ลึกแต่ไม่ลับ : ปตท.ยกทัพหลวง ดูงาน“บราซิล”ประเทศปลดแอกบริษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อ?

จรัญ พงษ์จีน
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

“คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานกรรมการ ปตท. ยกทัพหลวง ประกอบด้วย 1. “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. 2. “อติคม เติบศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยล์ 3. “สุกฤตย์ สุรบทโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด

4. “สรัญ รังคสิริ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 5. “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด 6. “เติมชัย บุนนาค” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด

แพ็กทีมกันเป็นหนึ่งเดียว เดินทางไปศึกษาดูงานการปฏิรูปพลังงานในประเทศ “เม็กซิโก” เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เหตุที่เลือก “เม็กซิโก” เป็นไอดอล เพื่อศึกษาดูงาน เนื่องเพราะ “เม็กซิโก” เพิ่งลงมือปฏิรูปพลังงานอย่างจริงจังครั้งใหญ่ หลังได้รับบทเรียนแห่งความล้มเหลวของ Nationalization

กล่าวคือ ใน พ.ศ.2481 หรือ ค.ศ.1938 หรือเมื่อ 80 ปีก่อน “เม็กซิโก” ได้ยึดคืนกิจการพลังงานและปิโตรเลียมทั้งหมดจากบริษัทน้ำมันต่างชาติมาเป็นของรัฐ ด้วยการตั้ง “พีเม็กซ์” เป็น “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดครบวงจรแต่เพียงผู้เดียว

โดยบริษัทต่างชาติไม่สามารถลงทุนหรือปฏิบัติในธุรกิจปิโตรเลียมได้ ทุกอย่างอยู่ภายใต้กลไกการผูกขาดของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ในเบื้องต้นแม้การผลิตในช่วงแรกๆ ยังคงเติบโต แต่ในกาลต่อมาการผลิตน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กระทั่งเหลือ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่การบริโภคพลังงานเติบโตเร็วกว่า ทำให้ “เม็กซิโก” เริ่มนำเข้าปิโตรเลียมประมาณปี 2500

ทั้งๆ ที่เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีปริมาณแหล่งทรัพยากรเยอะ แต่ไม่สามารถนำมาผลิตได้ เนื่องจากขาดแคลนเทคโนโลยีและเงินลงทุน จึงส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบและปริมาณสำรองน้ำมันดิบของประเทศลดลง

การที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลงด้วย และส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้การบริหารจัดการโรงกลั่นของ “พีเม็กซ์” เพียงผู้เดียว โรงกลั่นในประเทศจึงไม่ได้มีการลงทุน/พัฒนาเพิ่มเติม จึงทำให้ความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นในเม็กซิโกที่ค่อนข้างจำกัด และมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“เม็กซิโก” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “สหรัฐเม็กซิโก” มีประชากร 124 ล้านคน พื้นที่ประเทศใหญ่กว่าประเทศไทย 4 เท่า พลเมืองมากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า ผลิตปิโตรเลียมเป็นอันดับ 9 ของโลก แรงกิ้งดีกว่าไทย 20 อันดับ แต่กลับมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหลายอย่าง โดยเฉพาะ “น้ำมันสำเร็จรูป” เพื่อใช้ในภาคขนส่ง เพราะโรงกลั่นไม่เพียงพอ

กล่าวคือ เม็กซิโกมีโรงกลั่นปิโตรเลียมทั้งหมดเพียง 6 โรง มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 12 โรง โดยโรงกลั่นมีความสามารถในการผลิตรวมทั้งหมดราว 1.54 ล้านบาร์เรล/วัน จึงเกิดสภาพ “ลักลั่น” อยู่ในตัว เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบ แต่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป มีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าส่วนใหญ่

ปี2013 “เม็กซิโก” จึงทลายห้าง รื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ ทำการปฏิรูปพลังงาน แบบกลับหลังหัน 180 องศา ยุติ “PEMEX Monopoly” เปลี่ยนจากการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน ไปสู่ระบบการแข่งขันแบบเสรี

สวนกระแส จัดตั้งขอบข่ายงาน ที่ใช้สำหรับธุรกิจ จัดตั้งกระบวนการทำงานด้านต่างๆ เพื่อรองรับการแปรรูปพลังงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบด้านต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากภาคเอกชน

จัดตั้ง “เรกูเลเตอร์” และกระบวนการทำงานต่างๆ ในการรองรับการแปรรูป จัดตั้งกองทุนปิโตรเลียมเพื่อจัดการรายได้ต่างๆ ของประเทศ

“โครงสร้างใหม่” ในการปรับลุคของเม็กซิโก เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจพลังงานเดินหน้าด้วยความลื่นไหล หลังจาก “ปฏิรูป” เมื่อเดือนธันวาคม 2013 มีองคาพยพที่เกี่ยวข้องหลักๆ ประกอบด้วย

1. “กระทรวงพลังงาน” มีอำนาจหน้าที่กำหนดการเปิดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม รวมถึงกฎระเบียบ/รูปแบบสัญญาต่างๆ สำหรับธุรกิจ E$P กำหนดนโยบายทางพลังงานต่างๆ รวมถึงอนุมัติใบอนุญาตสำหรับโรงกลั่น/โรงแยกก๊าซธรรมชาติ การนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมด

2. “กระทรวงการคลัง” กำหนดนโยบายเชิงเศรษฐกิจและการเงิน

3. “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” ควบคุม ดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ

4. “CNH – Independent Regulator” บริหารจัดการการยื่นประมูลพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม รวมถึงควบคุม/ดูแลด้านดำเนินการธุรกิจ Upstream ให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด

5. “CRE – Independent Regulator” มีหน้าที่ควบคุมไฟฟ้าทั้งหมด และกำหนด Tanff Rate สำหรับธุรกิจควบคุมต่างๆ รวมถึงอนุมัติใบอนุญาตสำหรับธุรกิจจัดเก็บและขนส่ง และการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี-ไฟฟ้าและการจัดเก็บ/ขนส่งทางท่อของ LPG

6. “PEMEX บริษัทพลังงานแห่งชาติ” โดยทำธุรกิจตลอด Value Chain ของธุรกิจปิโตรเลียม โดยมีทั้งรับผิดชอบด้านธุรกิจสำรวจ ธุรกิจแปลงสภาพปิโตรเลียม เช่น โรงกลั่นน้ำมันดิบ โรงแยกก๊าซ โรงปิโตรเคมี และอื่นๆ

“3 องค์กรหลัก” ยุคปฏิวัติโฉมใหม่ ด้านพลังงานของเม็กซิโก ภายใต้สโลแกน “เสรี-โปร่งใส” หลังประสบผลสำเร็จสูง ในปีถัดมายังได้เพิ่มแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อยอดขึ้นอีก 7 ด้าน

ทางทีมผู้บริหาร ปตท. เดินสายเข้าพบปะ ฟังบรรยายสรุปภาพรวม-ผลกระทบ-ผลดีจากการปฏิรูป

ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน-เรกูเลเตอร์-ผู้บริหารพีเม็กซ์

ประเด็นแห่งความวังเวงอยู่ที่ว่า ขณะที่ “เม็กซิโก” ตะเกียกตะกาย ปฏิรูป-ปฏิวัตินโยบายด้านพลังงาน สลัดหลุดจากกระบวนการผูกขาด เปิดพื้นที่ดึงดูดนักลงทุน ยกเครื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทิ้ง

แต่…ประเทศไทย ยังมืดมนอนธการ สถานการณ์พลังงานยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางทิศไหน

ย้อนศรกลับหลังหัน เข้าเขาวงกต ดุจ “เม็กซิโก” เมื่อ 80 ปีก่อนหรือไม่

“พ.ร.บ.ปิโตรเลียม” จะเป็นผู้ตอบโจทย์ในไม่ช้านี้