หนุ่มเมืองจันท์ | ไวรัส-ไวรัก

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

การเผชิญหน้ากับวิกฤต “โควิด-19” เสมือนหนึ่งเป็นสงครามของมนุษยชาติ

เหมือนมนุษย์กำลังสู้กับ “มนุษย์ต่างดาว” ในหนังแฟนตาซี

ทุกประเทศโดนโจมตีจากเจ้าไวรัสตัวใหม่อย่างพร้อมเพรียงกัน

แต่ที่น่ากลัวของสงครามครั้งนี้ก็คือ เรามองไม่เห็นตัวคู่ต่อสู้

มนุษย์กำลังสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น

แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยถือว่ายังไม่เลวร้ายสุดๆ

เมื่อเทียบกับจีน เกาหลีใต้ อิตาลี ฯลฯ แล้ว เราถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

ช่วงที่ผ่านมาเรายังรับมือไหว

คิดแบบเลวร้ายที่สุด ในกรณีที่เราติดไวรัส “โควิด-19” จริงๆ

ถ้าตัวเลขคนที่ติดเชื้อยังไม่พุ่งสูงจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว เป็นหลักพันหรือหมื่นคน

อัตราการรอดของเราก็สูงมาก

แต่ปัญหาของเจ้าไวรัสนี้คือ มันเป็นโรคระบาดที่ติดเชื้อกันง่าย และเมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

เครื่องช่วยหายใจไม่พอ

ชุดป้องกันการติดเชื้อของแพทย์ไม่เพียงพอ

แบบนี้จะหนักหนาสาหัสมาก

การระบาดของไวรัส “โควิด-19” สร้างความปั่นป่วนไปถ้วนทั่ว

ไปวงไหนก็คุยแต่เรื่องไวรัส

โซเชียลมีเดียก็มีแต่ข่าวนี้

จนมีคนบอกว่า “โอกาสติดไวรัส 1% แต่โอกาสประสาทแดก 100%”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด เหมือนมีแต่แง่มุมที่เลวร้ายไปหมด

แต่ไวรัส “โควิด-19” ก็มี “ข้อดี” เหมือนกันนะครับ

ถ้าพ้นผ่านจากมรสุมครั้งนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้น

มีอะไรบ้าง

ลองมาดูกัน

เรื่องแรก ทันทีที่เกิดเหตุไวรัส “โควิด-19” ซึ่งในช่วงแรกเรียกกันว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” เพราะมีจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

เราได้พบ “จุดอ่อน” สำคัญของธุรกิจการท่องเที่ยวไทย

นั่นคือ เราพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากเกินไป

พอเกิดปัญหา ธุรกิจท่องเที่ยวไทยวูบไปเลย

แต่ตอนหลังปัญหานี้หมดไป

ไม่ใช่แก้ปัญหาได้

แต่เพราะทุกประเทศเจอหมด

แทบจะไม่เหลือนักท่องเที่ยวชาติไหนเลย

แต่เรื่องนี้ที่สิงคโปร์เขาระวังมาก ไม่เหยียบคันเร่ง “นักท่องเที่ยวจีน” มากเกินไป

กระจายความเสี่ยงไปนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นด้วย

บทเรียนนี้น่าจะมีการปรับปรุงหลังวิกฤตนี้ผ่านไป

เราไม่ควรเอา “ไข่” ทั้งหมดใส่ตะกร้าใบเดียว

เจ้าไวรัสทำให้เราเข้าใจคำนี้ดีขึ้น

เรื่องที่สอง “ปัญหา” ทำให้เรา “ปรับตัว” และได้เรียนรู้สิ่งใหม่

ช่วงที่ผ่านมา มีคนเสนอให้บริษัทต่างๆ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน

ตั้งแต่การให้พนักงานทำงานที่บ้าน ลดเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง

เทคโนโลยีวันนี้ทำให้เราสามารถทำงานผ่านโซเชียลมีเดีย

ติดตามงานกันไม่ยาก

ประชุมก็เช่นกัน สามารถคุยกันผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย

ฟังดูแล้วทุกอย่างดีหมด

ถ้าทำงานแบบดูที่ “ผลงาน” ระบบนี้ดีมาก

แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังเคยชินว่าต้องเจอหน้ากัน และระแวงว่าพนักงานจะอู้งานหรือเป็นการทำลายระบบตอกบัตรที่ทำมานานแสนนาน

ความไม่คุ้นชินทำให้ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง

ยิ่งถ้าเป็นผู้บริหารอาวุโส เขาจะไม่คุ้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประชุมแบบเห็นหน้าแต่ไม่เห็นตัว

แฮ่ม…เรื่องนี้ผมเข้าใจ

พอผู้ใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยน ระบบการทำงานที่บ้านจึงไม่เกิดขึ้น

แต่ไวรัส “โควิด-19” ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

“ปัญหา” คือ “โอกาส”

เพราะแทบทุกบริษัทกลัวการแพร่กระจายของไวรัส มาตรการการทำงานที่บ้านหรือ workfrom home จึงเริ่มเป็นจริง

หลายบริษัทประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้าน

ถ้าประชุมก็ประชุมออนไลน์

ผู้บริหารเพิ่งรู้ว่าการทำงานที่บ้านได้ประสิทธิภาพไม่แพ้การทำงานที่ออฟฟิศ

ประหยัดค่าไฟด้วย

ที่สำคัญพอมีการประชุมออนไลน์เกิดขึ้น ปรากฏว่าการประชุมใช้เวลาน้อยลงแต่ได้เนื้อหาสาระกว่าประชุมแบบเห็นหน้า

เพราะทุกคนแย่งกันพูดไม่ได้

แย่งพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง

การประชุมออนไลน์บังคับให้ทุกคนฟังกันมากขึ้น

ครับ ถ้าไม่มีไวรัส สิ่งนี้คงไม่เกิด

ส่วนพนักงานพอได้ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางวันละ 2-3 ชั่วโมง

ชีวิตดีขึ้นมากเลย

ลองคิดดูสิครับ ถ้าไวรัสอยู่กับเมืองไทยอีก 3-4 เดือน อะไรจะเกิดขึ้น

ความเคยชินใหม่จะเกิด

ต่อไปการทำงานที่บ้านที่มีการพูดกันมานานก็จะเป็นจริง

ทำกันเยอะๆ ปัญหาการจราจรก็ลดน้อยลง

ฝุ่น PM 2.5 ก็จะหายไป

แค่คิดไวรัสก็น่ารักขึ้นเยอะ

แต่อย่าอยู่นานขนาดนั้นเลยครับ

เช่นเดียวกับเรื่องการเรียนออนไลน์

โลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในห้องเรียน

เราสามารถเรียนบนจอคอมพิวเตอร์ได้

มีความรู้ต่างๆ มากมาย

แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่สามารถเปิดหลักสูตรออนไลน์ได้

ส่วนหนึ่ง เพราะ “เคยชิน”

อีกส่วนหนึ่ง เพราะอาจารย์ไม่คุ้นกับการสอนออนไลน์

แต่เจ้าโควิด-19 ทำลายขีดจำกัดนั้นโดยสิ้นเชิง

เพราะมหาวิทยาลัยต้องปิด เพื่อไม่ให้นิสิต นักศึกษาเสี่ยงต่อการติดไวรัส

ทุกวิชาให้เรียนออนไลน์

เป็นการบังคับให้ใช้เทคโนโลยีใหม่

อาจารย์ที่ไม่เคยสอนก็ต้องสอน

จบจากไวรัสเมื่อไร ระบบนี้จะเริ่มใช้กันมากขึ้นแน่นอน

หรือเรื่องการสั่งอาหารให้ส่งตามบ้านก็เหมือนกัน

ตอนนี้ร้านอาหารทั้งหลายต้องขอบคุณไลน์แมน์-แกร็บฟู้ด-เก็ท ฯลฯ

เพราะยอดขายผ่านระบบเดลิเวอรี่เพิ่มสูงมาก

ไม่ใช่แค่ทดแทนยอดขายที่หายไป

แต่มากกว่าด้วย

คนไม่อยากออกไปทานอาหารนอกบ้านก็สั่งมากินที่บ้าน

ลูกค้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับโมบายแบงกิ้ง หรือช้อปปิ้งออนไลน์

วิกฤตนี้ได้สร้าง “ลูกค้าใหม่” แบบที่ไม่ต้องใช้งบฯ การตลาดสักบาทเดียว

หรือ “เน็ตฟลิกซ์” ก็เช่นกัน

เจอใครก็บอกว่าอยู่บ้านดูเน็ตฟลิกซ์

ในเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดีย มีแต่คนถามกันว่าดูเรื่องอะไรดี

เช่นกันครับ

ไม่ต้องใช้งบฯ การตลาดสักบาทเดียว

“โอกาส” มาเอง

มากับเจ้าไวรัส

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายคนลืมไป

ไวรัสโควิด-19 ทำให้คนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น

ไม่ออกไปเที่ยวไหน

มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าช่วงที่ผ่านมา

ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน

ทำกับข้าวกินกัน

ไวรัสโควิด-19 ทำให้เราได้รู้ความจริงเรื่องหนึ่งที่ลืมไปนาน

นั่นคือ… “เรารักกันแค่ไหน”