เทศมองไทย : อันเนื่องมาจาก “เอ็มอาร์ซี รีพอร์ต”

เรื่องที่ผมบอกเล่าต่อไปนี้ นำมาจากรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ฉบับที่ 9 ของศูนย์เอ็มอาร์ซี เพื่อการวิเคราะห์โรคติดต่อระดับโลก ในสังกัดอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกในการจัดทำแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรค ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษครับ

รายงานผลการจัดทำแบบจำลองการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จัดทำโดยทีมวิจัยซึ่งมีนายนีล เฟอร์กุสัน หัวหน้าศูนย์เอ็มอาร์ซีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะ ความยาวเพียง 20 หน้านี้

หากใครสนใจสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ https://www.imperial.ac.uk/mrc-global-infectious-disease-analysis/news-wuhan-coronavirus/ นี้ครับ

 

เป้าหมายของการจำลองสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ นีล เฟอร์กุสัน ระบุเอาไว้ว่า “เพื่อประมาณการสถานการณ์คุกคามที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับแต่ละประเทศนำไปใช้กำหนดนโยบายเพื่อการรับมือ โดยใช้สถานการณ์ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ”

สื่อในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาหลายฉบับรายงานตรงกันว่า รายงานชิ้นนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุหลักทำให้บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา ที่ไม่ค่อยจะ “ซีเรียส” กับการแพร่ระบาดครั้งนี้มากนัก ต้องหันกลับมาปรับยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดที่ทำทีทำท่าจะลุกลามออกไปทั่วโลกแล้วในเวลานี้

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ประการหนึ่ง เนื่องจากนี่เป็นรายงานผลการศึกษาวิจัยที่ทำร่วมกับองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานทางวิชาการที่เป็นเครือข่ายเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่า ถึงได้เป็นการศึกษาจากข้อมูลที่กว้างขวางที่สุด ทันสมัยที่สุดจากการแพร่ระบาดครั้งนี้

ประการถัดมา ก็คือชื่อเสียงของศูนย์เอ็มอาร์ซีนั่นเองครับ

 

การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างแบบจำลองของการระบาดครั้งนี้ แม้จะใช้สถานการณ์สมมุติ 3 กรณี แต่มุ่งเน้นใน 2 กรณีหลัง ซึ่งเป็นวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำมาใช้กันอยู่ในเวลานี้

สถานการณ์สมมุติ 3 สถานการณ์ที่ว่านั้นคือ

ประการแรก ไม่มีการดำเนินการใดๆ

ประการที่ 2 คือการรับมือแบบบรรเทา ไม่ต้องการยับยั้งการแพร่ระบาด เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เฮิร์ด อิมมูนิตี้” ซึ่งเป็นคำเรียกทางวิชาการด้านระบาดวิทยา ที่หมายถึงการปล่อยให้เกิดการระบาดในประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะส่งผลตัดวงจรการระบาดและทำให้การระบาดยุติลงในที่สุด

สถานการณ์ที่ 3 คือ การใช้มาตรการเข้มงวดเต็มที่ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและสั้นที่สุด วิธีเข้มงวด “สุดโต่ง” ที่สุดในทำนองเดียวกับสถานการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในประเทศจีน ทำนองเดียวกับเกาหลีใต้ที่สุดโต่งไปอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ เป็นประเทศที่ไล่ตรวจหาเชื้อในจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก

ตรงกันข้ามกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรทั้งหมดครับ

 

มาตรการที่นำมาใช้ในสถานการณ์ที่ 2 นั้นเป็นความพยายามดำเนินมาตรการต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสในระดับหนึ่ง อาทิ แยกรักษาผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน, ประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างเฉพาะกับผู้สูงอายุและบุคคลกลุ่มเสี่ยง โดยไม่หวังจะยับยั้งการระบาด เพียงแต่ป้องกันกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด และยังปล่อยให้มีการระบาดจนถึงระดับที่ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน นี่เป็นมาตรการที่ใช้กันมากที่สุด

ในทางหนึ่งนั้น เป็นการบรรเทา หรือชะลอการระบาดลง ให้อยู่ในระดับเท่าที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของประเทศจะรับได้ และพยายามแยกประชากรกลุ่มเสี่ยงให้ห่างจากการติดเชื้อมากที่สุด

มาตรการในสถานการณ์ที่ 3 นั้น กำลังเริ่มใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการระบาดรุนแรงขึ้น ประกอบด้วยมาตรการเข้มข้น อาทิ มีมาตรการกักกันโรค มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบสูงสุด ปิดการให้บริการที่ไม่จำเป็น ปิดโรงเรียน และแยกประชากรของประเทศให้อยู่ห่างจากกันด้วยการแยกให้แต่ละคนอยู่ในบ้านพักของตนเอง

มาตรการระยะที่ 3 นั้น ทำได้ยากมาก ในกรณีของเกาหลีใต้ความสำเร็จอยู่ที่การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ตรวจแบบเหวี่ยงแหให้มากที่สุด กักกันโรคให้ได้มากที่สุด และใช้มาตรการให้กักตัวอยู่กับบ้านอย่างสมัครใจได้ดีที่สุด ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นเช่นที่เห็นกันอยู่

ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก การบังคับเช่นนี้มีปัญหามากขึ้น ยิ่งประเทศใหญ่ขึ้น เคยมีสิทธิเสรีมากขึ้น ยิ่งลำบากมากขึ้นตามลำดับ

 

แต่แบบจำลองชี้ให้เห็นว่า แบบที่ 3 นี้ก่อให้เกิดการเสียชีวิตน้อยที่สุด เห็นได้จากกรณีในจีน อัตราการเสียชีวิตแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในอิตาลี ในตอนนี้อยู่ที่ระดับ 7 เปอร์เซ็นต์ พอๆ กับสหรัฐอเมริกา

ในแบบจำลองสถานการณ์ที่ 2 คือใช้มาตรการเพียงแค่บรรเทาการระบาดนั้น จะส่งผลให้ในอังกฤษมีผู้เสียชีวิตราว 250,000 คน ส่วนในสหรัฐอเมริกาจะสูงถึง 1.1 ล้าน ถึง 1.2 ล้านคน ระบบโรงพยาบาลและสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกับผู้ป่วยอาการหนักที่มีมากเกินศักยภาพได้

แน่นอน หากไม่ดำเนินการอะไรเลย จะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตมหาศาล ในอังกฤษจะมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดถึง 510,000 คน ในสหรัฐอเมริกาจะเสียชีวิตมากถึง 2.2 ล้านคน

ข้อเสนอแนะจากศูนย์เอ็มอาร์ซีคือ ควรใช้แบบที่ 3 ควบคู่กับแบบที่ 2 คือเริ่มจากเข้มข้นก่อน แล้วอาจผ่อนปรนตามสถานการณ์ในพื้นที่ หรือจะกลับมาใช้เข้มข้นอีกครั้งก็ได้เช่นกันตามสถานการณ์ ระยะเวลาในการคงมาตรการไว้ก็คือ 18 เดือน คือจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลและปลอดภัยแล้ว

เพราะถ้าผ่อนปรนมากไปก่อนหน้าที่จะมีวัคซีน การระบาดระลอกสองอาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง

ส่วนประเทศไหนจะประยุกต์ใช้อย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยในพื้นที่หลายอย่าง ต้องพิจารณากันให้รอบคอบครับ