หนุ่มเมืองจันท์ | ฝันที่ไม่เหมือนกัน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ฟังคุณบุญคลี ปลั่งศิริ อดีต “มืออาชีพ” ที่เก่งที่สุดในเมืองไทย

ตอนนี้คุณบุญคลีวางมือจากยุทธจักรการจัดการแล้ว

เขารับเป็น “ที่ปรึกษา” ให้กับนักธุรกิจใหญ่หลายคน

ประสบการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้สอนให้เขารู้ว่า “การถอย” สำคัญไม่แพ้ “การรุก” ไปข้างหน้า

ในวัยหนุ่ม “เถ้าแก่” แต่ละคนจะเต็มไปด้วยความห้าว คิดแต่จะขยายอาณาจักรธุรกิจ

สนุกกับ “ชัยชนะ”

และการรุกไปข้างหน้า

คุณบุญคลีบอกกับ “เถ้าแก่” ทุกคนว่ายิ่งรวย ต้องยิ่งสบายขึ้น

ไม่ใช่ “รวย” แล้วยังทำงานหนักกว่าเดิม

จากเดิมทำงาน 5 วัน

ยิ่งรวยกลับทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 วัน

เคยทำงานถึง 6 โมงเย็น

วันนี้ทำงานถึง 4 ทุ่ม

แบบนี้ถือว่า “รวยไม่เป็น”

แต่คงมีข้อยกเว้นสำหรับคนที่มีความสุขกับการทำงานมากๆ

ประเภททำงานเหมือนกับการพักผ่อน

หยุดทำงานเมื่อไร ป่วยทันที

เหมือนคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่บอกว่าเขามีความสุขทุกวันที่ไปทำงาน

การทำงานของเขาเหมือนกับหลายคนตอนเล่นกอล์ฟ หรือไปเที่ยว

“ปัญหา” คือ อาหาร 3 มื้อ

ไม่ใช่เรื่องใหญ่

เป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่ “เถ้าแก่” หลายคนก็ไม่ได้คิดอย่างคุณธนินท์

อยากวางมือ อยากปล่อยมือ อยากใช้เงินบ้าง

เรื่องการถอยจึงสำคัญ

“เถ้าแก่” ส่วนใหญ่จะเก่งเรื่องเกมรุก

ขยายอาณาจักรเป็นเรื่องขนมขบเคี้ยว

แต่แทบทุกคนจะมีปัญหาตอนที่จะ “ถอย”

จะวางมือจากตำแหน่งบริหารอย่างไรไม่ให้มีปัญหา

ส่วนใหญ่ทุกคนอยากให้ลูกมารับสืบทอดกิจการ

เพราะคนที่เขาไว้ใจที่สุดก็คือ “ลูก”

คุณบุญคลีบอกว่าถ้าลูกอยากทำต่อ

ชอบทำธุรกิจแบบเดียวกับที่พ่อบุกเบิกมา

เห็นพ่อทำงานเหนื่อยแล้ว

อยากมาช่วยงาน

คุณบุญคลีบอกว่า “เถ้าแก่” คนนั้นโชคดี

เพราะ “ฝัน” ของเขากับ “ฝัน” ของลูก คือ ฝันเดียวกัน

เขาอยากให้ลูกมารับไม้ต่อ

ลูกก็อยากสืบทอดกิจการที่พ่อทำมา

แบบนี้….โชคดี

แต่มีหลายครอบครัว ที่ “พ่อ” กับ “ลูก” ฝันกันคนละเรื่อง

“พ่อ” อยากให้ลูกสืบทอดกิจการ

แต่ “ลูก” ไม่อยากทำธุรกิจที่พ่อทำอยู่

ไม่ชอบ

อยากทำอย่างอื่น

ถ้าเป็นแบบนี้…เหนื่อยหน่อย

“เถ้าแก่” จะถอยอย่างไรให้กิจการยังดำเนินต่อไป

คุณบุญคลีบอกว่าไม่ควรฝืนใจลูก

ยอมให้ “มืออาชีพ” มาสานต่อ

หรือถ้าบริษัทใหญ่พอสมควรก็ผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ระบบ-ระเบียบของตลาดหุ้นจะช่วยเราบริหารงานง่ายขึ้น

เหมือนช่วยเราคุมอีกทางหนึ่ง

“มืออาชีพ” จะนำบริษัทออกนอกลู่นอกทางได้ยาก

ส่วนลูกก็ให้ถือหุ้น และกินเงินปันผล

ครอบครัวเรายังเป็นเจ้าของอยู่

ถามลูกว่าแบบนี้ชอบไหม

เชื่อเถอะครับ ชอบทุกคน

ได้เงินปันผลมาแล้วก็ไปลงทุนในสิ่งที่เราฝัน

มีความสุขจะตายไป

และเมื่อวันหนึ่งเราอยากขาย

การที่บริษัทอยู่ในตลาดหุ้นจะทำให้เรา Exit ง่าย

เพราะมูลค่าหุ้นชัดเจน ไม่ต้องเสียเวลาตีราคากัน

เบื่อ หรือเหนื่อยที่จะดูแล เราจะขายเมื่อไรก็ขายได้

หรือเมื่อเราไม่อยู่ ลูกอยากขายกิจการก็ขายได้

การวางแผน “การถอย” ที่ดีถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของชีวิต

คนเก่งจริงต้องวางหมากสุดท้ายให้เป็น

ทำอย่างไรให้ทุกคนมีความสุข

ทำอย่างไร “ความร่ำรวย” ที่สร้างมาไม่เป็น “ปัญหา” ของลูกหลาน

รวยแล้วมีปัญหาทะเลาะกัน ฟ้องร้องกัน

รวยแล้วทุกข์

จะรวยไปทำไม

เรื่องยุทธศาสตร์การถอยของ “เถ้าแก่”

ผมเห็นด้วยกับคุณบุญคลี

โดยเฉพาะเรื่องการบังคับลูกให้สืบทอดกิจการ

ให้คนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ

ทำอย่างไรก็ไม่ดี

ที่สำคัญ เราต้องเคารพ “ความฝัน” ซึ่งกันและกัน

ต้องระลึกอยู่เสมอว่า “ความฝัน” ไม่ใช่ “ดีเอ็นเอ”

และสืบทอดทางพันธุกรรมไม่ได้

ทุกคนมี “ความฝัน” เป็นสมบัติส่วนตัว

ฝันของใคร ฝันของคนนั้น

และไม่มี “ความฝัน” ใดเป็น “ความฝัน” โง่ๆ

ทุกฝันยิ่งใหญ่เสมอสำหรับคนที่เป็นเจ้าของ “ความฝัน” นั้น

แต่ปัญหาส่วนใหญ่มักมาจาก “คุณพ่อ-คุณแม่”

ทุกคนรักลูก

แต่บางทีก็ลืมไปว่าทุกคนล้วนมีชีวิตเป็นของตัวเอง

บางคนเริ่มตั้งแต่กำหนดทางเดินเรื่องการเรียนของลูก

พ่อ-แม่อยากเป็นอะไร ก็กำหนดให้ลูกเรียนอย่างนั้น

ชอบคิดแทนลูก

จนถึงเมื่อวันที่ต้องการให้ลูกมาสืบทอดกิจการ

เหมือนกำหนดอยู่ในใจแล้วว่าลูกต้องมารับไม้ต่อ

เป็น “ความรับผิดชอบ”

บริษัทนี้พ่อก่อตั้งมา เป็น “ความฝัน” ของพ่อ

ที่ทำงานเหนื่อยมาก็เพื่อลูก

ดังนั้น เป็นหน้าที่ที่ลูกต้องมาสืบทอดกิจการ

เราลืมถามถึง “ความฝัน” ของลูก

ลูกฝันอยากทำอะไร

ลูกอยากบริหารบริษัทของเราไหม ฯลฯ

ถามเขาก่อน

แทนที่จะบอกว่าเราอยากให้เขาทำอะไร

ลองคิดแบบ “ใจเขา-ใจเรา”

วันที่เราทำงาน เราก็อยากทำในสิ่งที่เรารัก

ไม่ชอบการบังคับของ “พ่อ-แม่”

เมื่อเราไม่ชอบอะไร ก็ไม่ควรทำอย่างนั้นกับคนอื่น

โดยเฉพาะลูกของเรา

ครับ “ความฝัน” เป็นสิ่งที่สวยงาม

เรามี “ความฝัน”

ลูกก็มี “ความฝัน” เช่นเดียวกัน

ชีวิตไม่ใช่การวิ่งผลัด

เมื่อพ่อวิ่งมาถึงจุดนี้ ลูกต้องรับไม้ต่อ

แต่ชีวิต คือ การเดินทาง

ทุกคนล้วนมีเส้นทางของตัวเอง

…ที่ไม่เหมือนกัน