แมลงวันในไร่ส้ม / ยุบพรรคอนาคตใหม่ จับตาคลื่นใหม่การเมือง คลื่นจาก ‘มหาวิทยาลัย’

แมลงวันในไร่ส้ม

ยุบพรรคอนาคตใหม่

จับตาคลื่นใหม่การเมือง

คลื่นจาก ‘มหาวิทยาลัย’

ข่าวการเมืองที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ กรณีศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 7-2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 16 คน เป็น ส.ส. 11 คน 10 ปี และห้ามทั้ง 16 คนไปจัดตั้งพรรคใหม่หรือมีส่วนตั้งพรรค เป็นเวลา 10 ปี

เหตุผลในการยุบพรรค ศาลระบุว่า กฎหมายไม่ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน แต่ก็ไม่ได้รับรองให้ทำได้

พร้อมกับยกมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ บงการ

การกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท มีการชำระคืน การกำหนดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า เอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ อาจทำให้พรรคไม่เป็นอิสระ ตามเจตนารมณ์ในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ และเข้าข่ายเป็นการรับบริจาค และประโยชน์อื่นใด เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

และถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งระบุในมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 92 ให้ กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการได้

16 กรรมการบริหาร แบ่งเป็นผู้ที่ยังมีสมาชิกภาพเป็นผู้แทนราษฎร 11 คน ประกอบด้วย

1.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

4.พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ลาออก) 5.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.ไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

7.นิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.สุรชัย ศรีสารคาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10.เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

11.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และที่ไม่ได้เป็น ส.ส.อีก 5 คน ได้แก่ 12.นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค 13.ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค 14.สุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค 15.รณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค 16.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งสิ้นสภาพ ส.ส.ไปก่อนจากคดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค

พรรคอนาคตใหม่ประกาศต่อสู้ทางการเมืองต่อไป ด้วยการจัดตั้ง “คณะอนาคตใหม่”

ส่วน ส.ส.อนาคตใหม่อีก 69 คนที่เหลืออยู่ ยังสามารถหาพรรคสังกัดใหม่ใน 60 วัน

และมีกระแสข่าวระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะรับหน้าที่หัวหน้าพรรคใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ส.ส.อนาคตใหม่จะเดินตามนายพิธาเข้าสังกัดพรรคใหม่กี่คน และไปเข้าพรรครัฐบาลอื่นๆ กี่คน ยังเป็นเรื่องที่กะเก็งกันอยู่

 

ภายหลังจากคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค มีการออกมาทักท้วงจากกลุ่มนักกฎหมายหลายกลุ่ม

รวมถึง “คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองกลุ่มใด

แถลงการณ์ระบุเหตุผล 4 ข้อ ทักท้วงศาลรัฐธรรมนูญ ขอนำมาบางส่วนดังนี้

พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า

การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

นอกจากนี้ คดีไม่เข้ากับมาตรา 72 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งกำหนดว่า ห้ามรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้ากับมาตรา 66  ห้ามรับบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี

ทั้งสองมาตราไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง มีเสรีภาพทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ การให้กู้โดยอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลย ทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุยุบพรรคตามมาตรา 92 ได้

ท้ายหนังสือ มีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ 36 คนร่วมลงชื่อ รวมถึงนายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายอุดม รัฐอมฤต ด้วย

 

ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ปฏิกิริยาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนัดแสดงพลัง โดยชูคำขวัญ เพราะเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยังจัดกิจกรรม งานศพประชาธิปไตย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00 น.

ค่ำวันเดียวกัน นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นัดรวมตัวในชื่อ “มอกะเสด ไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ” โดยเชิญชวนมาร่วมระบายความอัดอั้นตันใจ ออกมาพูด ออกมาร้องเพลงและฟังเพลงร่วมกัน ที่หอประชุมใหญ่ ใกล้สระน้ำพระพิรุณ ติดถนนพหลโยธิน

และยังมีการนัดหมายของกลุ่มนิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นัดรวมตัวในวันที่ 25 กุมภาพันธ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช นัดรวมตัวในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 18.00-19.30 น. ที่ลานไทร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม

ยังมีการแสดงออกในลักษณะของแถลงการณ์ การขึ้นป้ายผ้าอีกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลำปาง

กลายเป็นกระแสที่น่าจับตาว่า นิสิต-นักศึกษาและคนหนุ่ม-สาวจะออกมาแสดงบทบาททางการเมืองกันมากน้อยและดุเดือดแหลมคมขนาดไหน ท่ามกลางสภาพการเมืองที่มีเสรีภาพครึ่งๆ กลางๆ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และภายใต้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาล คสช.

หลังจากที่ในอดีต ขบวนการนักศึกษาเคยออกมาเป็นกองหน้าของประชาชนขับไล่เผด็จการสำเร็จมาแล้วเมื่อ 14 ตุลาคม 2516

ในเงื่อนไขที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสารและนัดแนะแสดงความคิดเห็นที่สกัดกั้นได้ยาก