วิเคราะห์ | การเมืองเรื่องหน้ากาก ลีลา ปชป. ขู่ถอนตัว “บิ๊กตู่” ปากไว-ไล่ส่ง จุรินทร์เร่งเคลียร์วุ่น

หลังข้อความ “พายเรือให้โจรนั่ง” เล็ดลอดจากกลุ่มไลน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาถึงสื่อมวลชนนำออกสู่สาธารณะ

สถานการณ์ภายในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้รับการอุปมาอุปไมยเหมือนกับ “หมาเจ็บ เห็บโดด” เนื่องจากลำพังกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็หนักหนาสำหรับรัฐบาลมากอยู่แล้ว

ยังสาหัสมากขึ้นเมื่อโรคโควิด-19 ลุกลามเข้าสู่ปริมณฑลทางการเมือง กรณีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับคณะทำงานรัฐมนตรีคนหนึ่งเข้าไปมีส่วนข้องเกี่ยวกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ตามข่าวที่ว่ามีจำนวนถึง 200 ล้านชิ้น

เป็นรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” อันดับโหล่สุดในบรรดา 6 รัฐมนตรี

ซึ่งถูกฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากข้อกล่าวหากรณีคำพิพากษาศาลประเทศออสเตรเลียและที่มาที่ไปอันคลุมเครือมีพิรุธของวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ

หลายคนมองรอยปริร้าวในรัฐบาลเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พร้อมด้วยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อ้างเป็นตัวแทน ส.ส. 17 เสียงในพรรคประชาธิปัตย์

เห็นว่าไม่ควรไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส

แต่เมื่อผลมติพรรคปรากฏว่าเห็นควรลงมติไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส 24 เสียง และลงมติไม่ไว้วางใจ 17 เสียง “พวกผม 4 คนอยู่ใน 17 เสียงที่เห็นว่ายังไม่ควรไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส แต่เมื่อพรรคมีมติเช่นนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินการตามมติพรรค” นายสาทิตย์กล่าว

แกนนำและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการยืนยันถึงความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค ที่ไม่ว่าสมาชิกเห็นต่างกันอย่างไร สุดท้ายต้องตัดสินชี้ขาดกันด้วยเสียงส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของปรากฏการณ์เดียวกัน ก็ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำงานการเมืองบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีหน้ากากอนามัย เมื่อได้ฟังหัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีแกนนำพรรคให้สัมภาษณ์ หลายคนเริ่มไม่เชื่อว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นสาเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

“ถอนไปสิ” คือปฏิกิริยาแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์

เรื่องของเรื่อง หลังเกิดข่าวกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น อาจเกี่ยวพันกับคณะทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก่อน ร.อ.ธรรมนัสออกมาปฏิเสธ

ปรากฏว่า ในกลุ่มไลน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เกิดการถกเถียงกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

นายเจริญ คันธวงศ์ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เขียนข้อความเสนอให้พรรคเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับ ร.อ.ธรรมนัสออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องรับไม่ได้

ไม่เช่นนั้นพรรคควรถอนตัวจากรัฐบาล

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นในกลุ่มไลน์ว่า “ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับ ที่เราคงจะต้องตัดสินใจไม่พายเรือให้โจรนั่งแล้วครับ”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอถอนตัวจากรัฐบาล ในพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นแตกออกเป็นสองขั้ว เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมือนกับกรณีการโหวตลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส

ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า การกักตุนหน้ากากอนามัย เข้าข่ายเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น 1 ใน 3 เงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ในการตอบตกลงเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ดังนั้น หากพรรคไม่ถอนตัว จะเป็นการผิดต่ออุดมการณ์พรรค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค แถลงมติพรรคเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ในการตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ขณะนั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

เนื่องจาก 3 เงื่อนไขที่พรรคนำเสนอได้รับการตอบสนองทั้งหมด ได้แก่

นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะนโยบายประกันรายได้เกษตรกร การแก้ไขรัฐธรรมนูญนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และการบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

“หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคสามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนในอนาคตได้ในเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาล” นายจุรินทร์ระบุในตอนนั้น

เช้าวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดท้าทายพรรคประชาธิปัตย์ให้ถอนตัว แต่พอตกบ่ายหลังประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ปรับเปลี่ยนท่าทีออกมากล่าวขอโทษพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าตอนเช้าสื่อถามเร็ว ก็เลยตอบเร็วไป

หลังสงบสติอารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามใหม่อีกครั้งกรณีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.จำนวนหนึ่งในประชาธิปัตย์ เสนอให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของมติพรรคและหัวหน้าพรรค การพูดอะไรตนไม่ตอบโต้และให้สิทธิหัวหน้าพรรคไปจัดการ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รับไปดำเนินการแล้ว ให้เป็นเรื่องกลไกทางการเมือง

ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ได้มอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคไปดำเนินการนัดหมายประชุมกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส.ในเรื่องนี้ โดยย้ำถึงวิถีทางประชาธิปไตยภายในพรรค ระบบระเบียบที่มีความชัดเจน

เนื่องจากการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ไม่ได้เป็นความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นมติร่วมกันของพรรค 61 ต่อ 16 เสียง ดังนั้น หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นมติพรรคเช่นกัน

“เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรทุกคนต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ระเบิดอารมณ์ท้าทายพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากรัฐบาล แม้จะออกมากล่าวขอโทษขอโพยหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง

แต่เป็นไปได้ว่า ลึกๆ ในใจ พล.อ.ประยุทธ์มีความมั่นใจว่า บั้นปลายท้ายสุด หลังจากไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลมานานนับสิบปี พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ยอมคิดสั้น ทุบหม้อข้าวตัวเองแน่นอน

ถึงในพรรคประชาธิปัตย์จะมี ส.ส.ที่พร้อมแหกคอกอยู่บ้าง ส่วนใหญ่อยู่ในสายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค แต่ต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นผลให้ชีวิตทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ต้องยุติลง มี ส.ส.ที่จงรักภักดีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็เป็นเพียงเสียงข้างน้อยในพรรค

ไม่ว่ามติพรรค 61 ต่อ 16 ตอบรับเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในเดือนมิถุนายน 2562 หรือมติพรรค 24 ต่อ 17 ในการโหวตไว้วางใจให้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จึงเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ตลอดจนกลุ่มรัฐมนตรีของพรรคต่างหากคือขุมอำนาจที่แท้จริงในพรรค ไม่ใช่กลุ่มอดีตหัวหน้าพรรคที่หมดบารมีไปแล้ว

เมื่อเป็นดังนี้ การเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์มีมติถอนตัวจากรัฐบาล จึงเป็นเรื่องยากพอๆ กับความพยายามคัดค้านไม่ให้พรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่แรก

จากนี้ไปมีการประชุมพรรคเมื่อไร เสียงส่วนใหญ่ก็คงโหวตให้พรรคอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป

แต่ก็ต้องเตรียมคำตอบดีๆ ไว้ให้กับสังคมด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางสถานการณ์รัฐบาลกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสารพัด ทั้งโรคโควิด ฝุ่นพิษ ภัยแล้ง หน้ากาก ขณะที่แฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา อยู่ในระยะฟักตัวพร้อมแพร่กระจายเป็นไฟลามทุ่งได้ตลอดเวลา

คำถามคือ ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังพร้อมกอดคอไปกับ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลแน่หรือ