คุยเปิดอก ปธ.จัดงานโทรทัศน์ทองคำ : งานแจกรางวัลกับผลที่ตามมา เรื่องธรรมดาโลกและการให้เกียรติกัน

“เป็นธรรมดาโลกที่เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้”

อย่างไรก็ดี ดร.ณ ฤดี เคียงศิริ ประธานคณะกรรมการจัดงานโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 34 ก็ยืนยันท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการมอบรางวัลให้บุคคลและผลงานทางโทรทัศน์ที่ “ยังคงความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เหมือนเดิม”

ไม่ได้เป็นการให้ด้วยความเสน่หา หรือว่าปลื้มปริ่มใครหรือช่องหนึ่งช่องใดเป็นพิเศษ

รางวัลที่ประกาศไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ “เป็นการตัดสินจากคณะกรรมการหลายๆ คนประกอบกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเลือก”

อีกทั้งแม้จะใช้กรรมการชุดเดิม แต่ก็มีการปรับวิธีการใหม่ นั่นคือ จากเดิมที่แบ่งกรรมการเป็นชุดๆ พิจารณางานแบบแยกเป็นประเภทละครชุดหนึ่ง ข่าวชุดหนึ่ง กีฬาชุดหนึ่ง ฯลฯ ก็จับมาผสม แล้วแยกเป็น 3 เซ็ต คือกรรมการคัดสรร กรรมการคัดเลือก และกรรมการตัดสิน

“กรรมการเราไม่ได้รู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในเชิงของวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ก็จะรอบรู้และดูหลายๆ มุม ทั้งทางวิชาการและวิชาชีพพวกที่โลดแล่นในวงการก็ลูกศิษย์ท่านทั้งนั้น”

ขณะเดียวกันกรรมการก็ไม่ได้มาจากสำนักใดสำนักหนึ่ง “เรียกได้ว่าเกือบจะครบเลย จากมหาวิทยาลัยเด่นๆ ที่สอนด้านวารสารกับนิเทศ”

“เพราะฉะนั้น เรามั่นใจว่ากรรมการเราตัดสินด้วยภูมิจริงๆ”

ด้วยเหตุนี้เสียงวิพากษ์ทำนอง ต้องเปลี่ยนชื่อรางวัลเป็น “ช่อง…อวอร์ด” จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกใดๆ

“ที่บางช่องได้เยอะ อาจจะเป็นเพราะว่ารางวัลประเภทละครมีจำนวนมากกว่าจำนวนรางวัลประเภทอื่น” คือสิ่งที่เธอบอก

ขณะเดียวกันยังยืนยันว่า “ทุกช่องได้รับการเสนอ ได้รับการพิจารณา แต่ว่าแคนดิเดตมีได้แค่ 5 ถ้าเรามีได้ 10 ก็อาจจะเห็นหลายช่องมากกว่านี้ ซึ่งเราไม่ได้ดูช่องนะคะ แต่ว่ามันอาจจะเป็นเพราะเขาผลิตเยอะ หรือเขามีคุณภาพที่เข้าตากรรมการมากหน่อย”

ที่ถามๆ กันว่าทำไมปีนี้ถึงไม่มีรางวัลใหญ่ อย่าง รางวัลละครดีเด่น ดร.ณ ฤดี ก็ว่า เป็นเพราะความตั้งใจที่จะให้จำนวนรางวัลลดน้อยลง ด้วยที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปีหลังๆ ซึ่งมีจำนวนรางวัลมาก จนเวลาออกอากาศที่ตกลงไว้กับสถานีโทรทัศน์แทบจะไม่พอ จึงตัดสินใจ “รีเซ็ต” ตัวเองใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่

ส่วนที่เลือกตัดรางวัลใหญ่ที่ว่าออก ก็ด้วยเหตุผลว่า ละครดีเด่นจริงๆ แล้วก็คือละครเรื่องที่ได้รับรางวัลประเภทนี้ไปเยอะที่สุด ซึ่งหากอยากรู้ให้ใช้วิธีนับจำนวนรางวัลประเภทละครที่ได้ไปก็คงทราบ

เรื่องรางวัลที่ประกาศไปบางรางวัล ค้านกับสายตาและหัวใจคนดู ดร.ณ ฤดี ขอถามกลับ “รางวัลไหนค้านกับใครล่ะคะ”

“เพราะว่ามันค้านกับคนหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่ค้านกับอีกคนก็ได้ อาจจะมีหลายล้านคนที่ไม่ค้าน เขาก็ไม่พูด อาจจะมีค้านอยู่แค่ 5 คน 10 คน แต่ว่าพูดขึ้นมา เท่านั้นเอง”

“และมันเป็นธรรมชาติที่เราไม่สามารถจะพลีสทุกคนได้”

“ใครเชียร์ใครก็เข้าใจ ใครแฟนใครก็เข้าใจอีกเหมือนกัน ซึ่งรับฟังนะคะ รับฟัง แต่ก็ไม่ตื่นเต้นอะไร เพราะเข้าใจโลก ว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ”

เรื่องรางวัลที่นับวันก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นๆ จากสำนักนั้น สถาบันนี้ ซึ่งแต่ละที่ แต่ละแห่ง แม้จะเป็นรางวัลชื่อเดียวกัน แต่ผลที่ได้ก็แตกต่างเธอมองว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี

“มีหลายรางวัล ก็มีผู้ได้รับรางวัลมากขึ้น แต่ละรางวัลก็มีกรรมการแตกต่างกันไป ในส่วนตรงนี้ก็ดีแล้ว”

“เราอยากส่งเสริมวงการโทรทัศน์ ดังนั้น ยิ่งให้รางวัลเยอะ คนมีกำลังใจเยอะ ทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง เขาก็จะผลิตงานที่ดีออกสู่ประชาชน”

ความแตกต่างด้านความเห็นกรรมการ ที่ส่งผลให้ผลรางวัลออกมาไม่ตรงกัน นั่นก็ไม่เป็นไรเช่นกัน เพราะทุกสิ่ง “แล้วแต่กรรมการมองเห็น”

ไม่มีถูก มีผิด

“และก็แล้วแต่ประชาชนชอบใจ อาจจะถูกใจบางคน ไม่ถูกใจบางคน ดีแล้วค่ะ จะได้มีคนแฮปปี้หลายๆ ทาง มองโลกในแง่ดี ดีกว่า”

เรื่องจะรวมรางวัลให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เคยมีคนพูดถึง นั่นก็เป็นเรื่องแล้วแต่มุมมอง

“ทานข้าวโต๊ะเดียวกัน สิบคนก็ยังชอบกับข้าวไม่เหมือนกันเลย คนนี้ชอบแกง คนนั้นชอบผัด อีกคนบอกไข่เจียวก็อร่อยแล้ว”

ดังนั้น “เป็นอิสระซึ่งกันและกันดีกว่า” ว่าแล้วก็หัวเราะ

กับเรื่องของคนในวงการที่ดูเหมือนว่า แต่ละงานประกาศผลรางวัลลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นขององค์กรไหน ส่วนใหญ่จะมีผู้ไปร่วมงานน้อยลง-น้อยลง ดร.ณ ฤดี ก็ว่า “นี่เป็นเรื่องที่อยากฝากถึงคนทีวีเลย ว่าแอดติจูดของเราคือการให้ความสำคัญกับคนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เราเชิญทุกคนมาร่วมงาน จะเป็นช่างไฟ ช่างกล้อง คนเขียนบท ดารา อยากให้มาร่วมงานทั้งหมด ไม่อยากให้รู้สึกว่าจะต้องได้รางวัลถึงมา”

“เราให้เกียรติคนทีวี คนทีวีก็ควรจะให้เกียรติเราด้วย”

“เพราะแค่มีชื่อเข้าชิงก็ถือว่าเป็นเกียรติแล้ว ไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร แล้วบางครั้งคะแนนก็เฉือนกันแค่คะแนนเดียว คนไม่ได้ก็ไม่ใช่ว่าด้อยกว่าอะไรมากมาย”

“อยากฝากไปถึงคนทีวี ขอให้มาร่วมงาน ถือว่ามาเปิดประสบการณ์ มาสังสรรค์ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมาดู ว่าคนที่ได้รางวัล ทำไมเขาถึงได้รางวัลนี้”