วิกฤตแห่งอุษาคเนย์ มูลค่า 3.15 ล้านล้าน! กับความจำเป็นที่ “ต้องลงทุน”

AFP PHOTO / DALE de la REY

เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงานชื่อ “การตอบสนองความต้องการด้านสาธารณูปโภคของเอเชีย” ว่าด้วยการตรวจสอบสภาพและความต้องการด้านสาธารณูปโภคใน 45 ประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เมื่อเชื่อมโยงกับผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือ ไคลเมต เชนจ์ ออกมา

“เซาธ์อีสต์เอเชีย โกลบ” (ซีโกลบ) ส่ง เอียน แบล็ก ไปพูดคุยกับ “ศรีนิวสาน อันชา” หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของเอดีบี เพื่อจำกัดวงให้แคบลงเหลือเพียง 10 ชาติในอุษาคเนย์ ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม น่าสนใจและท้าทายอย่างยิ่ง

ตามรายงานของเอดีบี ระบุว่า อุษาคเนย์ทั้งภูมิภาคจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล “ถ้าหากต้องการจะรักษาแรงเหวี่ยงในการเจริญเติบโตกับความพยายามในการขจัดความยากจนเอาไว้” ให้อยู่ในระดับที่ผ่านมา

เหตุผลก็คือ ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วมาก ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นติดจรวด เมื่อบวกกับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ทำให้การลงทุนมหาศาลระดับนั้นเป็นสิ่ง “จำเป็นต้องทำ”

มหาศาลขนาดไหน?

AFP PHOTO / BAY ISMOYO

เอดีบี ประเมินเอาไว้ว่า ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องลงทุนเพื่อการนี้สูงถึง 210,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยไปจนถึงปี 2030 เมื่อรวมเม็ดเงินทุกปีเข้าด้วยกันจะได้ตัวเลขน่าตกใจถึง 3.15 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาติอาเซียน ยกเว้นลาว, บรูไน และสิงคโปร์ ใช้เงินงบประมาณไปเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมดรวม 55,000 ล้านดอลลาร์

ซีโกลบ คำนวณมาให้เสร็จสรรพว่า ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ “ควรจะเป็น” ตามการประเมินของเอดีบี มากถึง 102,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ถ้าไม่ทำ ศรีนิวสาน เตือนว่า อาจนำไปสู่สภาพ “ผลิตภาพลดลง ต้นทุนการกระจายสินค้าสูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจลดน้อยลง” เขาขยายความว่า

“ตอนนี้เรื่องไฟดับก็กลายเป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว โครงข่ายการคมนาคมที่ไม่ได้รับการพัฒนาก็จำกัดการไหลเวียนของผู้คน, สินค้า และบริการต่างๆ ทั้งภายในตัวเมืองเองและระหว่างพื้นที่ตัวเมืองกับชนบท แค่เรื่องการจราจรติดขัดอย่างเดียวในมะนิลา กรุงเทพฯ จาการ์ตา และ ฮานอย ก็กลายเป็นต้นทุนสูญเสียมหาศาลทั้งในแง่ของการสูญเสียผลิตภาพและสิ้นเปลืองพลังงาน”

สภาพสาธารณูปโภคที่ย่ำแย่อยู่ก่อนแล้ว ยิ่งเลวร้ายหนักข้อขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศของภูมิภาคนี้ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวเหยียด อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเล ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อภาวะภูมิอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้เหมือนปกติ

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

“ทุกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งหมด แต่ที่จะสะเทือนมากที่สุดในแง่ของการสูญเสียของจีดีพี จะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศเหล่านี้ โอกาสที่จะเกิดการสูญเสียจะสูงอยู่ที่ระหว่าง 6 เปอร์เซ็นต์ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าหากว่าไม่มีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดขึ้น”

ทีมวิจัยของเอดีบีพบด้วยว่า ในขณะที่ภาครัฐ ถือเป็นแหล่งที่มาหลักและใหญ่ที่สุดของเงินที่ใช้เพื่อสร้างโครงการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในอุษาคเนย์ แต่เมื่อตรวจสอบไปถึงสัดส่วนของงบประมาณด้านนี้เทียบกับจีดีพีของแต่ละประเทศ เอดีบีชี้ว่า สัดส่วนของงบประมาณของรัฐในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ลดน้อยลงตามลำดับนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งระหว่างปี 1997-1998 เรื่อยมาและไม่เคยเพิ่มกลับขึ้นไปถึงระดับก่อนวิกฤตอีกเลย

การปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอาจช่วยให้ประเทศในอาเซียนมีเงินเพื่อโครงการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นอีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ขาดไป เอดีบีแนะว่า ส่วนที่เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์อาจได้มาจากการแสวงหา “หุ้นส่วน” จากภาคเอกชน

แต่ศรีนิวสาน ยอมรับว่า การลงทุนจากภาคเอกชนในโครงการสาธารณูปโภค ยกเว้นทางด้านพลังงานกับการสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว ยังคง “จำกัดอยู่ต่อไปในอนาคต”

นั่นหมายความว่า ยังไงๆ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคในภูมิภาคนี้ก็ไม่สามารถเติมเต็มตามการประเมินของเอดีบีได้

และจะป้องกันไม่ให้อุษาคเนย์สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่อยู่ต่อไปนั่นเอง