ต่างประเทศ : บทเรียนจากไต้หวัน จาก “ซาร์ส” สู่ความสำเร็จในวิกฤต “โควิด-19”

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ทั้งขนาด จำนวนประชากร ภูมิประเทศ

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะนำหน้าเราไปไกลก็คือการบริหารจัดการท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในเวลานี้

ไต้หวันมีการบริหารจัดการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดที่เป็นระบบและเป็นการถอดบทเรียนความผิดพลาดจากในอดีตมาปรับใช้ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันไต้หวัน เกาะที่แม้จะมีชายแดนติดกับจีนจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีเพียง 59 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น

คำถามก็คือ ไต้หวันทำได้อย่างไร?

ในช่วงเวลาที่ยอดติดเชื้อในจีนพุ่งไปมากกว่า 80,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกขยับเข้าใกล้ 200,000 รายเข้าไปทุกที

แม้จีนจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตกเลือกที่จะเรียนรู้จากชาติประชาธิปไตยในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่า เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวัน

 

“สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศเวลานี้เหมือนกับสถานการณ์ที่เราเคยเผชิญในช่วงสัปดาห์แรกที่โรคซาร์สระบาดที่ไต้หวัน ในช่วงต้นปี 2003” ศาสตราจารย์ซู่อ้ายเฉิน อดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือซีดีซี ของไต้หวันในเวลานั้นระบุ

จีนสามารถใช้อำนาจในการสั่งให้ประชาชนอยู่ที่บ้านได้ แต่ไต้หวันซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมโรคก็คือ “ความโปร่งใส”

ไต้หวันเรียนรู้จากการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งคร่าชีวิตคนไปมากถึง 73 ราย และการขาดซึ่งความร่วมมือจากนานาชาติ ผลจากการกีดกันจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้ไต้หวันต้องดิ้นรนพัฒนาระบบที่เป็นของตัวเองขึ้นมา

ศาสตราจารย์ซู่ ผอ.ซีดีซีไต้หวันในเวลานั้นเดินทางไปศึกษาขั้นตอนการควบคุมโรคจากสหรัฐอเมริกาและกลับมาในช่วงต้นปี 2004 เพื่อยกเครื่องระบบสาธารณสุขในไต้หวันใหม่ทั้งหมด

หลังจากนั้นไต้หวันเพิ่มจำนวนห้องแรงดันลบที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคระบาดรุนแรงกว่า 1,000 แห่ง

นอกจากนี้ยังเพิ่มจำนวนห้องแล็บที่สามารถตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากทั่วไต้หวัน

ปัจจุบันไต้หวันสามารถตรวจเชื้อได้จำนวนมากถึง 2,400 คนต่อวัน

หลังจากนั้นไต้หวันยังสร้างระบบการขนส่งและระบบคลังสินค้าจำเป็นในยามวิกฤต ในจำนวนนั้นรวมไปถึงคลังสินค้าที่เก็บหน้ากากอนามัยพร้อมใช้เอาไว้มากถึง 40 ล้านชิ้น

ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของไต้หวันวุ่นวายไม่แพ้ประเทศไทย มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกทะเลาะเบาะแว้งส่งผลกระทบกับการตอบสนองกับการแพร่ระบาดของโรคซารส์ในเวลานั้น เกิดความไม่เข้าใจกันในการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่น

นั่นส่งผลให้มีข้อเสนอในการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการกลางโรคระบาด” หรือซีอีซีซี ที่รวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากทั่วประเทศ ขณะที่ประธานคณะกรรมการซีอีซีซี มีอำนาจและตำแหน่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรี สามารถสั่งการตอบสนองการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปได้

การยกเครื่องกฎหมายขนานใหญ่ครั้งนี้ยังทำให้ไต้หวันสามารถจำกัดสิทธิประชาชนได้ในช่วงเกิดโรคระบาด เปิดทางให้รัฐสามารถสั่งปรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายการกักกันโรคได้ด้วย

 

การปฏิรูปสาธารณสุขของไต้หวันถูกทดสอบในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เอช1เอ็น1 เมื่อปี 2009 นั่นทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขบางสิ่งบางอย่างที่อาจไม่ได้ผลดีออกไปในการแก้ไขร่างกฎหมายในเวลาต่อๆ มา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ถูกทดสอบอีกครั้ง และเวลานี้ก็เป็นที่ยอมรับว่าไต้หวันผ่านการทดสอบอย่างสบายๆ แม้ว่าไต้หวันจะมีประชากรราว 1 ล้านคนอาศัยในจีน รวมไปถึงมีชาวจีนราว 2.7 ล้านคนเดินทางเข้าสู่ไต้หวันทุกๆ ปี เรียกได้ว่ามีการเดินทางระหว่างกันมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก แต่เวลานี้ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในช่วงปลายเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไต้หวันเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารจากประเทศจีนทั้งหมดก่อนจะอนุญาตให้เข้าเมือง

วันที่ 23 มกราคม หลังจากทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น รัฐบาลไต้หวันสั่งยกเลิกเที่ยวบินจากอู่ฮั่นลงทั้งหมดทันที ห้ามชาวจีนจากอู่ฮั่นเข้าประเทศ และคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการระบบทางเดินหายใจที่เดินทางมาจากประเทศจีนทั้งหมด

26 มกราคม ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศห้ามพลเมืองจีนเข้าประเทศทั้งหมด หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบประกันสังคมของไต้หวันเพื่อให้รัฐบาลสามารถติดตามตัวผู้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้เร็วขึ้น

 

หลังจากมีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการแพร่ระบาดและระยะฟักตัว รัฐบาลไต้หวันเพิ่มความเข้มงวดในการกักกันโรคมากยิ่งขึ้น เพิ่มการตรวจหาไวรัสโควิด-19 กับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่ตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น วิธีการซึ่งทำให้ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก และช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยด้วยการให้โควต้าการซื้อหน้ากากกับประชาชนตามบัตรประชาชน มีการตั้งไลน์ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 60 ไลน์ผลิต เพิ่มปริมาณหน้ากากอนามัยสู่ตลาดจาก 4 ล้านชิ้นเป็น 10 ล้านชิ้นได้ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

ขณะที่ประชาชนเองซึ่งยังคงจำประสบการณ์การแพร่ระบาดครั้งก่อนหน้าได้ก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี

“ไต้หวันเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าในสังคมหนึ่งๆ จะตอบสนองกับภาวะวิกฤตและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรวดเร็วได้อย่างไร” ทีมนักวิชาการสหรัฐกล่าวชื่นชมไต้หวันเอาไว้ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชาติในเอเชียที่สามารถตอบสนองกับภาวะวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดที่ควรดูเป็นแบบอย่าง

และได้แต่หวังว่าเราจะเรียนรู้จากความสำเร็จเหล่านี้

มากกว่าที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวที่เราทำกันด้วยมือของเราเอง