เครื่องเคียงข้างจอ/ วัชระ แวววุฒินันท์ /ควันหลงออสการ์ 2020

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ควันหลงออสการ์ 2020

 

เมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการจัดงานประกาศรางวัลทางภาพยนตร์ที่คนให้ความสนใจอย่างมากงานหนึ่ง นั่นคือรางวัลออสการ์ ที่ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 92 แล้ว

ผลของรางวัลผมคงไม่ต้องฉายหนังซ้ำ เพราะข่าวคราวก็มีรายงานให้ทราบไปตั้งแต่รางวัลจบปั๊บ ผลก็ออกมาปุ๊บพร้อมเกร็ดต่างๆ รวดเร็วทันใจสมกับเป็นยุคดิจิตอลจริงๆ

ที่จั่วหัวเรื่องว่า “ควันหลงออสการ์” ก็เพราะจะหยิบยกประเด็นที่มองเห็นจากงานนี้มาบอกเล่าให้ฟังน่ะครับ โดยเฉพาะในมุมที่เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา เพราะบ้านเขาวงการบันเทิงกับวงการการเมืองแยกกันไม่ออกมานานแล้ว

หากใครเป็นแฟนออสการ์ คงจะทราบว่าในทุกๆ ปีจะมีเรื่องที่สะท้อนความคิดหรือกระแสในเชิงสังคมและการเมืองของอเมริกาอยู่เป็นประจำ นั่นคงเป็นเพราะบ้านเขาให้เสรีในการแสดงออกได้จริง

ซึ่งเรื่องนี้ในบ้านเราแล้วยังห่างไกลมาก

 

ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลต่างๆ ในปีนี้ และโดยเฉพาะผลงานที่ได้รับรางวัล ส่วนหนึ่งเลยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ความแตกต่างทางชนชั้น” หรือ “ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม”

อย่างเช่นเรื่อง “Parasite” ของผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีชื่อบงจุนโฮ นี่เล่นประเด็นเรื่องของชนชั้นอย่างเต็มๆ ในหนังจะเห็นถึงโลกสีชมพูของคนรวย กับโลกสีเทาหม่นจนออกดำของคนจน เมื่อครอบครัวที่ยากจนได้มีโอกาสมาใกล้ชิดเข้านอกออกในภายในบ้านของคนรวย แล้วฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์ต่างๆ มาอย่างที่ไม่สะอาดเท่าไหร่ คนดูไม่น้อยจึงเอาใจช่วย เพราะเหมือนเป็นการ “แก้แค้นทางชนชั้น” ที่หลายคนกำลังประสบ

ก็ชื่อเรื่อง Parasite ก็มาจากเหตุนี้ที่มีอาการเหมือนตัว Parasite ที่ไปเกาะกินร่างกายของคนที่มันไปพึ่งพิงนั่นเอง แต่ Parasite ที่ว่านี้ไม่ได้แค่เกาะและดูดเลือดหรืออาหารไปวันๆ หนังได้พาเราเดินทางไปสู่ความหายนะของการต่อสู้ทางชนชั้นโดยการใช้ความรุนแรง ที่สร้างความพรึงเพริดแบบนึกไม่ถึงให้กับผู้ชมได้อย่างเต็มที่

ซึ่งสังคมอเมริกันก็มีเรื่องพวกนี้อยู่เต็มไปหมด ที่คนจน คนต่างด้าว คนต่างศาสนา จะถูกกำหนดให้เป็นคนชั้นล่างที่ถูกเอาเปรียบตลอดเวลา

เราจึงได้ยินข่าวการแสดงออกของความรุนแรงเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกกดขี่ในบ้านเขาอยู่เนืองๆ แต่ที่น่าตกใจคือ เริ่มมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นในสังคมไทย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกราดยิงที่โคราช หรือ ผอ.กอล์ฟ หรืออีกหลายคดีที่ประดังเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา

และด้วยคุณภาพของหนังและการเล่าเรื่องที่โดนใจนี่เอง จึงทำให้หนัง Parasite คว้ารางวัลสำคัญไปครองชนิดที่เจ้าตัวเองก็อดประหลาดใจไม่ได้

 

เช่นเดียวกันกับเรื่อง “Joker” ที่นักแสดงนำอย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ ในบท “อาเธอร์ เฟล็ก” หรือ “โจ๊กเกอร์” แทบจะนอนมากับรางวัลแสดงนำชายยอดเยี่ยมนี้ เพราะกวาดมาแล้วจากเวทีอื่นๆ ก่อนหน้าตามคาด

เรื่องของ “Joker” ก็พูดถึงคนที่เป็นคนระดับล่างของสังคมอย่าง “อาเธอร์ เฟล็ก” ที่ถูกสังคมกระทำต่อเขาอย่างไม่ยุติธรรม เขาเป็นคนที่โดดเดี่ยว แปลกแยก และเข้าสังคมยาก สุดท้ายเมื่อเขาหาทางออกด้วยความรุนแรง เขาจึงกลายเป็นผู้ร้ายของสังคมขึ้นมาทันที แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นฮีโร่ของคนจำพวกเดียวกับเขาที่ลุกขึ้นมาเอาแบบอย่างและเชียร์การกระทำของเขาอย่างออกนอกหน้า

หนังเรื่อง “Joker” นี้ตอนที่ออกฉายได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายแบบตัวตลกของเขาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเทศกาลฮัลโลวีน การแต่งหน้าที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของขบถทางสังคม หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เป็นที่นิยมทางโซเชียลในการ “เลียนแบบความดัง” ก็มี คือการที่ผู้คนพากันไปเลียนแบบการเต้นรำบนบันไดตามฉากที่ปรากฏในหนังอย่างสนุกสนาน ซึ่งในฉากนี้เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยสำหรับคนที่ถูกกดขี่นั่นเอง

นั่นสะท้อนว่าโลกนี้ สังคมนี้ ยังมีคนที่ถูกกระทำบนความเหลื่อมล้ำอีกมาก

 

นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้รางวัลใหญ่ หรือไม่ได้รางวัลติดมืออะไรไปหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่วนเวียนกับ “ผู้ถูกกระทำ” เช่นกัน

อย่างเรื่อง “Bombshell” ที่สร้างจากเหตุการณ์จริง เรื่องของนักข่าวหญิง และพนักงานหญิงของสื่อเจ้าใหญ่อย่าง Fox News ได้ลุกขึ้นมาบอกสังคมดังๆ ถึงการตกเป็นเหยื่อทางเพศจากเจ้านาย ซึ่งสอดรับกับกระแส “Me too” ในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง

แม้ตัวละครในเรื่องจะไม่ได้อยู่ในฐานะของคนชั้นล่างอย่าง 2 เรื่องแรก กลับอยู่ในพื้นที่ของคนมีโอกาส มีความหรูหรา มีชื่อเสียงเงินทอง มีอาชีพที่มั่นคงอย่างคนในวงการข่าว

แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด ก็ยังมี “ผู้ถูกกระทำ” จากผู้มีอำนาจกว่าเสมอ

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่หนังที่อยู่ในความสนใจนักนั่นคือเรื่อง “Harriet” ที่ส่งให้ซินเธีย เอรีโว เข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และเป็นนักแสดงผิวสีคนเดียวในกลุ่มผู้เข้าชิงอื่น

เรื่อง “Harriet” เป็นเรื่องการต่อสู้ของทาสในอเมริกา ซินเธียรับบททาสสาว แฮร์เรียต ทับแมน ที่หลบหนีจากการเป็นทาส แล้วกลายเป็นผู้นำทาสสู่อิสรภาพโดยใช้อุโมงค์รถไฟใต้ดิน ซึ่งเรื่องของการต่อสู้ของทาสหรือของคนผิวสียังคงมีให้ฮอลลีวู้ดสร้างออกมาได้อยู่เสมอ

นั่นแสดงว่าเรื่องความแตกต่างทางผิวและชนชาติยังมีอยู่จริง

 

นอกจากเรื่องของตัวหนังเองแล้ว การแสดงบนเวทีและพิธีการประกาศรางวัลก็สะท้อนให้เห็นถึง “การมองคนละขั้วกับทรัมป์” อย่างชัดเจน ในขณะที่ทรัมป์ประกาศและยึดเป็นสิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือ “America First” พร้อมกีดกันคนชาติอื่นอย่างชัดเจน

แต่บนเวทีออสการ์ครั้งนี้ เราได้เห็นโชว์เพลง “Into the Unknown” จากเรื่อง Frozen 2 ที่นำเอานักร้องหญิงหลายเชื้อชาติขึ้นเวทีมาร่วมร้องด้วยกัน รวมทั้งน้องแก้ม วิชญาณี จากประเทศไทยด้วย

เราได้เห็นคนที่ได้ขึ้นเวทีไปประกาศรางวัล มาจากคนในวงการบันเทิงที่มีเชื้อชาติหลากหลาย และมีการหยอดมุขกระทบทรัมป์ด้วย

และที่ตอกหน้าดังๆ คือการที่หนัง Parasite สามารถคว้ารางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม เป็นการคว้า 4 จาก 6 รางวัลที่เข้าชิง

นั่นกำลังจะบอกว่า ในขณะที่ฮอลลีวู้ดเปิดกว้างกับคนทำงานและผลงานของประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นลูกเมียน้อยมากขึ้น ซึ่งเริ่มเป็นมาหลายปีแล้ว

แต่ในวงการเมืองภายใต้การนำของทรัมป์แล้วยังวนเวียนอยู่กับ “America First” อยู่เลย

 

สําหรับโลกใบนี้ นับวันจะเป็นโลกของผู้มีอำนาจ โลกของคนตัวใหญ่มากขึ้นทุกที บางทีวันหนึ่งคนตัวเล็กๆ ที่ถูกกดขี่จากความไม่เท่าเทียม จากความอยุติธรรมของสังคม ผู้ที่เคยถูกกระทำต่างๆ อย่างไร้ความเมตตา อาจจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปลดปล่อยกันมากขึ้น

และจะยิ่งน่ากลัว หากว่ามันมาพร้อมกับความรุนแรง ที่เขาเหล่านั้นคิดว่า ต้องอย่างนี้พวกเขาจึงจะฟัง ต้องอย่างนี้ถึงจะสาสม

เรื่องจากเวทีออสการ์ ก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมอเมริกันได้ไม่น้อย

เรื่องจากสภาผู้แทนฯ ของไทย ก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยได้เช่นกัน ซ้ำร้ายอาจจะขื่นขมกว่าด้วยซ้ำ

เอวังด้วยประการฉะนี้