หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ชีวิตจริง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาจิ้งจอก - อยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งทุรกันดาร แต่สัตว์ผู้ล่าอย่างหมาจิ้งจอก ก็มีทักษะเพียงพอที่ใช้ชีวิตไปตามวิถีได้

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ชีวิตจริง’

 

สิ่งหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเล็กๆ ของการทำงานในป่า คือเรื่องเสบียง

แม้ว่าจะเป็นผู้ชาย “แกร่งๆ” ซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวน หนึ่งชุดมี 5 คน แบ่งเสบียงเท่าๆ กัน ใส่เป้แต่ละคน เสบียงจะพอกินได้ราวๆ 10 วัน หากแบกมากกว่านั้นก็หนักเกินไป อีกทั้งความคล่องตัวจะลดลง

ของหนักอันดับหนึ่งคือ ข้าวสาร

ข้าวสารหมด นั่นหมายถึง ต้องเดินกลับ ไม่ว่าจะถึงจุดหมายหรือยัง ถ้ามีเพียงข้าวสาร กับข้าวในป่า อันหมายถึงพืชผักที่กินได้หาไม่ยาก

หรือการต้องหาพืชบางอย่าง เช่น กลอย หรือหยวกกล้วย มาผสมกับข้าวสาร เพื่อให้ข้าวเพิ่มปริมาณ เราก็ทำกันบ่อยๆ

ครั้งหนึ่ง ชิน หัวหน้าชุดลาดตระเวนของหน่วยพิทักษ์ป่าทิคองในป่าทุ่งใหญ่ ต้องหาหยวกกล้วยมาผสมข้าวตั้งแต่วันที่ 6 ของการเดิน จุดหมายของพวกเขาคือ ยอดเขาใหญ่ซึ่งมีความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

“ประเมินกำลังกินน้องๆ ผิดไปหน่อยครับ นึกว่าข้าวสารจะพอ ที่ไหนได้ พวกนี้กำลังกินกำลังนอน มื้อๆ หนึ่งหุงข้าว 2 หม้อสนามไม่พอ” ชินพูดถึงลูกชุดที่เป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ หลายคนเพิ่งปลดจากทหารเกณฑ์

“วันสุดท้ายแบ่งข้าวได้คนละช้อนเท่านั้น หุงเป็นข้าวต้มด้วย” ชินเล่าขำๆ

ครั้งนั้น พวกเขาใช้เวลาในป่า 12 วัน

“กลับถึงหน่วยน้องๆ เห็นต้นกล้วย เบือนหน้าหนีเลยครับ” ชินหัวเราะ

เขาไม่ได้เล่าเรื่องเศร้ารันทด นี่คือเรื่องตลกที่เอาไว้คุย หัวเราะกันในวงเหล้า

บนสันเขาสูง 1,800 เมตร พวกเขาบันทึกการพบร่องรอยช้างป่า

ประชากรช้างในป่าด้านตะวันตกมีมาก แต่ไม่ใช่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก

“ช้างฝั่งนี้เคยมีมากครับ แต่พวกมันอพยพหนีไปนานแล้ว อาจเพราะเมื่อสัก 30 ปีก่อน ต้นไผ่ตายขุยหมด รวมทั้งมีการล่าช้างมาก ก็เป็นไปได้” จิตติ พิทักษ์ป่า ซึ่งเกษียณปีก่อนเล่า

4-5 ปีหลังมานี้ การพบช้างในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตกไม่ใช่เรื่องยาก บนสันเขา ด่านที่ช้างใช้ กว้างขวาง ดูเหมือนพวกมันจะกลับมาใช้ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยแล้ว

 

โดยปกติ เสบียงที่เราเตรียมเมื่อต้องเดินป่านานๆ สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ ถึงขั้นถ้าลืม แม้ว่าจะเดินห่างหน่วยไปหนึ่งวันแล้ว จะต้องส่งคนกลับมาเอา คือ พริกแกง ที่ตำเตรียมไว้

พริกแกงผสมอะไรๆ เป็นกับข้าวได้อย่างมีรสชาติ

นอกนั้นจะเป็นเกลือและของแห้งต่างๆ เช่น ปลาแห้ง, ปลาวง, ปลาหวานที่ย้อมสีแดงๆ

บะหมี่สำเร็จรูป คืออาหารเสริม

ปลากระป๋องก็เป็นอีกสิ่งที่ทุกคนมีติดเป้ แม้ว่าจะหนัก และต้องเอากระป๋องเปล่ากลับ เพราะช่วยให้กับข้าวมีรสชาติขึ้น เพราะทำได้ทั้งต้มยำ ผัดเผ็ด ใส่ในผัดผัก

อดิเทพ คู่หูผม ถือเป็นเมนูเด็ดคือ น้ำพริกปลากระป๋อง

 

หากมีเวลาและไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังตัวมาก น้ำพริกปลากระป๋องจะได้รับการปรุงอย่างพิถีพิถัน

เริ่มจากคนหนึ่งตัดไม้ไผ่มาทำครก

อีกคนเผาหอม กระเทียม พริกขี้หนู จนหอมฟุ้ง

ปลากระป๋องตำในกระบอกไม้ไผ่มีกลิ่นหอมๆ ของเยื่อไผ่ติดมาด้วย

ถ้าแถวนั้นมีต้นเร่ว ผักหนาม หรือกระทือ นำมาต้มจิ้มน้ำพริก

ดินเนอร์มื้อนั้นของเราจะหรูไม่น้อยทีเดียว

“ปลากระป๋องแบบเดิมๆ นี่แหละ ดีกว่าชนิดปรุงรสหรือดัดแปลงราดพริกครับ” อดิเทพรับรอง

 

ในช่วงฤดูฝน อาหารไม่ได้อุดมสมบูรณ์เฉพาะเหล่าสัตว์ป่า สำหรับคนก็มีผัก รวมทั้งใบไม้ชนิดต่างๆ ที่กินได้ สมบูรณ์ไปด้วยหลายชนิด

เอามาต้มจิ้มนำพริก อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ

ชีวิตในป่าที่มักต้องพึ่งพาปลากระป๋อง และบะหมี่สำเร็จรูป ไม่ใช่ชีวิตที่ยากลำบากอะไร

หลายอย่างมันมากับอาชีพ มากับงานที่เลือกทำ

 

ฝนในป่านั้นตกไม่เลือกฤดูหรอก

หลายครั้งในตอนพลบค่ำ สายฝนกระหน่ำ ลมพัดแรง เปลวไฟไหววูบวาบ

เรานั่งยองๆ ไหล่ชนไหล่ เบียดกันอยู่ใต้ผ้ายางที่กันละอองฝนไม่ได้

คดข้าวจากหม้อสนาม กับข้าวมีผักหนามต้ม และน้ำพริกปลากระป๋อง

เสียงหัวเราะหยอกล้อดังท่ามกลางความมืดมิดและเปียกชื้น

“ชีวิตจริง” ของคนทำงานในป่าเป็นเช่นนี้