อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (18) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ยุคเรอเนสซองค์-Renaissance นั้นเป็นยุคที่เปรียบเสมือนการตื่นขึ้นจากความหลับใหลในยุคกลาง ดูเหมือนทุกคนจะออกแสวงหาหนทางในการเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ มนุษย์ที่รุ่มรวยในรสนิยม มนุษย์ที่มีอารมณ์อันละเอียดอ่อน พวกเขาต้องการหลุดพ้นจากอำนาจของศาสนจักรที่กำหนดทุกสิ่งมาสู่การค้นพบคุณค่าในตัวเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระผู้เป็นเจ้าถูกทำให้กระชับและซื่อตรงมากขึ้นผ่านการปฏิรูปศาสนา โรคร้ายที่อาละวาดในยุคก่อนหน้าหลอกหลอนพวกเขาและทำให้พวกเขาอยากหาหนทางออกจากบาดแผลอันน่ากลัวนั้น

วรรณกรรมคือสิ่งบันเทิงเริงใจไม่กี่อย่างหรืออาจเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจที่เข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางที่สุด

วรรณกรรมกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและบริโภคกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะในผลงานที่ผู้เขียนตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นต่อโลกรอบตัวอย่างคมคาย

และผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคสมัยนี้เป็นผลงานของนักเขียนหนุ่มชาวอังกฤษ นาม วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์-Williams Shakespeare

วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ หรือที่เรารู้จักกันในนามเช็กสเปียร์ เกิดในปี 1564 ราวหนึ่งร้อยปีหลังการเปลี่ยนแปลงในโลกการพิมพ์จากการคัดลอกด้วยมือมาสู่การพิมพ์โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์

ช่วงเวลาที่เช็กสเปียร์เข้าสู่โลกวรรณกรรมในฐานะของนักเขียนบทละครและกวีนั้น การพิมพ์กำลังอยู่ในยุคพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีโรงพิมพ์ถูกจัดตั้งขึ้นตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีพวกขุนนางและพ่อค้าอาศัยอยู่

ในยุคนั้นผู้จัดพิมพ์หนังสือหาได้ใช้คำศัพท์ว่า The Publisher แบบปัจจุบัน

หากแต่ใช้คำว่า ผู้ดูแลสถานีหรือผู้ดูแลพื้นที่-The Stationer (อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ร้านเครื่องเขียนในปัจจุบันยังใช้ Stationery อยู่จนถึงปัจจุบัน)

ในฐานะผู้ดูแลสถานีการพิมพ์ หน้าที่ของพวกเขาคือหาเงินมาจ่ายค่าต้นฉบับให้นักเขียน จัดตั้งกระบวนการขายผ่านทางพ่อค้าหนังสือเร่ (ซึ่งจะออกขายตามตลาดนัดและงานแฟร์ต่างๆ ทั่วประเทศอังกฤษ)

รวมถึงการแสวงหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาสำหรับการพิมพ์

ในยุคแรกไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังสือที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งคือพระคัมภีร์ไบเบิล

จากหลักฐานที่บันทึก ช่วงเวลาที่เช็กสเปียร์กำลังเริ่มต้นเขียนหนังสือนั้น พระคัมภีร์ไบเบิล มียอดการพิมพ์ซ้ำถึง 326 ครั้งแล้ว

 

ทว่า ก่อนที่การพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลจะเป็นไปอย่างอิสระและได้รับความนิยม มันแฝงด้วยเหตุการณ์น่าเศร้าของบุคคลหนึ่งคือ วิลเลี่ยม ไทน์เดล-William Tyndale

วิลเลี่ยม ไทน์เดล นั้นเป็นศาสตราจารย์และนักแปลจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

เขาเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่สิบห้าในเมืองเล็กๆ ทางใต้ของลอนดอน ตัวเขาเป็นผู้ที่ชำนาญในภาษาโดยล่วงรู้ถึงแปดภาษา อันได้แก่ ภาษากรีก ละติน ฮิบรู สเปน ฝรั่งเศส อิตาเลียน อังกฤษ และเยอรมัน

เขาเป็นบุคคลแรกที่ลงมือแปลพระคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ และใช้ประโยชน์จากการพิมพ์สมัยใหม่เผยแพร่พระคัมภีร์ฉบับแปลของเขาซึ่งจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกที่เมืองโคโลญในปี 1525

พระคัมภีร์ฉบับนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงและถือได้ว่าเป็นฉบับที่นำเขาไปสู่ความตายด้วย

อันเนื่องจากสาเหตุที่ว่าไทน์เดลนั้นได้ใส่คำวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองที่มีต่อข้อความในพระคัมภีร์ลงควบคู่ไปด้วย

ด้วยโทษทัณฑ์อันนี้ทำให้เขาถูกตัดสินให้เผาทั้งเป็นด้วยอาญาสิทธิ์จากพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด

และแม้ว่าเขาจะสามารถหลบหนีไปยังประเทศเบลเยียมได้ในภายหลัง แต่ก็ไม่อาจพ้นโทษนั้นได้

เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 1636 ไทน์เดลผู้ถูกจับขังมาเป็นเวลากว่าห้าร้อยวันก็ถูกเผาทั้งเป็นที่คุกในเมืองวิลวูเด้น ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครบรัสเซลส์

ก่อนตายเขาตะโกนคำพูดอมตะที่ว่า “ขอพระเจ้าจงประทานความตระหนักรู้ในสิ่งที่ข้าฯ กระทำให้แก่กษัตริย์อังกฤษด้วยเทอญ”

และดูเหมือนว่าคำขอของเขาจะเป็นจริง อีกสามปีต่อมา พระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้ทรงอนุญาตให้มีการจัดพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษขึ้นได้สำหรับประชาชนทั่วไป

ภายใต้ชื่อ “พระมหาคัมภีร์-The Great Bible”

 

เมื่อพระคัมภีร์ไบเบิลกลายเป็นสินค้าที่อิ่มตัวแล้ว บรรดาผู้จัดพิมพ์ล้วนออกแสวงหาต้นฉบับที่จะทำเงินได้

ในตอนแรกเช็กสเปียร์เห็นว่างานบทละครของเขานั้นเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้แสดงบนเวทีมากกว่า และเขาเองก็ตั้งใจเขียนมันมาเพื่อใช้ในการแสดงเป็นเฉพาะ เขาปฏิเสธการจัดพิมพ์ผลงานตนเองให้แพร่หลาย ทว่า นายสถานีหลายคนที่เคยชมละครของเช็กสเปียร์เห็นว่าหากมันถูกจัดพิมพ์น่าจะมีโอกาสทำรายได้ที่ไม่ยากเย็นนัก ภาษาที่ไพเราะ เข้าใจง่าย เปี่ยมด้วยโวหารของเช็กสเปียร์ อาจจะถูกจริตสำหรับผู้คนนอกเมืองลอนดอนที่ไม่มีโอกาสได้ชมละคร

และสำหรับผู้ที่ชมละครแล้วอาจต้องการนำมันกลับมาอ่านอีกเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำหรือนำไปแสดงเล่นในบ้านพอให้ครึกครื้นก็เป็นได้

ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้เปลี่ยนสถานภาพของนักเขียนบทละครผู้มีรายได้กระท่อนกระแท่นให้กลายเป็นมหาเศรษฐี เมื่อถึงช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด งานเขียนของเช็กสเปียร์ ทำรายได้ให้ตัวเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

เงินส่วนใหญ่ที่เขาได้รับจากสำนักพิมพ์นั้นเช็กสเปียร์ส่งกลับไปให้ครอบครัวของเขาซ่อมแซมบ้านเกิดที่สแตรตฟอร์ด

ในขณะที่ตัวเขาเองพึงใจจะเช่าที่พักอยู่ในลอนดอนต่อไป

หลังจากนั้นไม่นานเขาสามารถซื้อบ้านหลังที่สองให้กับครอบครัวและตนเองได้ในราคาหกสิบปอนด์ นายทะเบียนที่ดินที่สแตรตฟอร์ด บันทึกการซื้อขายระหว่างผู้เป็นเจ้าของเดิมคือ วิลเลี่ยม อันเดอร์ฮิลล์ กับผู้เป็นเจ้าของใหม่ภายใต้ชื่อชื่อ แช็กซ์สเปียร์-Shaxspere

ความมั่งคั่งของเช็กสเปียร์ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้

ในปี 1605 เขาใช้เงินกว่า 440 ปอนด์ กว้านซื้อที่ดินทางตอนเหนือของสแตรตฟอร์ด ในที่ดินนั้นเขาปลูกทั้งข้าวมอลต์ ข้าวบาร์เล่ย์ เลี้ยงแกะ แพะ และทำการปศุสัตว์ต่างๆ

และเมื่อถึงปี 1607 เขาใช้เงินอีก 310 ปอนด์ซื้อที่ดินอีก 107 เอเคอร์เพื่อทำการเพาะปลูกเช่นกัน

การลงทุนครั้งสุดท้ายของเช็กสเปียร์เกิดขึ้นในปี 1613 เขาซื้ออพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งแถวแบลกแฟร์ไม่ห่างจากโรละครแบลกแฟร์ที่คณะของเขาผูกขาดการแสดงอยู่มาตั้งแต่ปี 1608

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความร่ำรวยที่ว่านั้นมีปริศนาหลายสิ่งที่น่ากังขา ผลงานทั้งหมดของเช็กสเปียร์เขาเขียนมันขึ้นเองหรือไม่

และมีงานหลายชิ้นที่เขาปฏิเสธการจัดพิมพ์หากแต่ถูกผู้จัดพิมพ์และนายสถานีบางรายลักลอบจัดพิมพ์มันขึ้นมาอย่างลับๆ รวมทั้งความสำเร็จที่มากมายจากรายได้และชื่อเสียงของผลงานทำให้เช็กสเปียร์อาจมีความผิดปกติทางจิตใจในภายหลัง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นปริศนาสำคัญระหว่างตัวเขาและสิ่งที่เรียกว่าหนังสือที่เราจะพิจารณากันต่อไป