรงพยาบาลสนาม อย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวมถึงที่อื่นๆ ซึ่งรวมๆ แล้วตอนนี้ก็น่าจะหลักพันเตียง แต่เราก็ยังเจอสภาพความตึงตัวของระบบ โดยรวมทั้งจำนวนหน้ากาก น้ำยาตรวจ ชุดป้องกันต่างๆ ซึ่งเราไม่สามารถประมาทได้เลย

ถ้ามีผู้ป่วย 3,000 ถึง 4,000 ไหวมั้ย?

ดร.วิโรจน์ตอบว่า “หนักมากๆ” คือคำตอบและยังบอกอีกว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงแรกผู้ป่วยจะมาที่โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ อย่างบำราศนราดูร หรือโรงพยาบาลราชวิถี แต่เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มมีคนป่วยในต่างจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์จะเป็นจุดที่ผู้ป่วยจะไปรักษาเป็นจำนวนมาก

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า โรงพยาบาลเหล่านี้ก็ไม่ได้มีศักยภาพดีเท่าโรงเรียนแพทย์หรือบำราศนราดูร พอมีผู้ป่วยมากขึ้น การจัดการก็จะยาก เราก็จะเห็นยอดผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยโคม่ามากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์ของไทย ณ เวลานี้เรายังไม่ถึงขั้นอิตาลี แต่ว่าไม่ว่าประเทศไหนก็สามารถที่จะไปถึงขั้นอิตาลีหรือสเปนได้ไม่ยากเลย เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เมื่อไหร่ที่ศักยภาพในการรักษาเต็ม คุณภาพในการรักษาก็จะลดลง

สำหรับแนวคิดการปล่อยให้เกิดระบาดในวงกว้าง และปล่อยให้ประชากรในประเทศเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศใช้แนวทางนี้ ดร.วิโรจน์ย้ำว่า เมื่อรัฐบาลอังกฤษปล่อยระยะมาถึง 2 สัปดาห์ จนเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเท่าตัวในทุก 5 วัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ซึ่งตอนนี้ก็ติดเชื้อเรียบร้อยแล้วก็ได้เปลี่ยนใจเลิกใช้วิธีนี้

แต่แนวคิดนี้ก็มาจากพื้นฐานที่อังกฤษคาดการณ์ว่า ไม่น่าจะมีกำลังพอที่จะรับมือจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเช่นเดียวกับเยอรมนี ที่ผู้นำอย่างนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ออกมาย้ำว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่ยังไม่รู้จะด้วยชีวิตคนจำนวนเท่าไหร่

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในประเทศที่แม้เขาจะมีระบบที่ดี แต่เขาก็ยังตระหนักว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีมาก สิ่งที่สำคัญทั้งรัฐและเอกชนจะต้องเตรียมรับมือไม่ใช่แค่ออกมาบอกว่า เราเอาอยู่ ระบบเราดีเป็นต้นๆ ของโลก

ซึ่งต่อให้ระบบเราดีที่สุดในโลกก็จะเอาไม่อยู่ ถ้าจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นมาก

เรื่องของมาตรการต่างๆ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การจำกัดการเดินทาง เหล่านี้เหมาะสมหรือยัง ช้าไปหรือไม่?

ดร.วิโรจน์บอกว่า หลายคนก็คงมองช้าไป แม้ช้าแต่ก็ต้องทำต่อ เพราะไม่มีทางเลือกทางอื่น ถ้าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น พอระบบเรารับไม่ไหว ความโกลาหลมันก็จะตามมา ไม่ว่าจะต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือว่าต่อเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ย่อมหนีไม่พ้น

ถ้าดูมาตรการต่างๆ ที่ออกมา นักวิชาการด้านสาธารณสุขหลายๆ คนก็ยังมองว่ายังไม่เข้มพอ ทั้งในด้านการติดตามผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการตรวจเชื้อ ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร

เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการเข้มขึ้น และก็ต้องยอมรับว่ามาตรการที่เราใช้อยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำให้ปัญหาจบลงได้อย่างเด็ดขาด

เช่น มาตรการ Social Distancing ถ้าเราเปิดกลับมาเป็นปกติ การระบาดก็คงจะกลับมา แต่ก็หวังว่าจำนวนผู้ป่วยจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ระบบสาธารณสุขเรารับมือไหว

คำถามต่อมาคือ “ห้ามคนไม่ให้ติดเชื้อเลยคงยาก แต่ขอให้ติดเชื้อในจำนวนที่เราดูแลได้” ดร.วิโรจน์ตอบว่า ใช่!! และขณะนี้หลายๆ ประเทศกำลังใช้แนวทางนี้ แล้วก็หวังว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะไม่ทะลุไปเหมือนกับอิตาลี

สําหรับประเด็นเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน ด้วยความสงสัยว่า จำนวนตัวเลขที่ภาครัฐเปิดตัวเลข 3 ล้านคน ไปๆ มาๆ ตัวเลขทะลุ 20 ล้านไปแล้ว เราจะเอาเงินจากไหนมา ดร.วิโรจน์บอกว่า ตัวเลข 3 ล้านคนเป็นตัวเลขประเมินมาเพื่อทำงบฯ และเป็นตัวเลขที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนว่าจะลงทะเบียนทันไหม รวมทั้งกังวลว่าจะมีการล็อกคนไหม ซึ่งตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงความตระหนักน้อยเกินไปของภาครัฐที่คิดว่าจะใช้เงินไม่มากในการแก้ปัญหา

แต่ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ ประเทศอังกฤษแม้จะพรรคอนุรักษนิยม แต่ก็มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนจำนวนมาก ประเทศที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วส่วนใหญ่จะมองออกว่าแม้จะเป็นวิกฤตสุขภาพ แต่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

สุดท้ายแล้ว เราอยู่ในสถานการณที่ถึงแม้จะเลวร้าย แต่ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราเอาชนะโรคซาร์ส เอาชนะโรคเมอร์ส เอาชนะไข้หวัด 2009 มาได้ ก็มั่นใจว่าเราจะเอาชนะในครั้งนี้ได้เช่นกัน

แต่ว่าระหว่างนี้มันก็เป็นวิกฤตที่ชีวิตความเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนแปลงไป มันก็อาจจะมีความหดหู่ ส่วนหนึ่งอนาคตมันก็ยังไม่เห็นชัดว่ามันจะดีขึ้นเมื่อไหร่ แต่ว่าตอนจบก็ขอให้มั่นใจ โดยขอยืมคำคุณประยุทธ์ที่ว่า เราจะชนะ

เป็นประโยคที่ ดร.วิโรจน์ทิ้งท้ายไว้