บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ Terminal 21 โคราช

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

Terminal 21 โคราช

คงต้องบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย สำหรับเหตุการณ์ทหารคลั่งคนหนึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงไล่กราดยิงประชาชนไม่เลือกหน้าที่โคราช โดยเฉพาะภายในศูนย์การค้า Terminal 21 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บเกินครึ่งร้อย

ไม่ว่าจะอ้างเหตุใดในการก่อเหตุที่เหี้ยมโหดแบบนี้ ก็ไม่น่าให้อภัย เพราะเป็นการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก แม้แต่เด็กเล็กวัยแค่ 1 ขวบ หรือผู้หญิง ก็ไม่เว้น ผิดวิสัยของชายชาติทหาร

อาจเป็นที่เข้าใจได้ หากผู้ก่อเหตุกระทำต่อเฉพาะคู่กรณีที่อ้างว่าทำให้ตัวเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

จะอ้างว่าคลั่งอย่างเดียว ก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะปกติความคลั่งน่าจะหยุดลงได้ หลังจากสังหารคู่กรณีระบายความแค้นไปแล้ว และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็น่าจะคิดได้

แต่นี่ปาเข้าไปเกิน 17 ชั่วโมง ยังไม่เลิกฆ่าคน ยังเดินหน้าก่อเหตุต่อ และเลือกเอาวันมาฆบูชาลงมือเสียด้วย

แถมจุดแรกที่ฆ่าคนมากถึง 9 คน ก็เป็นบริเวณภายในวัดป่าศรัทธารวม

ซึ่งจากคำบอกเล่าของพระในวัดนี้บอกว่า เจ้าคนคลั่งขับรถเข้ามาในวัดแล้วบรรจุกระสุนปืนอย่างใจเย็น จากนั้นยิงทุกคนที่สัญจรผ่านไปมา

หนึ่งในนั้นเป็นเด็กนักเรียนขับจักรยานยนต์ผ่านมา เจ้าคนคลั่งก็ยิงจนล้มลงไป ไม่หนำใจยังเข้าไปยิงซ้ำอีก

ระหว่างทางก่อนถึง Terminal 21 เจ้าคนโหดกราดยิงไม่เลือกหน้าตามรายทาง ทำให้ประเทศสูญเสียบุคลากรที่มีค่าในหลากหลายอาชีพ

และเมื่อมาถึงห้าง ก็อำมหิตหนักเข้าไปอีก เพราะตามบันทึกของผู้ประสบเหตุที่ติดอยู่ในห้าง บอกว่าผู้ก่อเหตุเดินทั่วห้าง ทุกชั้นเพื่อหาคนที่ซ่อนอยู่ หากเจอใคร มันลากออกมายิงทิ้งทันที

ระหว่างเดินค้นหาเหยื่ออยู่นั้น เจ้าคนบ้าคลั่งเปิดเพลงจากมือถือฟังไปด้วยอย่างสบายใจ

ยังไม่นับก่อนหน้านั้นที่ฆ่าคนไป ถ่ายเซลฟี่โพสต์ลงเฟซบุ๊กไปแบบหน้าระรื่น

 

 

ไม่ว่าจะเอาทฤษฎีใดมาอธิบาย เช่น เป็นโรคจิต แค้นจนสติหลุด แต่ไม่มีคำอธิบายใดตรงจุดเท่ากับว่า เจ้าคนโหดรายนี้เป็นคนที่โดยพื้นฐานแล้ว “ไม่มีศีลธรรม ขาดความเมตตาปรานี”

ผู้ก่อเหตุโกรธแค้นคู่กรณี หาว่าขี้โกง แต่การกระทำของเจ้าคนโหดเลวร้ายกว่าการขี้โกงหลายเท่า ชนิดไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่เลย

มีบางคนแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียในลักษณะหาข้อแก้ต่างให้กับผู้ก่อเหตุว่า ทำไมไม่มีการพูดถึงต้นเหตุ (ซึ่งก็คือผู้บังคับบัญชาของผู้ก่อเหตุที่ถูกยิงตาย) ซึ่งการแสดงความคิดเห็นแบบตรรกวิบัติเช่นนี้อาจทำให้คนที่คิดจะก่อเหตุแบบเดียวกันเอาอย่างก็ได้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องชอบธรรม เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะโทษคนอื่นตลอด แต่ไม่โทษตัวเอง ทำให้คนเราขาดการยั้งคิดไม่ควบคุมตัวเอง ซึ่งจะสร้างความสูญเสียให้กับคนอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เรื่อยๆ

จึงทำให้มีบางคนเข้ามาให้สติว่า ถ้าใครต่อใครอ้างว่าแค้นที่ถูกโกง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยก่อเหตุแบบนี้ อีกหน่อยก็คงมีคนไทยอีกเป็นล้านๆ คน ออกมาฆ่าผู้บริสุทธิ์จำนวนมากแบบเดียวกันกระมัง

อันที่จริงไม่ใช่ไม่มีใครพูดถึงต้นเหตุ แต่ประเด็นสำคัญที่สังคมรับไม่ได้คือ ทำไมไม่กระทำเฉพาะต่อคู่กรณีแล้วจบ แต่กลับไปไล่ยิงคนบริสุทธิ์มากมาย

 

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังทำให้เห็นอะไรหลายอย่างในห้วงที่อารมณ์เกลียดชังทางการเมืองมีสูง

ทำให้ได้เห็นหลายคนโพสต์ความเห็นอย่างหน้ามืดขาดสติ ขาดเหตุผล

ฉวยเอาเหตุการณ์นี้ระบายความเกลียดชังทางการเมืองด้วยอารมณ์ส่วนตัวล้วนๆ

เช่น บางคนเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่ใช้ข้อความหยาบคาย สร้างความเกลียดชังทหารด้วยการกล่าวหาแบบเหมารวมว่า “ทหารมีไว้ยิงประชาชน” ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกฟ้องร้องได้ เพราะว่ากล่าวหาร้ายแรงมาก

ที่จริงอาจารย์หญิงคนนี้ใช้ถ้อยคำล่อแหลม ไม่เหมาะสมในการแสดงความเห็นทางการเมืองมาหลายครั้งแล้ว

นึกอยู่แล้วว่าเธอจะถลำตัวลึกไปเรื่อยๆ ในการใช้ความหยาบคาย (อยู่ในครอบครัวเดียวกับที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปตักเตือน)

ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นถึงอดีตนักร้อง นักแต่งเพลงหวานโรแมนติก จิตใจน่าจะอ่อนโยน แต่กลับโพสต์ข้อความรุนแรงซาดิสต์แบบไม่น่าเชื่อ เพราะอารมณ์เกลียดชังทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาล จนทำให้หลายคนรู้สึกผิดหวัง จะเอาเทปเพลง แผ่นดิสก์ ไปเผาให้หมดสิ้น

ด้านฝ่ายค้านบางคนนั้น เหตุการณ์นี้ตอกย้ำว่าหมดหนทาง สิ้นหวัง ที่จะทำให้นักการเมืองบางจำพวกยกระดับขึ้นมา ยังอยู่ระดับต่ำอย่างไรก็ต่ำต่อไปอย่างนั้น

 

กล่าวสำหรับการแสดงออกของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ขณะลงพื้นที่ภายหลังวิสามัญคนร้ายได้แล้ว ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมนั้น

สมควรที่นายกฯ จะรับไปปรับปรุงตัวเอง

เพราะความไม่เหมาะสมไม่ใช่แค่เรื่องการทำสัญลักษณ์ “มินิฮาร์ท” เท่านั้น

แต่ท่วงท่าและคำพูดหลายอย่างระหว่างแถลงข่าวที่โรงพยาบาลมหาราช ล้วนไม่เหมาะสม

เริ่มตั้งแต่การเดินโบกไม้โบกมือให้ประชาชนที่บริเวณโรงพยาบาล เสมือนหนึ่งตัวเองเป็นดาราหรือไปหาเสียง หรือไปตรวจราชการตามปกติ

ในสถานการณ์เช่นนี้การสงบสำรวมดีที่สุด การโบกไม้โบกมือไม่ควรเกิดขึ้น เพราะการโบกมือเป็นเครื่องหมายแห่งความร่าเริงหรืออยู่ในสถานการณ์ปกติ

เมื่อถึงตอนแถลงข่าวยิ่งแย่สุดๆ เมื่อนายกฯ ออกนอกเรื่อง ไปโยงเรื่องการเมือง แขวะนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรืออดีตนักการเมืองบางคน เสร็จแล้วถามประชาชนว่า “ใช่ ไม่ใช่” คล้ายจะบังคับให้ประชาชนตอบในลักษณะเอออวย

ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ที่โรงพยาบาลน่าจะเป็นญาติของผู้บาดเจ็บ ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะมาเป็นกองเชียร์ให้กับนายกฯ

ในสถานการณ์ที่ทุกคนรอคอยฟังการแถลงของนายกฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนหวังจะได้ฟังการแถลงข่าวที่เป็นงานเป็นการ ได้เนื้อได้หนัง เรียบเรียงให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น

แต่เปล่าเลย ยังคงเป็นเหมือนเดิมคือทำเสียงงึมงำ สลับกับการบ่น ขาดการจัดระเบียบเนื้อหาในการพูด ขาดความชัดเจนในเนื้อหาที่พูด บางอย่างพูดไปแล้ว คนฟังก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วยว่าหมายถึงอะไร

เวลาแถลงข่าวที่จริงจัง เกี่ยวกับความเป็นความตายเช่นนี้ นายกฯ ไม่ควรใช้คำว่า “นะจ๊ะ” กับนักข่าว เพราะคำประเภทนี้เหมาะสำหรับการอยู่ในบรรยากาศสบายๆ

นอกจากนั้น ไม่ควรพูดคำว่า “ใช่มั้ย” บ่อยๆ กับนักข่าว เพราะนักข่าวไม่ได้ต้องการคำถามจากนายกฯ แต่ต้องการคำตอบจากนายกฯ

จะใช่หรือไม่ใช่ นักข่าวตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง เขาถึงต้องมารอฟังข้อเท็จจริงจากนายกฯ

นี่ยังไม่นับท่าทีฉุนเฉียว เวลาถูกนักข่าวถาม คือถ้าคุมอารมณ์ไม่ได้ อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม นายกฯ ก็ไม่ควรแถลง อาจใช้วิธีมอบหมายให้คนอื่นแถลงแทนดีกว่า