ธุรกิจพอดีคำ : “ของคุยกัน”

ลองจินตนาการตามนี้

คุณเป็นเด็กน้อย อายุ 1 ขวบ เติบโตขึ้นมาในบ้านหลังหนึ่ง

คุณไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยสร้างขึ้นมาในโลกใบนี้

ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ ทีวี ตู้เย็น หลอดไฟ รถยนต์

คุณสังเกตเห็นคุณแม่ของคุณเดินไปที่ “ปุ่มเล็กๆ” แปะอยู่ข้างกำแพง

ทันใดนั้น ที่แม่ของคุณ “กด” เจ้าปุ่มเล็กๆ นั่น

มีเสียงดัง “แป็ก” และ “หลอดไฟบนเพดาน” ข้ามไปอีกห้องหนึ่ง ก็ส่องสว่างขึ้นมา

ถ้าคุณเป็นเด็กคนนั้น ที่ยังไม่เคยรู้เรื่องการทำงานของสวิตช์และหลอดไฟเลย

คุณคิดว่า “สวิตช์และหลอดไฟ” สื่อสารกันอย่างไร

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมจบการศึกษาคลาสออนไลน์ของ “มหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT)” ไปหนึ่งเรื่อง

ใช้เวลาในการเรียนหลังเลิกงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ชั่วโมง

เป็นหัวข้อที่คนพูดถึงกันมาก นั่นคือ “อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things) หรือ ไอโอที (IoT)”

เทคโนโลยีที่เขาพูดกันว่าจะมาเปลี่ยน “วิถีชีวิต” ของมนุษย์เรา ในไม่ช้า

ในชั้นเรียนแรกสุด อาจารย์ได้เปรียบเทียบเจ้าเทคโนโลยีนี้ไว้อย่างน่าสนใจครับ

เขาบอกว่า เทคโนโลยี IoT ก็เหมือนกับ “ร่างกาย” มนุษย์ครับ

สมมุติว่า เป็นเวลาเที่ยงตรง

กระเพาะของเราเริ่มร้อง น้ำย่อยเริ่มทำงาน ร่างกายของเราส่งชุดคำสั่งไปที่สมองว่า “หิวแล้วนะ ทานข้าวซะ”

เราก็อาจจะต้องเดินไปหา “กล้วย” สักใบมารองท้อง ตอบสนองต่อ “สัญญาณ” จากร่างกาย

เทคโนโลยี IoT ปกติแล้วจะประกอบด้วยสามอย่างด้วยกัน

หนึ่ง เซ็นเซอร์ที่รับรู้สภาพแวดล้อมต่างๆ

สอง ระบบประมวลผลและสั่งการ เพื่อตอบรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ประมวลผล และส่งชุดคำสั่งไปเพื่อตอบสนองข้อมูลนั้นๆ

สาม กลไกที่ตอบสนองการสั่งการนั้นๆ จากระบบประมวลผล

“เซ็นเซอร์” ก็เปรียบเสมือน “กระเพาะ” ว่างๆ ที่คอยบอกว่า มีอาหารให้ย่อยอยู่หรือไม่

ระบบประมวลผล ก็เหมือนกับ “สมอง” ที่รับสัญญาณจากกระเพาะอาหาร แล้วบอกกับร่างกายว่า “หิวแล้วนะ ไปหาอะไรมากินได้แล้ว”

สาม เครื่องมือตอบสนอง ก็คือ “แขนขา” ของเรา ที่เดินไปหยิบอาหารมาทาน เพื่อตอบสนองต่อ “คำสั่งจากสมอง”

กระเพาะส่งสัญญาณไปที่สมองว่า “หิวแล้ว” แขนขาตอบสนองให้ไปหาของกิน

ไม่ต่างกับเครื่องวัดอุณหภูมิ ที่เป็น “เซ็นเซอร์” วัดอุณหภูมิของห้อง

แล้วบอกกับ “ระบบประมวลผล” ว่าห้องนี้ “ร้อน” ไปแล้วนะ

ส่งสัญญาณไปที่เครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิ ให้ห้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม

แบบจำลองแบบง่ายสุดๆ ของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่เรียกว่า “Internet of Things”

เอ๊ะ แล้วมันจะมีผลกับชีวิตเราอย่างไรล่ะ

 

เวลา 7 โมงเช้า ณ อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพฯ

เครื่อง “ฟิตบิต (Fitbit)” ที่คล้องข้อมือ วัดผลกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันของผม

มัน “สั่น” เพื่อปลุกผมขึ้นมาต่อสู้กับวันใหม่ ในเมืองกรุงแห่งนี้

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ผมเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ของผมขึ้นมา

เช็กอี-เมล และข้อความที่ส่งเข้ามา

พร้อมทั้งกดเช็ก “แอพพลิเคชั่น” ของฟิตบิต

เพื่อดูว่า เมือคืนนี้ ผมนอนหลับดีไหม

เคลื่อนตัวมาก ตื่นกลางดึกหรือเปล่า

ผมลุกจากเตียง เดินเข้าไปในห้องน้ำ

ก่อนจะอาบน้ำ ผมชั่งน้ำหนักกับเครื่องชั่งน้ำหนักที่ส่งข้อมูลไปที่ “คลาวด์ (Cloud)”

ถังเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ กลางอากาศ ที่มีข้อมูลร่างกายของผม

ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนัก อาหาร โภชนาการ การออกกำลัง การนอนหลับ

เพื่อที่จะคำนวณว่าผมควรจะกินอาหาร ออกกำลัง ทำกิจกรรมระหว่างวันอย่างไร

ให้ “สุขภาพ” แข็งแรงอยู่เสมอ

โดยผมสามารถเข้าไปดูข้อมูล คำแนะนำต่างๆ ได้ ผ่าน “ฟิตบิตแอพพลิเคชั่น” ในโทรศัพท์มือถือ

 

ผมหยิบกล่อง “ข้าวโอ้ต” ทานคู่กับนมเป็นอาหารเช้าขึ้นมา

พร้อมหยิบมือถือของผม เปิดแอพพลิเคชั่น “มายฟิตเนสพาล (Myfitness-pal)”

ถ่ายรูป “บาร์โค้ด” ที่กล่องของข้าวโอ๊ต เพื่อหาข้อมูลคุณค่าทางอาหาร ในฐานข้อมูลมหึมาบนอินเตอร์เน็ต

ทานข้าวเช้าเรียบร้อย ผมขับรถออกจากบ้านเพื่อไปที่ “ยิม”

ผมมาที่ “เครื่องวิ่ง” ตัวโปรด

ใส่ “ไอดี (ID)” ของตัวเองเข้าไป เพื่อดึงข้อมูลการออกกำลังกายของผมออกมา

พร้อมทั้งเตรียมเก็บข้อมูลการออกกำลังในครั้งนี้

ไม่ว่าจะเป็น ความเร็ว ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ

หลังวิ่งเสร็จ ข้อมูลเหล่านี้จากเครื่องวิ่ง ก็จะถูกส่งไปประมวลผลรวมกันบน “คลาวด์”

และแสดงผลภาพรวมการออกกำลังกาย กิจกรรมของผมที่ “ฟิตบิตแอพพลิเคชั่น” บนโทรศัพท์มือถือของผม

ผมสามารถดูได้ว่า ผมทานสารอาหารครบหรือไม่ ออกกำลังพอหรือยัง

จะได้ตามเป้าหมายที่อยากจะ “ลดน้ำหนัก 5 กิโลในหนึ่งเดือน” หรือเปล่า

 

ผมขับรถกลับมาจอดที่โรงรถ เดินเข้าไปในบ้าน

ระหว่างนั้นหยิบมือถือขึ้นมาเปิดแอพพลิเคชั่น “เมโทรไมล์ (Metromile)”

เชื่อมต่อข้อมูลกับ “เซ็นเซอร์” ที่ติดที่รถของผมมาหลายเดือนแล้ว

ข้อมูลบนมือถือบอกว่า ผมเหยียบคันเร่งและเบรกสลับกันมากไป

ทำให้เปลืองน้ำมันมากกว่าที่ควรจะเป็น

และควรจะอุ่นเครื่องรถยนต์ก่อน จะทำให้สมรรถภาพเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมเดินมานั่งที่เก้าอี้ตัวโปรด เอนหลัง เปิดคอมพิวเตอร์ เพื่อวางแผน “พักร้อน” ยาวของปีนี้ ในสัปดาห์หน้า

เพื่อกันลืม ผมหยิบมือถือขึ้นมาเปิดแอพพลิเคชั่น “อีโคบี (Ecobee)” เพื่อตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิในบ้านล่วงหน้าให้เหมาะสมกับเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้าน

และตั้งรหัสล็อกอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชั่น “คีโว ล็อก (Kivo Lock)” ที่มาพร้อมกับตอนติดตั้งตัวล็อกหน้าบ้าน

เผื่อไว้สำหรับช่วงพักร้อน ที่จะไม่มีคนอยู่บ้านล่วงหน้าไปเลย

ขณะที่ผมกำลังหาที่เที่ยวในช่วงพักร้อนไปเรื่อยๆ

ผมก็ได้ “แจ้งเตือน” ผ่านมือถือขึ้นมาว่า “ประตูโรงรถ” ยังไม่ได้ปิด ผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดไว้

ผมจึงเอื้อมไปที่มือถือ สั่งการผ่าน “แอพพลิเคชั่น” ส่งคำสั่งไปที่เซ็นเซอร์หน้าบ้าน เพื่อปิดประตูโรงรถ

หลอดไฟภายในบ้าน ค่อยๆ สว่างน้อยลงเรื่อยๆ ตอบรับกับแสงของวัน ที่เล็ดลอดผ่านหน้าต่างเข้ามา

พร้อมกับเครื่องปรับอากาศที่ปรับการทำงานตามเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermostat) ภายในบ้าน

ด้วยจุดหมายเดียวคือ ค่าไฟฟ้าที่ราคาถูกที่สุด ตามการใช้งานที่ควรจะเป็น

นี่คือ ตัวอย่างเล็กๆ ของชีวิตในอนาคต

ที่ “สิ่งของ” คุยกัน เข้าใจกัน ทำงานร่วมกันได้ เหมือน “มนุษย์”

หรืออาจจะดีกว่า “มนุษย์” ด้วยซ้ำไป

 

ย้อนกลับมาใน “ความเป็นเด็ก” ไร้เดียงสา ที่เกริ่นไปข้างต้น ในเรื่องของการทำงานระหว่างสวิตช์และหลอดไฟ

ถ้าเป็นผู้ใหญ่ เราก็รู้ว่า แน่สิ มันก็คือสายไฟที่ต่อจากสวิตช์ไปที่หลอดไฟด้านหลังกำแพงไงเล่า

แต่ถ้าเป็นเด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องราว “หลังกำแพง” ล่ะ

เด็กๆ ที่เกิดขึ้นในยุคของ “Internet of Things” ที่สิ่งของติดต่อสื่อสารกันได้

เขาก็คงจะนึกว่า สวิตช์มันก็ต่อกับหลอดไฟ ผ่าน “ไวไฟ (wifi)” ที่บ้านไงล่ะ

ไม่ได้ต่างกับรีโมตทีวี ที่เปลี่ยนช่องทีวีได้ผ่านระบบอินฟราเรด

 

ลองจินตนาการว่า สวิตช์ไฟ ไม่ต้องติดกับหลอดไฟ ผ่านสายไฟ

ส่งสัญญาณเปิด-ปิด ผ่านอินเตอร์เน็ต

กำแพงไม่ต้องเจาะ เจ๊งก็ซื้อใหม่ สวิตช์จะเปลี่ยนที่ยังไง เมื่อไรก็ได้ ไม่ต่างจากรีโมตทีวี

การเดินสายไฟจะเปลี่ยนไป การสร้างบ้านจะเปลี่ยนไป

และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

จากเทคโนโลยีที่ใครๆ ก็พูดถึง – Internet of Things (IoT)