คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ไม่นับถือศาสนาเสียยังดีกว่า

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในการสำรวจชื่อ “ภูมิทัศน์ในการนับถือศาสนาของคนทั่วโลก” ของ The Pew Forum on Religion & Public Life ในปี 2553 มีสถิติที่น่าสนใจมากว่า มีประชากรโลกที่เป็นผู้ “ไม่นับถือศาสนาใด” เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นประชากรอันดับสามของโลก รองจากคริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลามเท่านั้น

น่าสนใจว่า ประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีและญี่ปุ่น มีผู้ไม่นับถือศาสนาเกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด มากกว่าประเทศที่เราคิดว่าน่าจะมีคนไม่นับถือศาสนาเยอะๆ อย่าง ฝรั่งเศส หรือประเทศในยุโรป

ส่วนไทยมีผู้ไม่นับถือศาสนา จากสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2543 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีจำนวน 0.27 ของประชากรทั้งหมด

การมีผู้ไม่นับถือศาสนาที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น หลายคนโดยเฉพาะศาสนิกและนักบวชทั้งหลายคงมีความกังวล

นักศึกษาหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า เวลาที่มีใครถามเขาว่า นับถือศาสนาอะไร เมื่อเขาหรือเธอตอบว่า “ไม่ได้นับถือศาสนา” ก็สร้างความตกอกตกใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็ปรากฏท่าทีประหลาดใจแก่ผู้ถามเสมอ

บางคนเมื่อเห็นว่าตนเองไม่นับถือศาสนา จึงตัดสินใจไม่ไปร่วมพิธีกรรมกับบ้าน ครั้นพ่อแม่ทราบเข้าก็ต่อว่า ว่าไม่นับถือศาสนาได้อย่างไร ทำนองว่าคนไม่มีศาสนาย่อมไม่มีศีลธรรมประจำใจ กลัวลูกจะหลงทาง

ความเข้าใจที่ว่าศาสนาเท่านั้นเป็นที่มาของศีลธรรม เป็นสิ่งที่มีแพร่หลายในสังคมเรา เพราะ “สังคมศาสนา” ย่อมจะคุ้นเคยศีลธรรมทางศาสนามากกว่าอะไรอื่น

 

ศีลธรรมทางศาสนา หมายถึง ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีนัยทางศีลธรรม

กล่าวคือ เป็นข้อกำหนดเชิงคุณค่า มีดีมีชั่ว โดยมีที่มาจากคำสั่งสอนในศาสนาไม่ว่าจะเป็นเทวประกาศิต หรือหลักการอื่นๆ ของศาสนานั้นๆ

ในแง่นี้ศีลธรรมทางศาสนาจึงมีลักษณะคำสั่งให้ศาสนิกประพฤติตาม มิฉะนั้นจะได้รับบาปหรือโทษฑัณฑ์หรือจะเรียกว่าผลกรรมก็ได้

ศิลปินนักดนตรีซึ่งเป็นมุสลิมท่านหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่เขาไม่กินหมู ไม่ได้มีเหตุผลอย่างอื่นนอกจากเป็นคำสั่งของพระเจ้า ผิดกับหนังสือทางศาสนาหลายเล่มที่พยายามอธิบายความไม่ดีของการกินหมู เช่น การพูดถึงเรื่องสุขภาพและเหตุผลต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์

ผมว่า นักดนตรีท่านนั้นเข้าใจดีว่า หลักปฏิบัติของศาสนาที่มีพระเจ้าหรือศาสนาเทวนิยมนั้น ข้อปฏิบัติทางศีลธรรมเป็นเทวประกาศิต คือเป็นคำสั่งเด็ดขาดของพระเป็นเจ้าผ่านการเผยแสดงของคัมภีร์ ศาสนิกมีหน้าที่กระทำไปเท่านั้น ไม่ต้องถามหาเหตุผล(?)

ส่วนศาสนาอเทวนิยม เช่น พุทธศาสนาและศาสนาไชนะ ไม่ได้มีหลักเทวประกาศิต แต่กระนั้น โดยรากฐานของศาสนาเหล่านี้ซึ่งเกิดในอินเดีย รับรองว่ามีหลัก “กรรม” ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมของผลที่จะได้รับจากการกระทำของเรา

 

แนวคิดเรื่องกรรม ที่จริงโดยรากฐานมาจากแนวคิดรวมๆ ของศาสนาในอินเดีย คือ แนวคิดเรื่อง “อทฤษฏะ” อันมีมาตั้งแต่สมัยพระเวท อทฤษฏะเป็นพลังงานลึกลับที่มองไม่เห็น พลังงานนี้เกิดขึ้นเมื่อเรากระทำดีหรือชั่ว สะสมเอาไว้ และสุดท้ายพลังงานนี้ย่อมจะส่งผลมายังผู้กระทำในลักษณะต่างๆ

ดังนั้น แม้ไม่มีพระเป็นเจ้า แต่ก็มีพลังงาน “กรรม” ที่คอยบงการและให้ผล ในแง่นี้หลักศีลธรรมของศาสนาอเทวนิยมก็ยังคงมีอะไรลึกๆ ลับๆ อยู่บ้าง ไม่ถึงกับสามารถอธิบายให้มีเหตุผลได้ทุกข้อ

แม้เรื่องศีลธรรมทางศาสนา จะเป็นข้อบัญญัติที่ศาสนิกต้องทำตาม ในทางกลับกัน การจะอธิบายหลักศีลธรรมดังกล่าวให้กับผู้ไม่มี “ความเชื่อ” ก็ต้องการคำอธิบายที่มีเหตุผลมากพอเหมือนกัน นี่ทำให้นักปรัชญาในสมัยกลางของฝรั่ง พยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายข้อเชื่อและการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าโดยใช้เหตุผล แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

การเติบโตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ยี่สิบและแตกสลายของชุมชนทำให้ศาสนาเริ่มหมดพลังในการอธิบายโลกและชีวิตอีกต่อไป เพราะวิทยาศาสตร์เข้ามาทำแทนและทำได้ดีในระดับหนึ่ง

ในโลกที่ผู้คนไม่ได้สังกัดตนเองใน “ชุมชนทางศาสนา” อีกแล้ว การเกิดขึ้นของปัจเจก ทำให้การไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทั้งนี้ การไม่นับถือศาสนามิได้แปลว่า คนคนนั้นจะปราศจากหลักศีลธรรมดังที่เข้าใจกันผิดๆ นะครับ เพราะที่จริงแล้ว นอกจากศีลธรรมทางศาสนาที่ยึดพื้นที่ไว้ยาวนาน ยังมีศีลธรรมอีกชุดหนึ่งซึ่งเราอาจเรียกง่ายๆ ว่า “ศีลธรรมแบบโลกย์ๆ” อยู่ด้วย

ศีลธรรมแบบโลกย์นั้น อธิบายให้ง่ายที่สุด คือศีลธรรมที่ไม่ได้มาจากความเชื่อทางศาสนา แต่มีฐานคิดแบบ “จริยศาสตร์” คือมุ่งแสวงหาเกณฑ์ หรือบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข หรือในแง่ปัจเจกบุคคลคือการมุ่งไปสู่ “ชีวิตที่ดี” ของแต่ละคน

ตัวอย่างของศีลธรรมแบบโลกย์ๆ เช่น จริยศาสตร์บรรทัดฐานของ เอมมานูเอล คานต์ และของ จอห์น สจ๊วต มิลล์

ที่จริงจริยศาสตร์ของสองท่านนี้ มีรายละเอียดมาก แต่ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า คานต์นั้นเน้น “เจตนา” ในการพิจารณาการกระทำและถือว่าต้องไม่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ

ในขณะที่มิลล์นั้น เป็นจริยศาสตร์ที่เรียกว่า “ประโยชน์นิยม” คือเน้นว่า การกระทำที่ดีคือการกระทำที่สร้างประโยชน์สุขได้มากและมีคุณภาพ

นอกจากศีลธรรมจากจริยศาสตร์บรรทัดฐานสองอย่างนั้นแล้ว ยังมีศีลธรรมแบบโลกย์ๆ อีกมาก เช่น หลักความเท่าเทียม คือ มนุษย์เท่าเทียมกัน จึงนำมาสู่การเคารพสิทธิ์และเสรีภาพของคนอื่นที่เท่ากับเรา การไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น การไม่ใช่ความรุนแรง ฯลฯ

ผู้ไม่นับถือศาสนาจึงสามารถมีหลักศีลธรรมได้ เพราะการไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าจะไม่มีศีลธรรมเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งศีลธรรมทางศาสนาเสียอีกที่มีความจำเพาะ ไม่ได้เหมาะกับความเป็นสากล หรือสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น การห้ามดื่มสุรา พื้นที่และสิทธิของผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งคนที่ยึดถือคุณค่าอื่นย่อมไม่สามารถปฏิบัติตามได้

 

องค์ทะไลลามะ วัชราจารย์และประมุขของทิเบตตรัสว่า ศาสนาของโลกสมัยใหม่คือ “ความรัก” ซึ่งทุกคนควรมี ไม่ใช่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

พระสันตะปาปาฟรานซิส เพิ่งตรัสเทศน์กึ่งบริภาษศาสนิกชนว่า คนที่เรียกตนเองว่าคาทอลิกที่เคร่งครัดแต่เอาเปรียบคนอื่น ทำตัวสองมาตรฐาน สู้เป็นคนไม่มีศาสนาเสียยังดีกว่า

วัชราจารย์เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช เห็นว่า เราควรยกระดับ จาก “ศาสนา” ไปสู่ “จิตวิญญาณ” ซึ่งมีความเป็นสากลมากกว่า

เมื่อไรหนอผู้นำทางศาสนาของเราจะมีวิสัยทัศน์และความเปิดกว้างเช่นนี้บ้าง

ในสังคมที่มีความเป็นสมัยใหม่จึงเอาศีลธรรมแบบโลกย์นำหน้า และให้ศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่นำมาบังคับกัน

สังคมที่ล้าหลังจะกลับกัน คือพยายามจะยกเอาศีลธรรมทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นศีลธรรมและข้อปฏิบัติทางสังคม โดยละเลยคุณค่าสากลจากศีลธรรมโลกย์ๆ

ไทยเราจึงมีหมู่บ้านศีลห้า กฎหมายห้ามจำหน่ายสุราในวันสำคัญทางศาสนา

ในขณะที่มีรัฐบาลผิดศีลมุสาวาทและอทินนาทานอยู่เป็นนิตย์