อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : นักศึกษากับการเมืองไทยปัจจุบัน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เขาคือใคร?

เมื่อเราเห็นการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาและนักเรียนมัธยมเรียกร้องความยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แน่นอนมีการตีความไปต่างๆ นานา ได้แก่

นิสิตนักศึกษาถูกชักจูงโดยกลุ่มการเมือง

นิสิตนักศึกษาพวกนี้ช่างอ่อนหัดทางการเมือง

นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เสพติดแต่โซเชียลมีเดียและในไม่ช้าก็จะอ่อนพลังไปเอง

ขู่ว่าจะไม่รับเข้าทำงาน ขู่ ขู่ ขู่ต่อไปพวกเขาก็กลัวไปเอง

คงเป็นเพราะเทคโนโลยี นั่นคือโซเชียลมีเดียต่างๆ กระมัง นิสิตนักศึกษาจึงรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาไม่ใช่พลังทางการเมือง ดังนั้น ข้อเรียกร้องของพวกเขาจึงมีแต่ “มุขตลก” แบบวัยรุ่นหรือพวกเจนแซด แล้วคงมีนักการเมืองหน้าใหม่บางคนเป็น “ไอดอล” เท่านั้น เดี๋ยวก็เลิกประท้วงรัฐบาลไปเอง

บอกตรงๆ ผมเองก็คิดในแวบแรกเหมือนแบบที่กล่าวมาข้างต้น

ถึงแม้ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความสำคัญทางการเมืองของพวกเขา

แต่เวลา 2 วันหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

สาร ที่ไหลบ่าอย่างท่วมท้นตลอดทุกเวลานาทีทำให้ผมต้องขบคิดอย่างหนักถึง สาร ที่พวกเขาส่งออกมาและมีผลหลายอย่างต่อการเมืองไทยปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการเมืองโลกด้วยอย่างน้อย

ผมเรียกพวกเขาว่า ขบวนการทางสังคมใหม่ ซึ่งผมอาจจะตีความผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผมขอเริ่มต้นที่ เขาคือใคร? ก่อน

 

ควรเริ่มต้นที่ว่า เขาเหมือนนิสิตนักศึกษารุ่นพี่ของพวกเขาหรือเปล่า?

หากเราย้อนไปประมาณ 40 ปี คือ การลุกฮือของนิสิตนักศึกษาที่โค่นล้มระบอบถนอม-ประภาส ในคราวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมคิดว่า พวกเขาเหมือนรุ่นพี่ของพวกเขานิดเดียวตรงที่เป็นคนรุ่นใหม่และอายุยังน้อยในยุคนั้น

รุ่นพี่ของพวกเขาต่างได้รับผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนับตั้งแต่ยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา

รุ่นพี่เขาได้รับการฟูมฟักการพัฒนาแบบไม่พัฒนาคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งเฉพาะกลุ่มผู้นำและนักธุรกิจที่ห้อมล้อมผู้นำ

แต่ชนบทที่เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหากแต่ความยากจนของคนในชนบทยังมีอยู่ให้เห็นเต็มไปหมด

ดูเหมือนว่าพีระมิดอำนาจที่สถาปนาระบอบถนอม-ประภาส จะมั่นคงตลอดไปผ่านการสืบทอดอำนาจสู่ทายาททางการเมือง

แต่ในเวลาเดียวกัน นิสิตนักศึกษารุ่นพี่พวกนั้นต่างได้รับการฟูมฟักจากความเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยวและขาดสำนึกทางการเมือง

ดังนั้น นิสิตนักศึกษาสมัยนั้นจึง ฉันจึงมาหาความหมาย พลางพวกเขาต่างขะมักเขม้นอ่านหนังสือและวารสารที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา เช่น หนังสือที่เขียนโดยจิตร ภูมิศักดิ์ งานของเสนีย์ เสาวพงศ์ และบทความที่กล้าเปิดโปงรัฐบาลและระบบราชการสมัยนั้นในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นต้น รวมถึงการรวมตัวกันทำกิจกรรมค่ายอาสาบ้าง กลุ่มสนใจปัญหาบ้านเมือง รวมทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องนี้ผมเรียกว่า ปัญญาชน

 

หากทว่าพื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน ผมว่า ทศวรรษ 2540-2550 ได้บ่มเพาะพวกเขาขึ้นมา

ดังนั้น ในขณะที่พวกเขาเห็นพ่อ-แม่ของพวกเขาต้องตกระกำลำบากจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ทำให้พ่อ-แม่ของพวกเขาต้องตกงานบ้าง เปลี่ยนงานบ้าง พวกเขายังได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังนักการเมืองอันไม่พึงปรารถนาประเภท ยี้แย้ธิปไตย มิทันไรก็เกิดรัฐประหารปี 2549 ผู้นำทหารทำการรัฐประหารหลังจากการรัฐประหารล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534

แต่ทว่าพวกเขาได้ประจักษ์แก่สายตาแล้วว่า หลังจากนั้นผู้นำทหารกลุ่มเดิมไม่ได้ถอยออกจากเศรษฐกิจ การเมืองไทยอย่างที่ควรจะเป็นอีกเลย

ตรงกันข้าม มีรัฐประหารต่อเนื่องกันคือ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วผู้นำทหารกลุ่มเดิมๆ ก็เป็นรัฐบาลต่อเนื่องเรื่อยมา พวกพ้องของพวกเขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบ้าง แล้วบางคนก็ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีเงื่อนไขสนับสนุนคนแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

แลกกับที่ผู้ทรงเกียรติเหล่านี้จะมีวาระนาน 5 ปีอย่างสง่างามและถูกต้องตามกฎหมาย

 

ไม่เพียงแต่เท่านั้น นิสิตนักศึกษาปัจจุบันยังมีประสบการณ์ทางการเมืองดังที่คุณ orawan สรุปอย่างเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

คุณ orawan ข่าวเข้ม-tukorawan ทวีตเอาไว้ว่า

“พวกเขาเติบโตมาในช่วงความวุ่นวายทางการเมือง เลือกตั้ง ปฏิวัติ ม็อบทั้งเอาไม่เอารัฐบาล ม็อบอยากและไม่อยากเลือกตั้ง จนสุดท้ายได้การเลือกตั้ง ที่ไฮบริดหลักการประชาธิปไตยกับคำสั่งคณะปฏิวัติมาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยอ้างประชามติแบบไม่เป็นประชาธิปไตยมาเป็นเกราะเหล็กหนาป้องกันตัวผู้นำทางการเมืองเอาไว้”

“ดังนั้น พวกเขาอาจไม่ได้อ่านหนังสือคลาสสิคของจิตร ภูมิศักดิ์ พวกเขาไม่ได้อ่านวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ทว่าประสบการณ์ทางการเมืองที่ผู้นำกองทัพเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่เหตุการณ์การกราดยิงที่โคราช ก็ทำให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจความอยุติธรรมที่ฝังลึกในระบบราชการ รวมทั้งพวกเขาเบื่อนักการเมืองที่ทะเลาะกันบนท้องถนนในความขัดแย้งระหว่างสีเหลือง สีแดงและสีฟ้า ซึ่งในความเป็นจริงเป็นตัวแทนฝักฝ่ายของผลประโยชน์ แต่แล้วพวกหน้าตาเดิมๆ ก็กลับเข้ามาในรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งที่รอคอยกันนานแสนนาน มิหนำซ้ำ นักการเมืองหน้าใหม่ที่ตอนแรกดูเหมือนมีอุดมการณ์ทางการเมืองเคียงข้างประชาชนแต่กลับมีพฤติกรรมดั่งงูเห่า งูเห่าที่ย้ายพรรคกันต่อหน้าต่อตาในสภาช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งๆ ที่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในรอบ 5 ปี ชั่งประทับใจพวกเขาเสียเหลือเกิน”

“พวกเขาเบื่อนักการเมืองช่างพูดที่พูดแต่เรื่องของตัวเองในรัฐสภา นักการเมืองที่ด่าทอและเอาชนะกันในคดีความเรื่องความร่ำรวย เรื่องที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเขตที่ดินของหลวง เรื่องคดีความในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วอ้างว่าไม่เกี่ยวอะไรเลยในตำแหน่งการเมืองในปัจจุบัน

 

จาก “สาร” สู่ความเคลื่อนไหว

ไม่ใช่ “แฟลชม็อบ” หรือเทคโนโลยีสื่อสารทางโซเชียลอะไรเลยครับ

เทคโนโลยีจะเป็นพลังทางการเมืองอันมหาศาลและเกรียงไกรได้อย่างไร ถ้าไม่มี เนื้อหา ที่สะท้อนความเป็นจริงของการเมืองไทยปัจจุบัน

แผ่นป้ายการเมืองหลากสีสันที่เขียนเรื่องเสียดสีการเมืองอย่างแสบๆ มีพลังเหลือเกิน เพราะมันคือความจริงที่คนรุ่นใหม่เขาประกาศออกมาให้โลกรู้ว่า

พวกเขาต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องไร้สาระอย่างที่ผู้ใหญ่คิดหรือตีความกันไปเอง

พวกเขาประกาศเจตนารมณ์ถึงอนาคตของพวกเขา เช่น การมีงานทำที่มั่นคงเมื่อจบการศึกษา มีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณธรรม ไม่ใช่มีผู้ปกครองหรือผู้นำที่ทุศีล พวกเขามีความฝันถึงความเท่าเทียมกันทางสังคม ทางเพศสภาพและการศึกษา พวกเขาใฝ่ฝันถึงผู้ใหญ่ซึ่งก็คือนักการเมืองและข้าราชการที่รับใช้ประชาชนผู้เสียภาษีโดยทำงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม

อย่าดูถูกว่าใครบงการพวกเขา อย่างที่ใครเคยบงการผู้ใหญ่มาก่อน อย่าดูถูกความคิดทางการเมืองและอุดมคติของพวกเขา

หน้าประวัติศาสตร์เปลี่ยนด้วยมือของพวกเขาแล้ว