อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การทูตแบบไหน?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP

สื่อมวลชนชื่อ Politico 8 กุมภาพันธ์ 2017 เรื่อง Trump”s Faux-pas diplomacy(1) รายงานว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาใช้เวลามากในการใช้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส Francois Hollands และผู้นำประเทศอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้รายละเอียดการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำฝรั่งเศสว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พูดถึงเรื่องการต่อสู้กับการก่อการร้ายกับ Islamic State

ประธานาธิบดีทรัมป์มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นส่วนตัว รวมทั้งความคิดที่เชื่อว่า สหรัฐอเมริกากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนและองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ

เรื่องหนึ่งที่มีการหยิบยกกันขึ้นมาคือ ฝรั่งเศสยังคงปกป้อง NATO ได้ แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา ตามความคิดของประธานาธิบดีทรัมป์ NATO ต้องการเงินของสหรัฐอเมริกา (2)

 

สิ่งเหล่านี้มีการวิเคราะห์ว่า นี่เป็นบทสนทนาที่ยุ่งยาก เพราะประธานาธิบดีทรัมป์พูดเหมือนกับที่พูดในที่สาธารณะ สิ่งนี้ “ไม่ใช่แนวทางปกติ” (unconventional) ที่หัวหน้ารัฐบาลพูดกับผู้นำชาติอื่นๆ เวลาประธานาธิบดีทรัมป์พูดก็มีคำขวัญหรือสโลแกน และการสนทนานั้นไม่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

มีการเผยแพร่การยกหูโทรศัพท์พูดคุยระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำต่างประเทศซึ่งกำลังก่อให้เกิดข้อสงสัยมากมายเพิ่มขึ้นถึง “รูปแบบ” ทางการทูตของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่โลกมีความไม่แน่นอน (uncertainty) สูง

นักการทูตและนักการเมืองมองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้แนวทางที่ไม่ดี และเป็นส่วนตัวในการทำงานกับผู้นำต่างประเทศ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกพันธมิตรดั้งเดิม แต่ก่อให้เกิดศัตรูเพิ่มมากขึ้น

หลายครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์และทำเนียบขาวต้องออกมาทำให้เรื่องนี้กระจ่างมากขึ้น ภายหลังจากมีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวเตือนประธานาธิบดีเม็กซิโก Enrique Pena Nieto ว่าทรัมป์ต้องส่งกองกำลังไปเม็กซิโก และประธานาธิบดีทรัมป์ตอบโต้กับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Malcolm Turnbull ที่วางข้อตกลงกับรัฐบาล บารัค โอบามา ในการจัดการใหม่กับค่ายผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียโดยให้รัฐบาลออสเตรเลียทำตามนั้น

ทางฝ่ายทำเนียบขาวได้อธิบายว่า การโทรศัพท์ของประธานาธิบดีทรัมป์ถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส Holland เป็นการยืนยันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงสนับสนุนการทำงานของ NATO คือให้ความสำคัญกับ NATO เห็นความสำคัญของการเป็นพันธมิตรเดิม (traditional allies) กับทุกประเทศใน NATO ในการรับภาระการใช้จ่ายด้านงบประมาณทหาร

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ต่างจากทางทำเนียบขาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายกระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคงและทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดี อีกทั้งมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม

แต่ความสับสนจนถึงยุ่งเหยิงจนเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงก็ยังมี

เพราะแต่ละคำพูดและการสนทนาของทรัมป์นับเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เช่น ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ทำไมทรัมป์จึงหยิบยกประเด็นจีนมาพูดคุยกับผู้นำฝรั่งเศส

จู่ๆ ทำไมประธานาธิบดีทรัมป์จึงยกหูโทรศัพท์ไปคุยกับผู้นำไต้หวัน ซึ่งเป็นการยกเลิกนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

การยกเลิกนโยบายจีนเดียวของสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่อะไร ในทิศทางไหน และเกิดผลเสียอย่างไร


ข้อวิเคราะห์

นี่อาจไม่ใช่เรื่องเล่น เรื่องบังเอิญ เพราะมีข้อสังเกตว่า ในอาทิตย์แรกที่ โดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์กับผู้นำต่างประเทศคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก รัสเซียและญี่ปุ่น ล้วนมาจากข้อเสนอแนะเล็กน้อยจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นการให้คำแนะนำที่เป็นเพียงการสรุปเหตุการณ์ปกติ เรื่องสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น คำถามใหญ่จึงเกิดขึ้นต่อตัวประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อสหรัฐอเมริกาและต่อโลก

ในแง่หลักปฏิบัติทางการทูต นี่อาจเป็นการพูดคุยมากกว่าการทูตในรูปแบบและเป็นการส่วนตัว เป็นการพูดเหมือนตอนหาเสียง ปัญหาคือ การพูดคุยเหล่านี้เป็นการพูดคุยส่วนตัวได้หรือ หรือพูดคำใหญ่เหมือนตอนหาเสียงได้ด้วยหรือ ตอนนี้ไม่ใช่เวลาหาเสียง แต่คำพูดของประธานาธาธิบดีมีผลทางกฎหมายและนับเป็นนโยบายและมีผลในทางปฎิบัติได้เลย

ที่ใหญ่ไปกว่านั้น สิ่งที่ทรัมป์พูดเป็นคำพูดหรือนโยบาย นโยบายเหล่านี้คือนโยบายอะไร นโยบายที่เน้นการกลับไปสู่เรื่องภายในประเทศมากกว่าภายนอก เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อพันธมิตรหรือ ระบบสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรในโลกตะวันตกจะเปลี่ยนแปลงไป ประเด็นคือ เปลี่ยนแปลงไปทางไหน

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ทรัมป์พูดทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตีความผิดซึ่งเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนีและออสเตรเลียไม่พอใจที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเข้ามาสั่งสอนและยุ่มย่ามเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยในประเทศของเขาซึ่งพวกเขามีนโยบายและวิธีการจัดการของเขาอยู่แล้ว

แต่ผู้นำชาติมหาอำนาจกำลังงงและตีความไม่ได้ว่า นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อชาติพันธมิตรเดิมจะเป็นอย่างไร ยังเป็นมิตรและร่วมมือในกรอบกติกาเดิมต่อไป หรือสหรัฐอเมริกาจะอยู่อย่างโดดเดียว ปิดตัวเอง เป็นต้น

ตอนนี้ไม่ใครรู้ว่า ใครมีบทบาทที่แท้จริงในนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี ทีมงานของประธานาธิบดี กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ฝ่ายความมั่นคง เหตุเพราะการทูตรายวัน การทูตทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และผู้นำชาติต่างๆ

ประเด็นคือ ใครจะได้รับความเสียหายจากของเล่นนี้

คนอเมริกัน หรือประชาคมโลก หรือทั้งหมด

1Tara Palmeri, Kenneth P. Vogel, Josh Dawsey and Nahal Toosi, ” Trump”s Faux-pas diplomacy” Politico 8 February 2017.

2Ibid.,