สมชัย ศรีสุทธิยากร | เสียงวิจารณ์รธน.จากภาคประชาสังคม…ถึงเวลาตั้ง ส.ส.ร. (6)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ในตอนที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอให้เห็นมุมมองของภาคประชาสังคมที่มีต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไปสองเรื่อง

คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ปรากฏขึ้นจริงเนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่ให้เป็นไปตามกฎหมายแล้วรัฐกลับใช้อำนาจในการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ควรเป็นเพียงแค่แนวนโยบาย (Guide line)

แต่หลายเรื่อง เช่น เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ กลับกลายเป็นสิ่งที่บังคับปฏิบัติ+แก่ฝ่ายการเมืองและยากจะปรับเปลี่ยนแก้ไข

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเสียงสะท้อนของฝ่ายวิชาการและฝ่ายการเมืองในซีกฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล อาทิ ประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีปัญหา การได้มาซึ่ง ส.ว.ในบทเฉพาะกาลที่เอื้อประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่สร้างความแคลงใจต่อประชาชน หรือความไม่ชัดเจนไม่จริงใจต่อการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง และกำลังกลายเป็นประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ เริ่มเรียกร้องคือ การขอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

โดยผู้ร่างที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ

 

ทำไมต้องเป็น ส.ส.ร.

คําตอบที่ง่ายมากในเรื่องนี้คือ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

ดังนั้น ที่มาของรัฐธรรมนูญควรมาจากความเห็นชอบของประชาชนและประชาชนมีส่วนในการร่วมกันสร้าง การร่างโดยคณะบุคคลที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นมีข้อครหามากมาย ตั้งแต่อาจเป็นการร่างตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ ร่างโดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่พวกตน (ดังที่มีนักการเมืองบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา)

มีประเด็นซ่อนเร้นที่นำไปสู่การตีความภายหลังที่ไม่มีใครหยั่งรู้และเป็นคุณแก่พวกเดียวกันแต่กลับเป็นโทษต่อฝ่ายตรงข้าม

แม้จะผ่านกระบวนการประชามติให้เห็นว่าประชาชนให้ความเห็นชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า โดยความซับซ้อนของตัวบทกฎหมาย จะมีประชาชนสักกี่คนที่ลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้เข้าใจเนื้อหาสาระอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ

ยิ่งการลงประชามติที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มีกฎหมายความมั่นคงเป็นตัวกางกั้นคนที่มีความเห็นต่างให้ไม่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่

ยิ่งสะท้อนว่าการได้รับความเห็นชอบจากประชาชนนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา

การให้มีคณะบุคคลร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศในรูปสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นวิธีการสำคัญที่จะสร้างการยอมรับจากประชาชนโดยให้เขามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างตั้งแต่ต้น จะดีจะเลว จะเป็นกลางหรือเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดเมื่อนำไปใช้ นั่นมาจากประชาชนที่ส่งตัวแทนเข้ามาร่าง

ดังนั้น ข้อครหาถึงที่มาของรัฐธรรมนูญว่ามาจากเผด็จการหรือมาจากผู้มีอำนาจเป็นผู้ร่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนก็จะหมดไป

 

องค์ประกอบของ ส.ส.ร.

ส.ส.ร.ยังมีความจำเป็นที่ต้องประกอบด้วยคนสองส่วน

ส่วนหนึ่งคือ ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ที่อาจจะใช้วิธีการเลือกตั้งโดยตรงในลักษณะตัวแทนจังหวัด

และส่วนที่สองคือ ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญการด้านกฎหมายเพื่อเป็นฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิคให้การร่างรัฐธรรมนูญเกิดความชัดเจนถูกต้องและไม่มีจุดอ่อนในประเด็นการเขียนกฎหมาย

ส.ส.ร.ในส่วนที่หนึ่งนั้น อาจมีที่มาและจำนวนที่แล้วแต่จะเห็นสมควร เช่น อาจมีจำนวน 77 คนเท่ากับจำนวนจังหวัด หรืออาจเป็น 154 คน หากคิดว่าจำนวนสองคนต่อจังหวัดนั้นเหมาะสมมากกว่า

แต่หากในความเห็นส่วนตัวแล้วผมยังเห็นด้วยกับจำนวนน้อย เนื่องจากมากไปก็เกิดปัญหามากหมอมากความ และเป็นการใช้งบประมาณที่เกินความจำเป็น

และหากอยากให้ภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดมีส่วนร่วมก็ย่อมสามารถขอความร่วมมือได้โดยไม่ยากเมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว

ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำหน้าที่สองส่วนคือ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันก็นำประเด็นที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องการขอความเห็นลงไปขอคำปรึกษาจากประชาชนในรูปแบบของการจัดเวทีประชาคมในพื้นที่

ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมและเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญไปในตัว แต่ไม่ใช่ตัวหลักในการทำหน้าที่ร่างกฎหมาย

ในขณะที่ ส.ส.ร.ส่วนที่สองที่เป็นผู้ชำนาญการในการยกร่างกฎหมาย อาจประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการร่างกฎหมาย เช่น จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนติบัณฑิตยสภา สถาบันการศึกษาที่สอนด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอาจมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการยกร่างให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น เช่น จากผู้ใช้แรงงาน สตรี เยาวชน คนกลุ่มน้อย ฯลฯ

สัดส่วนของกลุ่มที่สองนี้ไม่ควรมากกว่ากลุ่มแรก เพื่อให้เห็นว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับตัวแทนที่มาจากประชาชนมากกว่าผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการเขียนกฎหมาย โดยเห็นว่าน่าจะมีสัดส่วนเพียงหนึ่งในสามของส่วนที่หนึ่งหรือประมาณไม่เกิน 25 คนหากใช้แนวคิดว่ามี 77 คนที่มาจากแต่ละจังหวัด

ส่วนการได้มาอาจมีคณะกรรมการสรรหาและเสนอชื่อเพื่อรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา (หากสามารถวางใจได้ว่าวุฒิสภามีวุฒิภาวะที่จะเลือกอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เลือกตามใบสั่งของผู้มีอำนาจแต่งตั้งเขา)

 

กรอบเวลาในการทำงานของ ส.ส.ร.

การร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนควบคู่ไปกับการยกร่างที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ดังนั้น เวลา 8-12 เดือน ถือว่าเป็นกรอบเวลาที่จำเป็นในการดำเนินการ

เวลาดังกล่าวอาจแยกเป็น 3 ช่วงคือ

ช่วงของการรับฟังความเห็นขั้นต้นจากประชาชน โดยมองจากปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมุมมองของประชาชนเพื่อมาเป็นแนวคิดในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก โดย ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัดจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น

เวลาช่วงที่สองเป็นกรอบเวลาในการยกร่างในหมวดต่างๆ ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะๆ ซึ่งอาจใช้เวลา 4-5 เดือนในการดำเนินการ

และช่วงที่สามคือ การนำร่างทั้งฉบับที่ยกร่างไปให้ความรู้แก่ประชาชน ก่อนการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน

 

การทำประชามติ
และสิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากนั้น

รัฐธรรมนูญที่ผ่านการยกร่างจาก ส.ส.ร.ยังมีความจำเป็นต้องทำประชามติ แต่ต้องเป็นการทำประชามติบนพื้นฐานที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างพอเพียง

มีระยะเวลาที่เพียงพอที่ให้ประชาชนได้เข้าใจและเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างสามารถแสดงความเห็นและเหตุผลในทางวิชาการได้อย่างเต็มที่ การทำประชามติถือเสียงข้างมากของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ

หลังจากการทำประชามติ นายกรัฐมนตรีควรยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ วุฒิสภาชุดปัจจุบันทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีสภาใหม่และสิ้นสุดลงเมื่อมี ส.ส.และ ส.ว.ชุดใหม่ตามกลไกที่ออกแบบมาในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ก็ควรเริ่มต้นใหม่ตามกลไกที่ออกแบบมาเช่นกัน

ข้อเสนอของภาคประชาสังคมดังกล่าว เป็นเพียงบางแนวคิดที่ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนใหม่ที่รุนแรงและอาจยากที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะยอมรับได้

แต่หากเสียงของประชาชนดังพอ เชื่อว่าผู้ปกครองที่ฟังประชาชนคงได้นำไปพิจารณา