วงค์ ตาวัน : วิชาเอฟบีไอ

วงค์ ตาวัน

แม้ว่าตำรวจไทยเรายังมีนอกลู่นอกแถวอยู่มาก เป็นข่าวเสียหายอยู่บ่อยๆ เรื่องจับแพะชนแกะก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าไม่เอาอคติมาบดบังมากเกินไป หากศึกษาหาข้อมูลตามความเป็นจริง ก็จะพบว่า มีการพัฒนาหน่วยตำรวจในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับอยู่เหมือนกัน

โดยเฉพาะการยกระดับด้านการสืบสวนสอบสวน

แล้วสิ่งที่เป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างหนึ่งก็คือ คดีใหญ่ๆ คดีดังๆ ที่สังคมสนใจจับตามอง และเกิดข้อครหาโจมตีว่าตำรวจจับผิดจับแพะอย่างอื้ออึงนั้น

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผลของคดีใหญ่ๆ ในรอบหลายปี ที่โดนโจมตีว่าจับมั่ว จนชาวบ้านเชื่อกันไปตามกระแสแล้วว่า จับผิดตัวแน่ๆ

“แต่ลงเอยแล้ว หลายคดีดังๆ ศาลตัดสินตามพยานหลักฐานที่ตำรวจนำเสนอโดยส่วนใหญ่ โดยศาลเองเห็นว่าน้ำหนักของสำนวนคดีที่ตำรวจรวบรวมเสนอผ่านอัยการนั้น เชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ถูกกล่าวหากระทำผิดจริงตามที่ถูกจับและส่งฟ้อง”

ยกตัวอย่าง คดีเอกยุทธ อัญชันบุตร โจมตีกันหนัก ไม่เชื่อว่าที่ตำรวจจับคนขับรถโดยพบมูลเหตุประสงค์ต่อทรัพย์นั้น เป็นคนร้ายตัวจริง โดยเชื่อกันว่าฆ่าเอกยุทธด้วยสาเหตุทางการเมืองมากกว่า

แต่คดีนี้ผ่านการพิจารณามาแล้ว 2 ศาล พิพากษาว่าจำเลยผิดจริงทั้ง 2 ศาล ลงโทษสถานหนักด้วย

“ที่สำคัญจนป่านนี้แล้วจำเลยทั้งหมดไม่มีใครปฏิเสธข้อหาเลย ไม่มีใครโวยวายเลยว่า ตนเองเป็นแพะ”

คดีสังหาร 2 นักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า ที่มีการจับกุมแรงงานต่างด้าวเป็นจำเลย ในชั้นสอบสวนสารภาพอย่างหมดเปลือก แต่พอขึ้นศาลเปลี่ยนเป็นปฏิเสธ สุดท้ายศาลพิพากษาประหารชีวิต ไม่มีรอลงอาญา ตัดสินยืนถึง 2 ศาลแล้ว

หากอ่านรายละเอียดคำพิพากษาของศาลจะพบว่า ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่ใช้จับกุม 2 แรงงานต่างด้าว และใช้ในการส่งฟ้องต่อศาลนั้น มีความน่าเชื่อถืออย่างสูง ผลตรวจใช้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ชัดเจน

“ขัดกับกระแสโจมตีในโซเชียลมีเดียอย่างยิ่ง”

หรือแม้แต่คดีครูจอมทรัพย์ ที่เข้าร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมว่าตนเองเป็นแพะในคดีขับรถชนคนตาย

กลายเป็นข่าวฮือฮาอยู่พักใหญ่ และคนส่วนใหญ่ก็เชื่อในทันทีว่า เป็นการจับมั่วแน่นอน

แต่ต่อมา เมื่อฝ่ายตำรวจรวบรวมข้อเท็จจริงออกมาอธิบายต่อสังคม หากไม่เอาอคติมาบดบัง จะพบว่ารายละเอียดที่ตำรวจนำเสนอนั้น หนักแน่นหลายประเด็น

จนสุดท้ายเมื่อศาลเปิดไต่สวน เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะรื้อฟื้นคดีนี้ใหม่หรือไม่ พบว่าการสู้คดีของฝ่ายกระทรวงยุติธรรม กลับเปลี่ยนประเด็น

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดพยานเอกที่ใช้อ้างเพื่อขอรื้อฟื้นคดี คือ นายสับ วาปี อันเป็นบุคคลที่อ้างตัวว่า เป็นคนขับรถชนคนตายตัวจริง หาใช่ครูจอมทรัพย์!?!”

นั่นเพราะตำรวจได้นำพยานหลักฐานมาชี้ให้เห็นว่าพยานปากนี้มีพิรุธมากมาย

อย่างไรก็ตาม คดีครูจอมทรัพย์ คงต้องรอศาลสรุปผลว่า คำไต่สวนของฝ่ายกระทรวงยุติธรรม

มีน้ำหนักมากพอจะเชื่อได้ว่าครูจอมทรัพย์ไม่ได้กระทำผิดจริง จนต้องรื้อคดีนี้ใหม่หรือไม่

 

ความผิดพลาดของตำรวจในอดีต ที่มีการจับแพะกันบ่อยๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการสืบสวนสอบสวนยังโบราณอยู่ เน้นไปยังพยานบุคคล ขาดการให้น้ำหนักพยานหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ จนต่อมาองค์กรตำรวจก็รู้ดีว่า อ่อนด้อยด้านวิทยาการ จึงเพิ่มการยกระดับกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการสืบสวนสอบสวนพยานบุคคล

โดยการยกระดับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจนั้น ที่เป็นโครงการใหญ่ล่าสุดคือ การเชิญอาจารณ์ตัวจริงเสียงจริงจากหน่วยงานระดับโลก คือ เอฟบีไอหรือสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา จากสำนักงานตำรวจลับสหรัฐอเมริกา หรือ Secret Service และจากดีอีเอหรือสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา

“มาจัดอบรมให้กับตำรวจที่รับผิดชอบงานสืบสวนของไทย ระดับ พ.ต.อ. และ พ.ต.ท. จากทุกหน่วยทั่วประเทศ รวม 152 นาย”

อันที่จริงตำรวจไทยมีโควต้าเดินทางไปเรียนที่สถาบันฝึกอบรมของเอฟบีไอทุกปี แต่จำนวนแค่ 3 นาย ครั้นเมื่อกลับมาถึง จึงไม่สามารถนำวิชาความรู้ที่ได้มาเพื่อใช้ได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม หรือไม่สามารถขยายความรู้ต่อได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“จนกระทั่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ซึ่งเติบโตมาสายนักสืบ เห็นความสำคัญกับการพัฒนาวิชาความรู้ด้านนี้ และเกิดไอเดียในการทำให้ตำรวจไทยได้เรียนรู้วิชาเอฟบีไออย่างกว้างขวางกว่าเดิม จึงจัดหางบประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อเชิญอาจารย์จาก 3 หน่วยงานสำคัญๆ ของสหรัฐ เดินทางมาอบรมตำรวจไทย ซึ่งทำได้คุ้มค่ามากกว่า”

โดยลงทุนเชิญอาจารย์ตัวจริง มากินอยู่ในไทย เพื่อจัดอบรมนักสืบไทย 152 นาย เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เรียนกันแบบเข้มข้น คือ ใช้สถานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ทั้งหมดกินอยู่ในนั้นตลอดช่วงอบรม ไม่ให้กลับบ้าน

เรียนทั้งทฤษฎีงานสืบสวนของหน่วยงานมาตรฐานโลก โดยเฉพาะงานสืบสวนยุคใหม่ เช่น อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ สายลับ ก่อการร้าย ไปจนถึงภาคปฏิบัติ เพิ่มความแข็งแกร่งทางร่างกาย ด้วยวิธีเดียวกับที่ใช้สถาบันเอฟบีไอ

โครงการนี้เริ่มเป็นครั้งแรก เปิดอบรมตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม เสร็จสิ้นเมื่อ 10 มีนาคม

“จากนี้ตำรวจทั้ง 152 นาย ที่ได้เคล็ดวิชานักสืบชั้นยอดและทันสมัยในยุคดิจิตอล จะได้นำไปใช้ในงานสืบสวนของแต่ละหน่วย พร้อมทั้งขยายต่อความรู้ให้กับลูกทีมในหน่วย”

ขณะเดียวกัน ทั้ง 152 นายที่ผ่านหลักสูตร ก็จะกลายเป็นเครือข่ายในการประสานข้อมูลร่วมกับเอฟบีไอ ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจะได้เรียนรู้งานของเอฟบีไอต่อเนื่องต่อไป

ดูเหมือน พล.ต.อ.จักรทิพย์ เจ้าของไอเดีย จะพอใจในโครงการนี้มาก คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 จะต้องเปิดอีกแน่นอน

 

มีคดีระเบิดที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อสิงหาคมปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นสุดยอดฝีมืองานสืบสวนของตำรวจไทย เพราะเป็นการวางระเบิดโดยผู้ก่อเหตุข้ามชาติ ซึ่งตำรวจไทยไม่เคยมีประวัติของคนเหล่านี้ในสารบบเลย

แต่ด้วยการไล่กล้องวงจรปิดอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นชายลักษณะต่างชาติคล้ายแขกขาว เป็นผู้นำเป้มาวาง แล้วเกิดระเบิดในจุดนั้น

จากนั้นประสานการข่าวกับหน่วยงานสากล ก็ได้ข้อมูลรวดเร็วว่า มีกลุ่มอุยกูร์เดินทางเข้ามาก่อนหน้านั้น ถัดมา อาศัยงานสืบสวนทางเทคโนโลยี และมีการประสานงานข้ามชาติ จนทำให้ได้ร่องรอยของคนร้ายทีมนี้ จนกระทั่งจับกุมได้ในเวลาไม่นานนัก

“อันที่จริง หากตำรวจไทยไม่พัฒนางานด้านสืบสวนและการใช้เทคโนโลยี โอกาสที่จะจับกุมคนร้ายคดีนี้ค่อนข้างยาก”

ที่สำคัญคนร้ายทีมนี้รอบคอบ การใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน ก็เป็นเครือข่ายที่ยากในการเข้าถึงของตำรวจไทย

แต่สุดท้ายคดีนี้ก็จับกุมได้สำเร็จ อันบ่งชี้ถึงการยกระดับงานสืบสวน โดยเฉพาะต่อเป้าหมายคนร้ายข้ามชาติ

ผลงานจับกุมอุยกูร์มือระเบิดศาลพระพรหมนั้น เป็นตำรวจชุดที่มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นหัวหน้า ซึ่งขณะนั้นเป็น รอง ผบ.ตร.ฝ่ายสืบสวนปราบปราม

“ครั้นเมื่อขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. ต้องทำหน้าที่บริหารหน่วยให้รุดหน้า”

ความคิดในการจัดงบประมาณ แล้วเชิญปรมาจารย์จากเอฟบีไอและหน่วยตำรวจระดับพระกาฬของสหรัฐ ให้มาอบรมตำรวจไทยทีละหลายร้อยนาย

จึงเป็นความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตำรนวจนักสืบให้ยกระดับขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

เป็นการยกหน่วยเอฟบีไอมาไว้ในไทย เพื่อสร้างตำรวจไทยให้ก้าวไปในระดับโลกให้ได้!