ธงทอง จันทรางศุ | เสียง “คนรุ่นใหม่”

ธงทอง จันทรางศุ

ถ้าเป็นคนไทยรุ่นอาวุโสหน่อย เช่นรุ่นผมเป็นต้นขึ้นไป ย่อมคุ้นเคยกับสำนวนที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” กันมาแต่อ้อนแต่ออก เพราะยุคสมัยของผมยังมีพระยาเดินไปเดินมาให้เห็นได้อยู่ ตัวอย่างเช่น

เพื่อนที่อยู่วชิราวุธวิทยาลัย ย่อมมีความทรงจำที่แม่นยำเกี่ยวกับพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการของสถานศึกษาแห่งนั้นได้เป็นอย่างดี

หรือถ้าใครทำงานอยู่สภากาชาดไทยยุคโน้น ก็ต้องรู้จักพระยาบุรณศิริพงษ์ (ประโมทย์ บุรณศิริ) ผู้ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกของสภากาชาดไทยอยู่ยาวนานหลายสิบปีอย่างแน่นอน

ต่างกับเด็กสมัยนี้ที่รู้จักพระยาแต่เพียงพระยาแรกนาปีละหน ในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเท่านั้น

ขอขยายความก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นต่อไปหน่อยหนึ่งว่า คำว่า “พระยา” ในที่นี้ เป็นบรรดาศักดิ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ถ้าจะไล่ลำดับตั้งแต่ผู้น้อยขึ้นไปหาผู้ใหญ่ ก็มีตั้งแต่ พัน หมื่น ขุน หลวง พระ แล้วจึงถึงพระยา

เกินกว่าพระยาขึ้นไปยังมีอีกสองชั้นคือเจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยา แต่กล่าวโดยทั่วไปแล้วกว่าจะไต่เต้าขึ้นไปจนถึงชั้นพระยานี้ก็หืดขึ้นคอพอสมควรแล้วครับ

นั่นหมายความว่า ข้าราชการที่เป็นพระยาล้วนแต่มีฐานะมั่นคงในราชการ และเป็นที่พึ่งพาอาศัยอย่างที่เรียกว่า “พึ่งบารมี” ของคนจำนวนมาก ใครต่อใครต่างก็นิยมมาฝากเนื้อฝากตัวกันเป็นทิวแถวมีสุขทุกข์อย่างไรท่านก็ปัดเป่าให้ได้

ในขณะที่พ่อค้าสมัยก่อนนั้น แม้จะมีเงินทองมากมายปานใดก็ตาม แต่สังคมไทยก็ยังนับถือว่าเป็นขุนนางชั้นพระยามีเกียรติยศยิ่งใหญ่มากกว่า

การที่ได้รับการทำนุบำรุงเลี้ยงดูจากพ่อค้าถึงสิบคน ยังสู้ไม่ได้กับการที่มีพระยาหนึ่งคนเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุง

ที่ว่ามานั้นเป็นอดีตและเป็นอดีตที่ไม่หวนคืนเสียแล้ว จริงอยู่ว่าสมัยนี้ไม่มีใครมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาแล้ว แต่นั่นแหละครับ โดยอนุโลมผมก็นึกว่าเราคงต้องเปรียบพ่อค้าหรือเจ้าสัวทั้งหลายกับข้าราชการผู้ใหญ่ตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ว่าเวลานี้ใครมีบารมีและเป็นที่นับหน้าถือตามากกว่ากัน

ผลปรากฏว่าเจ้าสัวชนะขาด

เราต้องพูดเสียใหม่แล้วว่า สิบปลัดกระทรวงก็หรูสู้หนึ่งเจ้าสัวไม่ได้

อย่าให้ออกชื่อว่าปลัดกระทรวงชื่ออะไรหรือเจ้าสัวชื่ออะไรเลยครับ เดี๋ยวเขินกันแย่

เวลานี้ชาวบ้านจำได้แต่ชื่อเจ้าสัวอย่างเดียว ชื่อปลัดกระทรวงนั้นมาแล้วก็ผ่านไปชั่วพริบตา ก็เปลี่ยนบ่อยเหลือเกิน ใครจะไปจำได้เล่า

ถ้าพูดให้เป็นเรื่องเป็นราวหน่อยก็ต้องบอกว่า ยุคสมัยนี้ภาคเอกชนเข้มแข็งขึ้นมาก มีอาชีพและมีโอกาสเกิดขึ้นหลากหลายนอกจากสิ่งที่ระบบราชการเคยมีเสนอให้ ขณะที่ภาคราชการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าปรับตัวช้าเหลือเกิน

และที่สู้เอกชนไม่ได้เลยเป็นอันขาดก็คือเรื่องของค่าตอบแทน

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เรียนหนังสือจบจากมหาวิทยาลัยหรือจบการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศก็ดี จึงเปลี่ยนแปลงไปจากค่านิยมยุคก่อนเป็นอันมาก

สมัยก่อนคนเรียนหนังสือเก่ง สอบได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ กลับมาก็มารับราชการอยู่ตามกระทรวงตามกรมต่างๆ อยู่กันเป็นสิบๆ ปี สุดท้ายก็ได้เป็นอธิบดีบ้างเป็นปลัดกระทรวงบ้าง ก่อนเกษียณอายุราชการไปใช้ชีวิตตามอัตภาพ ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่หลวงท่านก็มีบำนาญเลี้ยงชีพไปจนกว่าจะตายจากกัน

แถมตอนตายยังได้น้ำหลวงไฟหลวง คือพระราชทานน้ำอาบศพและพระราชทานเพลิงศพเป็นเกียรติยศด้วย

แต่จากการที่ผมเป็นกรรมการในระบบราชการขณะนี้หลายแห่ง สิ่งที่เราพูดคุยกันและน่ากังวลไม่ใช่น้อยคือเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา เขาไม่นิยมทำราชการกันแล้วครับ แรงจูงใจจากภาคเอกชนนั้นสูงลิ่ว ตั้งแต่ค่าตอบแทน โอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้า และกฎระเบียบที่ไม่พะรุงพะรังที่จะปรับตัวเข้ากับโจทย์หรือปัญหาใหม่ๆ อยู่เสมอ

มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเล่าให้ผมฟังว่า เวลาทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เด็กนักเรียนที่จบมหาวิทยาลัยมาสดๆ ร้อนๆ เพื่อรับทุนของทางราชการไปเรียนต่อต่างประเทศ เรียนจบแล้วจะได้กลับมาอยู่กรมโน้นกรมนี้ คำถามหลักที่ถามเด็กเหล่านั้นว่า ทำไมถึงได้มาสอบชิงทุนเหล่านี้

เชื่อไหมครับว่ามีไม่ถึงร้อยละ 30 ที่ตอบว่าเพราะอยากรับราชการ คำตอบอีกกว่าครึ่งกว่าค่อนตอบว่า เพราะอยากไปเรียนต่างประเทศ

เด็กเหล่านี้เขาพูดจริงทำจริงครับ

ทำให้คนแก่อย่างผมต้องตกใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบสถิติว่า นักเรียนทุนจำนวนหลายคนเมื่อกลับมาทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลาสองเท่าของระยะเวลาที่ไปศึกษาต่างประเทศแล้ว เขาก็พร้อมจะโบยบินไปทำงานที่ไหนต่อ “ที่ไหน” ที่ว่านี้เป็นภาคเอกชนทั้งนั้นครับ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะโทษนักเรียนทุนฝ่ายเดียวว่า เขาไม่รักชาติบ้านเมือง ไม่เห็นแก่ราชการ พากันหนีไปอยู่ภาคเอกชน ทำให้ราชการอ่อนแอ

ถามจริงๆ ว่า ราชการของเราเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ถึงขนาดที่จะทำให้เขาอยู่กับเราไปตลอดด้วยความผาสุกจริงๆ หรือ

ถ้าระบบราชการของเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราจะโทษเด็กฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ หากแต่ต้องเหลียวกลับมาดูระบบราชการของเราเองด้วย

เรื่องค่าตอบแทนที่เป็นเงินทองสำหรับจับจ่ายใช้สอยนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ เราต้องดูแลให้ข้าราชการของเราอยู่ได้อย่างสมฐานะ แม้จะไม่เท่าเทียมกันกับภาคเอกชน แต่ก็อย่าให้ห่างกันมากนัก

แต่ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียวนะครับ ที่จะจูงใจให้คนอยู่ในระบบได้ยาวนาน ยังมีเรื่องความเป็นธรรมในการทำงาน การไม่เล่นเส้นเล่นสาย โอกาสที่จะรับการพัฒนาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ การที่ผู้ใหญ่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ และอื่นๆ อีกสารพัดสารพัน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ต้องไม่ใช่แค่พูดไม่รับผิดชอบแบบผม พูดแล้วก็แล้วกันไป หากแต่ต้องทำจริงครับ ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัญญาลมปากที่ไม่เคยได้เห็นผลจริง

เด็กหลายคนมากระซิบบอกผมว่า เหม็นขี้ฟันผู้ใหญ่ครับ

แหม! เล่นเอาหลายคนหน้าม้านกันเลยเชียว