ในประเทศ แถลงการณ์ 36 อจ.นิติฯ มธ. โต้แย้งคำวินิจฉัยศาล รธน. กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ พึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง?

21 กุมภาพันธ์ 2563 วันประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้านบาท

พิจารณาวินิจฉัย 4 ประเด็น

ประเด็นแรก วินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ประเด็นสอง มีเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่

คำวินิจฉัยสรุป เงินกู้ 191.2 ล้านบาทถือเป็นเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีบทบัญญัติ พ.ร.ป.พรรคการเมืองห้ามไว้เพื่อป้องกันการครอบงำ ชี้นำ บงการพรรค กระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชน

แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมเงินสำหรับพรรคชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่ากระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เงินกู้แม้มิได้เป็นรายได้ แต่ก็เป็นรายรับ

อีกทั้งการทำสัญญากู้ยืมเงินไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ไม่เป็นไปตามปกติวิสัยการให้กู้ยืมเงินและการชำระหนี้ เนื่องจากให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคที่คำนวณเป็นเงินได้

จึงเห็นว่าการกู้ยืมเงินของพรรคมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น ตามมาตรา 66

เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

ศาลจึงมีมติเสียงข้างมาก สั่งยุบพรรค

ประเด็นสาม เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคจึงชอบที่จะมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ประเด็นสี่ เมื่อสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค จึงต้องสั่งห้ามไม่ให้กรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ กำหนด 10 ปี

 

คําวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ นำมาซึ่งการตั้งข้อสังเกตและแสดงความเห็นกว้างขวาง

มีน้ำหนักน่าสนใจกรณีคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 36 คน ในจำนวนนี้มีชื่อของนายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายอุดม รัฐอมฤต ร่วมอยู่ด้วย ออกแถลงการณ์ สรุปใจความสำคัญดังนี้

หนึ่ง พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน สามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ

พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 20 พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้ให้อำนาจในทางกฎหมายมหาชนแก่พรรค

หลักการทั่วไปในการจัดตั้งพรรค พรรคการเมืองไม่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ หรืออำนาจมหาชนโดยตรง หากแต่ทำหน้าที่รวบรวมและก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เพื่อมีโอกาสเข้าไปใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนต่อไปเท่านั้น

เมื่อพรรคการเมืองไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินของพรรคในฐานะนิติบุคคล จึงทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน

พรรคการเมืองมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลตามมาตรา 65 และ 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีความสามารถและมีเสรีภาพเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์พรรคการเมือง

จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินได้มาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง

สอง การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา

การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยอัตราต่ำ เป็นเพียงเจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืม หรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงินกู้ แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายทางทรัพย์สิน

จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า

 

มาตรา 7 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในกรณีมีการตกลงคิดดอกเบี้ย แต่ไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ ถ้าคู่สัญญาตกลงไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 7.5 กฎหมายก็ไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา

เป็นเครื่องยืนยันการไม่คิดอัตราดอกเบี้ย หรือคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเรื่องปกติ

ด้วยเหตุนี้ การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พ.ร.ป.พรรคการเมือง หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคอาจก่อขึ้นได้ในฐานะนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

สาม ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้

คดีนี้เชื่อมโยงการบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง เข้ากับมาตรา 72 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

เห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ได้

ความมุ่งหมายมาตรา 72 คือ ห้ามพรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด

เพื่อไม่ให้พรรคตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ถูกครอบงำจากกลุ่มหรือองค์กรที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น

ส่วนความมุ่งหมายตามมาตรา 66 เป็นการกำหนดจำนวนเงินอย่างสูง หรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวครอบงำพรรค

จะเห็นได้ว่าตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้ทั้ง 2 มาตรา จึงแยกออกจากกันได้

ดังนั้น หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคได้

เมื่อพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเสรีภาพทำสัญญากู้ยืมเงินได้

และการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยหรือไม่คิดดอกเบี้ยเลย เป็นเรื่องทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72

เพื่อเป็นเหตุยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

 

ข้อสุดท้าย ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้พรรคต่างๆ แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การใช้อำนาจขององค์กรรัฐต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระ เสรีภาพ และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมือง

การยุบพรรค ซึ่งหมายถึงการทำลายองค์กรผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมือง เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน

ควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ากระทำการขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและร้ายแรงถึงขนาดสมควรต้องถูกยุบพรรค

เจตนารมณ์ยุบพรรค ตามหลักการในต่างประเทศเกิดจากแนวคิดพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย จากภยันตรายร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ

กลไกพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยโดยการยุบพรรค จึงถูกใช้เฉพาะได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่า พรรคการเมืองกระทำการในลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ

โดยหลัก ศาลรัฐธรรมนูญต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรคหากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น เพราะพรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน

การยุบพรรค ต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และในกรณีไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง