ดอกเบี้ย “ศูนย์” เปอร์เซ็นต์มาแน่ เศรษฐกิจฝืด เงินฝากล้นแบงก์- “เช็คเด้ง” อื้อ

นับเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย้อนแย้งสำหรับประเทศไทย เพราะในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำติดดิน แต่เงินฝากก็ยังไหลเข้าแบงก์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ธนาคารพาณิชย์เผชิญกับภาวะสภาพคล่องล้น

เฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เงินฝากแบงก์เพิ่มขึ้นเกือบ 1.8 แสนล้านบาท

โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีเงินฝากอยู่ที่ 12,480,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 177,912 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.45%

และนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่จากกรณีธนาคารทหารไทย (TMB) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จาก 0.125% เหลือ 0% เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

แม้ว่าในที่สุดธนาคารจะยอมถอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.125% ตามเดิม

พร้อมคำชี้แจงว่า ธนาคารมีเป้าหมายเพื่อให้การบริหารจัดการทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า เนื่องจากธนาคารมีบัญชีเพื่อการใช้จ่ายหรือออมทรัพย์ทั่วไปที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ (0%) และไม่มีค่าธรรมเนียม และบัญชีเพื่อการออมที่ให้ดอกเบี้ยที่ดี คือ “ทีเอ็มบี โน ฟิกซ์” อัตราดอกเบี้ย 1.4% แต่เมื่อสาธารณชนยังไม่เข้าใจ ธนาคารจึงได้ยกเลิกและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาตามเดิม

อย่างไรก็ตาม เป็นการส่งสัญญาณว่าโอกาสที่คนไทยจะฝากเงินโดยไม่ได้รับดอกเบี้ยเข้าใกล้มาทุกที

เพราะในขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็แทบไม่มีการเติบโต โดยเฉพาะหลังจากที่ช่วงไตรมาส 1/2559 ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต่างเผชิญกับปัญหาตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยับพุ่งขึ้นมา จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ

ด้วยเกรงว่าจะกลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีก

ในด้านหนึ่งแบงก์ต้องเผชิญปัญหาสภาพคล่องล้น แต่ภาคธุรกิจกับส่งสัญญาณว่ากำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องฝืด

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาทั้งการขอสินเชื่อก็ยากลำบาก ขณะที่ยังต้องเผชิญกับภาวะยอดขายชะลอตัว จนถึงปัญหาของคู่ค้าหรือลูกค้าไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด

เรียกว่าปรากฏการณ์ “เบี้ยวหนี้” ในวงการธุรกิจการค้าเริ่มปรากฏมากขึ้น

ทำให้ผู้ประกอบการหลายกลุ่มธุรกิจต้องเข้มงวดในการทำการค้าด้วย “เงินสด”

เช่นที่ “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย ยอมรับว่าขณะนี้ร้านค้ารายย่อยที่เป็นคู่ค้าประเภทเงินเชื่อบางส่วนมีการผิดชำระหนี้มากขึ้น โดยเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปี สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะการค้าขายได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ไม่มีเงินสดมาชำระค่าสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด

“เวลานี้จึงได้หารือกับร้านค้าเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ลดวงเงินเป็นลำดับขั้น จากปัจจุบันลูกค้าได้วงเงินสูงสุดหลักแสนบาท ก็ต้องปรับลดวงเงิน รวมทั้งแนะนำร้านค้ารายย่อยลดการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้าน ลดการสต็อกสินค้า เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการขายในปัจจุบัน รวมถึงการเจรจาให้ร้านค้ารายย่อยทยอยผ่อนชำระหนี้ และสำหรับร้านค้าที่ผิดชำระนัดเกิน 3 ครั้งจะปรับรูปแบบการขายเป็นลูกค้าเงินสดในครั้งต่อไป” นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทยกล่าว และว่า

นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยง ยังจูงใจให้คู่ค้าชำระเป็นเงินสดมากขึ้น ด้วยการให้ส่วนลดประมาณ 1% และในอนาคตพยายามปรับรูปการจ่ายเงินให้เป็นการซื้อขายแบบเงินสด 100% เพราะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ขาย ขณะเดียวกันดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง

เช่นเดียวกับที่ในวงการ “วัสดุก่อสร้าง” ก็ประสบปัญหา โดย นางประไพ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัด (GHM ) เมกะดีลเลอร์วัสดุก่อสร้าง เปิดเผยว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เป็นมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา

บริษัทจึงมีนโยบายรักษาฐานลูกค้ารายเดิมให้เหนียวแน่น และเน้นค้าขายด้วยเงินสดสำหรับลูกค้ารายใหม่ ลูกค้าขายปลีก และผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก

โดยสัดส่วนรายได้มาจากลูกค้าเงินสด 40% ลูกค้าโครงการ 60% โดยบริษัทให้เครดิตเทอม 60 วัน

นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปริมาณเรียกเก็บเช็ครวมในช่วง 4 เดือนแรกมีทั้งหมด 23,584,959 รายการ ลดลง 1.84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่าเรียกเก็บเช็ครวมอยู่ที่ 12.24 ล้านล้านบาท ลดลง 1.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่มีมูลค่าเรียกเก็บเช็ค 12.48 ล้านล้านบาท

โดยมีปริมาณเช็คคืนไม่มีเงิน (เช็คเด้ง) อยู่ที่ 242,005 รายการ มูลค่า 3.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เรียกว่าช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีเช็คเด้งเกือบ 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้นทั้งที่ปริมาณการใช้เช็คลดลง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของธนาคารพาณิชย์ที่เจอภาวะ “สภาพคล่องล้น” และภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหา “สภาพคล่องฝืด” น่าจะสะท้อนถึงปัญหาของกลไกเศรษฐกิจประเทศบิดเบี้ยว ผิดปกติ และยังมีปัญหาในหลายๆ จุด

กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีภารกิจจะต้องแก้ไข ก่อนที่ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศจะลุกลาม ขยายวงออกไปมากกว่านี้