คำ ผกา : คืนไม่คืนก็ต้องทวง

คำ ผกา

เผลอแป๊บเดียวเองคนไทยเราอยู่ในการเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับและอยู่ภายใต้ “สถานการณ์พิเศษ” มาสามปีกว่าแล้ว อีกไม่กี่เดือน สถานการณ์พิเศษนี้จะมีอายุครบ 4 ปี เท่ากับ 1 เทอมของการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สถานการณ์พิเศษนี้หมายถึงการอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษอย่าง ม.44 ที่เปรียบเสมือนยาวิเศษ ตรงไหนขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ ตรงไหนติดขัด ตรงไหนล่าช้า รัฐบาลก็สามารถใช้ ม.44 ไปจัดการได้ทันที

ล่าสุดมีแม้กระทั่งการเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจเด็ดขาดนี้ไปจัดการกับร้านเหล้ารอบสถานศึกษา นัยว่าเพื่อปกป้องเยาวชนให้พ้นจากความชั่วร้ายของอบายมุข

ความกังวลของฉันเวลาอ่านข่าวเหล่านี้ ฉันไม่ได้กังวลเรื่อง ม.44 ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่กังวลเรื่อง “โลกทรรศน์” ของคนในสังคมที่ถูกหล่อหลอมมาให้รักในอำนาจแบบที่ปฏิบัติการผ่าน ม.44

โลกทรรศน์ที่ปฏิบัติการผ่าน ม.44 คืออะไร?

โลกทรรศน์ที่ว่าคือความหลงใหลในเผด็จการโดยธรรมของสังคมไทย

โลกทรรศน์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ คสช. เข้ามา

โลกทรรศน์นี้เกิดขึ้นมาคู่ขนานกับขบวนการปลดปล่อยสังคมไทยออกจากระบบศักดินาและก่อร่างสร้างสำนึกแห่งความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาในสังคมที่เริ่มจากคนเพี้ยนๆ คนพิเรนทร์ๆ ในสังคมไทยอย่าง เทียนวรรณ หรือกลุ่มหัวก้าวหน้าอย่างกลุ่ม กบฏ ร.ศ.130

แน่นอนว่า เมื่อคนกลุ่มนี้ปรากฏตัว ฝ่าย “อนุรักษนิยม” ย่อมต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อต้านทานแนวคิดของคนกลุ่มนี้

การต่อสู้ของสองอุดมการณ์เข้มข้นที่สุดก็เมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเพียง 25 ปีเท่านั้นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับขึ้นมาครองอำนาจนำทางอุดมการณ์ได้อีกครั้ง

เรียกได้ว่า เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไคยในสังคมไทยยังเป็นแค่ถั่วงอก ก็โดนถอนทิ้งไปเกือบหมด ไม่ทันได้เติบโต หรือหยั่งรากลึงลงในแผ่นดินนี้เลย

อุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยนี้ทำงานผ่านสิ่งที่เป็น soft power เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ทั้งพูดและเขียนที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นโครงสร้างทางภาษาที่มีความ “จำนน” และมีความดื้อรั้นหรือแสดงศักดิ์ศรีของผู้พูดได้น้อยมาก ทำงานผ่านวรรณกรรม และงานเขียนงานนิพนธ์ของปัญญาชนสายอนุรักษนิยมนั้นกินพื้นที่ “การศึกษา” ไทยไว้ได้เกือบจะร้อยละร้อย

เรียกได้ว่า ปัญญาชนไทยระดับหัวกะทิ ที่เป็นคนวางฐานรากแห่งองค์ความรู้ทุกแขนงในประเทศไทยทั้งสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ วิจิตรศิลป์

ไม่มีปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้าปะปนอยู่เลยแม้แต่คนเดียว

ตัวอย่างที่ชวนสลดใจที่สุดคือ ปัญญาชนที่ถือว่า “ขบถ” สุดๆ ของสังคมไทยยังเป็นคนที่ “ขวา” สุดโต่งแบบ ส.ศิวรักษ์

ดังนั้น เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าจะเห็นแนวคิดที่เป็น “ราดิกัล” จะมีส่วนแบ่งในการประวัติศาสตร์ของการสร้างภูมิปัญญาไทย

ในสายแห่งพุทธศาสนาที่ในทางปฏิบัติ ท่านพุทธทาส คือ ยอดมงกุฎแห่งภูมิปัญญาพุทธศาสนาของไทย ซึ่งในที่นี้คงไม่มีใครมองว่าท่านพุทธทาสเป็นฝ่ายซ้ายหรือเป็นลิเบอรัลแน่นอน บทบรรยายที่ถือเป็นตำนานแห่งองค์ความรู้ด้านศาสนาและการเมืองของท่านคือ “ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการ” หรือ “สังคมนิยมตามหลักแห่งศาสนาทุกศาสนา”1 ตอนหนึ่งในบทบรรยายชิ้นนี้ ท่านพูดถึง “เสรีประชาธิปไตย” ว่า

“คนคนไหนก็อ้างเสรีภาพได้ คนพาลก็อ้างได้ บัณฑิตก็อ้างได้…เสรีภาพนี้ทำกะมันยาก เพราะมันยังอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ถ้าจะถามว่าคนในโลกนี้เขาหมดกิเลสกันหรือยัง? ก็ยอมรับว่า ยังมีกิเลส…ฉะนั้น ประชาธิปไตยชนิดนี้ไม่ปลอดภัย เพราะสำหรับคนมีกิเลส ก็ย่อมรวมหัวกัน เพื่อให้กิเลสได้รวมหัวกันบัญญัติอุดมคตินั่นเอง”

จากนั้น ท่านเสนอมาหนึ่งคำ ซึ่งตัวท่านเองบอกว่าเป็น “คำบ้าๆ บอๆ” แต่

“ที่จริง ประชาธิปไตยเผด็จการ เป็นคำที่ถูกต้องหรือไพเราะที่สุด แต่คนเขาเกลียดเสียงของคำว่า เผด็จการ เพราะเรากำลังมาเสรีนิยม นั่นก็เพราะเข้าใจคำว่าเผด็จการผิดๆ อยู่บางอย่าง คำว่าเผด็จการนี้ขอแยกเป็นสองความหมาย ถ้าเป็นหลักวิธีปฏิบัติหรืออุดมคติ ในฐานะอุดมคติทางการเมืองนี้ มันก็ใช้ไม่ได้; แต่ถ้าเป็นเพียงปฏิบัติงาน ดำเนินงานเท่านั้นที่จะใช้ได้ คือมันทำได้เร็วกว่า ถ้าประชาชนเป็นสังคมนิยม เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แล้วเห็นว่าปัญหานี้มันอืดอาดนักก็มอบให้เผด็จการ ก็คือ ประชาธิปไตยเผด็จการ ประชาชนเผด็จการ อย่างนี้มันดีกว่า ขอให้ระวังความหมายของคำว่าเผด็จการให้ดีๆ อย่าเอาแต่เสียง หรือคำพูดที่พูดๆ กันอยู่ เพราะว่าเรากำลังจะต้องขึ้นไปจนถึงประชาธิปไตยชนิดธัมมิกสังคมนิยม และก็ใช้วิธีเผด็จการด้วย”

ดังนั้น ถ้าเราไล่เรียงชื่อของปัญญาชนไทยที่เป็นผู้ลงหลักปักฐานโลกทรรศน์ทางการเมืองไทยสมัยใหม่ไว้กับคนไทย ตั้งแต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คึกฤทธิ์ ปราโมช พุทธทาสภิกขุ ส.ศิวรักษ์ ประเวศ วะสี เราจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมโพลทุกโพลจึงรัก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

และทำไมสังคมไทยจึงเห็นว่า มาตรา 44 จะพาประเทศผ่าทุกทางตันไปสู่อนาคตอันเรืองรอง

 

กลับมาที่สิ่งที่ฉันกังวลใจว่า ในขณะที่เราเถียงกันว่า ธรรมกายถูกหรือผิด ร้านเหล้าควรห่างจากสถานศึกษากี่ร้อยเมตร หรือสามารถเข้าไปอยู่ในสถานศึกษาได้เลย เราควรสร้างเหมืองถ่านหินหรือไม่ สื่อควรทำอย่างไรกับ พ.ร.บ.สื่อฯ ที่กำลังจะออก ฯลฯ

สิ่งที่กัดกินสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้คือ เราไม่ได้คุยกันเลยว่าในทุกความไม่ลงรอยกันในสังคมไทย ณ ขณะนี้ เป็นความลงรอยอันสามัญปกติที่ทุกๆ สังคมต้องเผชิญเป็นเรื่อง “ปกติ” มากๆ แต่ที่ไม่ปกติคือ เรากำลังจัดการความไม่ลงรอยเหล่านี้บน “อำนาจ” ที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสิ้นเชิง

ทุกครั้งที่เราพูดว่า คสช. ควรทำสิ่งนั้น ไม่ควรทำสิ่งนี้

คสช. ควรฟังเสียงประชาชน

คสช. ควรทำประชาพิจารณ์เรื่องถ่านหินใหม่

คสช. ควรเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง

คสช. ควรช่วยชาวนา

คสช. ควรเร่งแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ยิ่งเราพูดอย่างนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่าเรายอมรับการดำรงอยู่ของรัฐบาลของ คสช. มากขึ้นเท่านั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว เราต้องเรียกร้องให้ คสช. ไม่ทำอะไรเลย นอกจากอำนวยการเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแม็ป

เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น “การตัดสินเชิงนโยบาย” ทั้งหมดจึงจะสามารถเริ่มกระบวนการของมันได้ใหม่

 

สิ่งที่สังคมไทยเผชิญอยู่ตอนนี้คือ

– คนไทยที่เป็นผลผลิตของปัญญาชนสยามกระแสหลัก คนเหล่านี้ถูกบ่มเพาะ สั่งสอน กล่อมเกลามาให้รังเกียจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เพราะเชื่อว่าเป็นลัทธิที่ดีในทางทฤษฎี แต่ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะถูกใช้โดยมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนไทยเหล่านี้ศรัทธาในเผด็จการ เพราะเชื่อว่า หากคนที่มีธรรมมะ มีอำนาจเผด็จการอยู่ในมือ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขอย่างฉับไว ทันท่วงที และเราต้องการ “เผด็จการโดยธรรม” มาสะสางปัญหาที่พวกประชาธิปไตยมีกิเลสทิ้งเอาไว้ให้กับสังคม

ดังนั้น คนไทยกลุ่มนี้จึงเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจให้รัฐบาล คสช. ดำเนินการ “ปฏิรูป” ให้ลุล่วง การปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งของการล้างบางปัญหาที่สะสมมาจากรัฐบาลประชาธิปไตย ดังนั้น คำพูดของ พลเอกประยุทธ์ บอกว่าปัญหาทุกๆ เรื่องที่รัฐบาลนี้ต้องเข้ามาแก้ ล้วนแต่สะสมมาจากรัฐบาลที่แล้ว จึงไม่ใช่คำพูดที่ไม่มีที่มาที่ไป ตรงกันข้าม มันเป็นคำพูดที่มี “โลกทรรศน์” แบบ “ไทยกระแสหลัก” รองรับอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับคนไทยที่เชื่อใน “ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการ” จึงไม่รีบร้อนที่จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนกว่าเขาจะแน่ใจว่าเขาปฏิรูปสำเร็จ คนอย่าง ธีรยุทธ บุญมี ก็เชื่อเช่นนี้ การที่เขาออกมาติงรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อให้รัฐบาลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เพื่อให้รัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการในการสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม” (ในจินตนาการของเขา)

– คนไทยที่เชื่อในประชาธิปไตย กำลังสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมในการปกครองทางอ้อม ด้วยการเฝ้าเสนอข้อเรียกร้องต่อพวกเขาทุกๆ วัน เช่น ต้องปรองดองโดยฟังเสียงประชาชน ต้องให้เสรีภาพกับสื่อมากกว่านี้ ต้องไม่สร้างเหมืองถ่านหิน ฯลฯ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลนี้ทำงาน เมื่อนั้นความชอบธรรมในการ “ทำงาน” ของรัฐบาลนี้ก็เกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ต้องการประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเดียวที่ควรมีต่อรัฐบาล คสช. คือ ขอร้องให้หยุดทำงาน (ประเทศที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจาก ปชช. ทำได้แค่ให้ระบบราชการประคองและดำเนินงานไปตามนโยบายเดิมไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า ประเทศต้องมีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) ตรงกันข้าม การเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ทำงานจึงมีความหมายเท่ากับการไม่รีบร้อนที่จะมีการเลือกตั้ง และโดยปริยาย เราจะค่อยๆ ลืมไปว่า การเลือกตั้งนั้นสำคัญขนาดไหนกับชีวิตของ “ประชาธิปไตย”

ก่อนที่เราจะอยู่กับรัฐบาลนี้ครบ 4 ปี

ก่อนที่เราจะลืมไปแล้วว่าการเลือกตั้งคือลมหายใจของประชาธิปไตย

เราต้องเตือนตัวเราเองอยู่เสมอ ไม่ให้ “ขอ” อะไรจากรัฐบาลนี้

และจะโดยเงียบหรืออึกทึก สิ่งที่เราต้องทำคือ “ทวง”

และสิ่งที่เขาต้องทำคือ “คืน”

1ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ หรือ สังคมนิยมตามหลักแห่งศาสนาทุกศาสนา. พุทธทาสภิกขุ บรรยายอบรมผู้จะเป็นผู้พิพากษา รุ่นปี 2517 ณ สวนโมกข์ ไชยา. 15 กันยายน 2517