จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม ตอนที่ 4 : ภาพหลอนของตะวันออกกลาง

จรัญ มะลูลีม
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งผู้บริหารชุดใหม่กีดกันผู้อยพยเข้าสหรัฐ / AFP PHOTO

คลิกอ่านตอนอื่นๆ


นโยบายต่างประเทศ

ส่วนหนึ่งในการหาเสียงกับประชาชนของทรัมป์ก็คือการกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงสงครามของสหรัฐในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางว่าไม่ได้ผลและสัญญาว่าจะยุติสิ่งเหล่านี้ลง

เขาเรียกร้องการเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนักต่อสู้ทุกกลุ่ม รวมทั้ง อัล-กออิดะฮ์ อันเป็นกลุ่มที่สหรัฐหันมาให้การฟูมฟักอีกครั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรที่ต่อต้าน บาชัรอัล-อะสัดในซีเรีย

ในจุดหนึ่งเขาถึงกับพูดว่าสหรัฐไม่อาจมีบทบาทที่สร้างสรรค์ได้ ในการนำเอาสันติภาพมาสู่อิสราเอล-ปาเลสไตน์ หากว่ายังคงให้การสนับสนุนอิสราเอล

ดังนั้น สหรัฐจึงควรนำเอาจุดยืนที่เป็นกลางกับสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาใช้

ในท้ายที่สุดเขาตั้งคำถามที่มีความเกี่ยวข้องกับนาโต้หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ระยะเวลาหนึ่ง

อาจกล่าวได้อย่างสั้นๆ ว่าเขาเคยวางตัวเองให้เป็นตัวแทนของผู้สนับสนุนสันติภาพในปรากฏการณ์ทั่วไป แต่ต่อมาเขาได้ยกเลิกจุดยืนดังกล่าวที่เคยมีมาแต่เดิมในเรื่องปาเลสไตน์และกลายมาเป็นคนที่สนับสนุนผลประโยชน์ของอิสราเอลอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งสัญญาว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐไปไว้ที่นครเยรูซาเลม

ในขณะเดียวกัน Giuliani และ Bolton ได้ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะผู้สนับสนุนทรัมป์ที่เข้มแข็ง Giuliani นั้นรู้จักกันว่าเป็นผู้เอาเงินมาจากกลุ่มมุญาฮิดีนีคัลก์ (Mujahideen-e-Khalq) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต้านรัฐบาลอิหร่านและอาศัยอยู่ในสหรัฐ โดยองค์การดังกล่าวได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในกลุ่มขององค์การผู้ก่อการร้าย

ในขณะที่ Bolton ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนนโยบาย “ระเบิดอิหร่าน” (Bomb Iran) นอกเหนือไปจากตำแหน่งอื่นๆ ของเขาแล้ว ตำแหน่งของเขาว่าด้วยอิหร่านนั้นเขายังได้ชื่อว่าเป็นผู้กระหายสงคราม เป็นผู้เรียกร้องให้มีการเจรจาใหม่อีกครั้งว่าด้วยเรื่องนิวเคลียร์ที่โอบามาตกลงกับอิหร่านไปเรียบร้อยแล้ว

ในเวลานี้หากมีการเจรจากันใหม่ก็จะเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เพราะว่าอิหร่านไม่ยอมรับ หากแต่สหภาพยุโรปได้ให้การยอมรับข้อตกลงนั้นไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะนำเอาทัศนคติความเป็นศัตรูกับอิหร่านมาใช้ในขณะที่พยายามจะหันมามีความสัมพันธ์ขึ้นปกติกับรัสเซียหรือสันติภาพในซีเรีย

ในสถานการณ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่กระจ่างว่านโยบายต่างประเทศชนิดไหนที่เราสามารถจะคาดหมายจากการบริหารงานของทรัมป์ได้

ปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่มองเห็นได้จากการรณรงค์ของเขาก็คือการเป็นศัตรูของเขาอย่างไม่ลดละต่อจีน อันเป็นประเทศสำคัญที่กำลังเติบโตในโลกเคียงคู่กับรัสเซีย อิหร่านและประเทศอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้นโยบายของทรัมป์จึงมีความขัดแย้งกันตั้งแต่เริ่มต้น ดูเหมือนว่าจุดยืนต่างๆ ของเขาในท้ายที่สุดก็จะกลับไปเหมือนนโยบายของสหรัฐที่คุ้นเคยกันมาก่อน นั่นคือถูกชี้นำโดยความเป็นคณาธิปไตย กลุ่มอนุรักษนิยมใหม่และอิสราเอล

ปฏิกิริยาของรัฐอิสราเอลจะเป็นเครื่องวัดที่ดีเสมอในการตัดสินอนาคตแห่งพฤติกรรมของสหรัฐ หลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีศึกษาของอิสราเอล Naftali Benno ดาวรุ่งจากกลุ่มขวาจัดกล่าวอย่างหลงตนเองว่าศักราชแห่งรัฐของชาวปาเลสไตน์จบลงแล้ว (The era of a Palestinian state is over)

ในเวลาเดียวกันรัฐมนตรีของอิสราเอลระดับบนได้ออกเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านข้อบัญญัติ ซึ่งยอมให้อิสราเอลตั้งบ้านเรือนที่สร้างขึ้นบนที่ดินของชาวปาเลสไตน์เพื่อหลีกเลี่ยงคำสั่งให้รื้อถอนของศาล

อิสราเอลได้คาดคำนวณมาแล้วว่าทรัมป์จะไม่คัดค้านการเคลื่อนไหวนี้ ในขณะที่ฝ่ายค้านที่อยู่ในฝ่ายบริหารของโอบามาซึ่งกลายเป็นง่อยไปแล้วก็จะวางตัวอยู่เฉยๆ

ดังนั้น กองกำลังทั้งหมดของฝ่ายขวาก็จะให้การยอมรับทรัมป์ในฐานะมิตรคู่ใจ ในประเด็นของสงครามแห่งการแย่งชิงความยิ่งใหญ่ ความภักดีต่ออิสราเอลและการเผชิญหน้ากับรัสเซียและจีน ฮิลลารี คลินตัน ก็ไม่ได้มีดีไปกว่านี้ หรืออาจเป็นไปได้ว่าจะยิ่งแย่กว่าเสียอีกในการขยายตัวของสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ในสหรัฐปัจจุบัน


ทรัมป์ : ภาพหลอนของตะวันออกกลาง

ทรัมป์ประกาศตัวเองว่าเป็น “ศูนย์รวมหลังจากชัยชนะครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า Super Tuesday และอย่างน้อยความเป็นศูนย์รวมที่ทรัมป์ประกาศก็เป็นจริงในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ชาวเลบานอน ซีเรีย ลิเบียและซาอุดีอาระเบียจำนวนมาก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ในเกือบทุกประเด็นการเมืองในภูมิภาคมาก่อนต่างก็มารวมตัวกัน

ข่าวของทรัมป์เป็นข่าวร้ายสำหรับตะวันออกกลาง แม้จะมีความคาดหมายกันว่าไม่มีใครจะลงความเห็นว่าทำไมชัยชนะของทรัมป์จึงเป็นข่าวร้ายสำหรับตะวันออกกลางก็ตาม

ดูเหมือนว่าทรัมป์จะเป็นภาพหลอนของทุกๆ คนที่นี่ รวมทั้งความขัดแย้งด้านสำนักคิดที่กำลังดำเนินอยู่ ฮานิน ก๊อดดาร (Hanin Ghaddar) บรรณาธิการบริหารของ NOW หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของภูมิภาค ซึ่งมีฐานอยู่ในเลบานอนกล่าว

ผู้สนับสนุนกองกำลังฮิสบุลลอฮ์ (Hezbollah) ในกรุงเบรุตมีทรรศนะว่าทรัมป์คือข่าวร้ายเพราะเขาจะเป็นผู้ทำลายความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์กับสหรัฐ อันเนื่องมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งลงนามกันไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา

บางคนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความขัดแย้งอย่างเช่นผู้ใช้นามว่า Fares ที่ได้แสดงตนเองว่าอยู่ฝ่ายสนับสนุนกบฏ ได้ร่วมแสดงความหวาดหวั่นให้เห็นว่าทรัมป์จะเป็นความเลวร้ายของเขา แม้ว่าจะมาจากเหตุผลต่างๆ กัน

ทรัมป์ในตะวันออกกลางก็เหมือนการเล่นเกม ที่ขึ้นอยู่กับการหมุนตัวไปของลูกเต๋า ซึ่งอาจจะตกอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดอภัยหรือจะถูกระเบิดตาย? ก็ได้

การทำสงครามต่อต้านชาวมุสลิมของทรัมป์ได้สร้างความกังวลว่าจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาหรับกับสหรัฐ

ในเวลานี้ตะวันออกกลางให้ความสำคัญกับจีนและรัสเซียอันเนื่องมาจากความคิดที่ว่าสหรัฐไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่เคยเป็น และคาดหมายว่าแนวโน้มนี้จะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อทรัมป์ได้เข้าไปอยู่ในที่ทำงานรูปไข่แล้ว

นักการทูตในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า แม้ว่าเราจะทำธุรกิจกับทรัมป์ แต่เรามีความกังวลเมื่อเขาเป็นประธานาธิบดี นักการทูตคนอื่นๆ แสดงออกอย่างขบขันมาตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้งแล้วว่าถ้าทรัมป์ชนะ เราก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไปอีก

แม้แต่เพื่อนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็น CEO อย่าง อัคบัร อะลี เบเกอร์ (Akbar Ali Baker) ได้เตือนว่าทรัมป์จะไม่ได้รับการต้อนรับในประเทศมุสลิม เนื่องจากเขาเรียกร้องไม่ให้ชาวมุสลิมมาเยือนสหรัฐ อะลีเบเกอร์กล่าวกับ CNN ว่า ผมไม่หวังให้เขาออกแถลงการณ์ที่ไร้เดียงสาอย่างนั้นออกมา เขายังไม่ยอมรับอีกหรือว่าในเวลานี้เมื่อเขาลงทุนอยู่ในประเทศมุสลิมแล้ว เขาก็จะไม่ได้รับการต้อนรับที่นั่นอีกต่อไป

ที่ อะลี-เบเกอร์ พูดมาก็มีเหตุผล การเรียกร้องให้ห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐทำให้ชาวตะวันออกกลางทวีตเรียกร้องมิให้ทรัมป์เข้าตะวันออกกลางเช่นกัน

เจ้าชายของซาอุดีอาระเบียและนักธุรกิจอย่าง อัลวะลีด บิน ฏอลาล (Alwaleed bin Talal) ซึ่งซื้อเรือยอชต์ที่มีชื่อว่า Princess superyacht จากทรัมป์ และมีหุ้นอยู่ในโรงแรมพลาซ่า Plaza Hotel) ในปี 1995 เรียกทรัมป์ว่า “ความเสื่อมเสียของสหรัฐ”