เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | กาดเขิน-ยอง-ทุ่งเสี้ยว

๐ กาด พื้นบ้านพื้นเมือง มีเรื่องเล่า

เขิน หมู่เฮาชาวเขิน เชิญร่วมฉลอง

ยอง หมู่เฮาชาวไทย คือไทยอง

ทุ่งเสี้ยว สันป่าตอง ต้องมาชม ฯ

ไปงาน “กาดเขิน-ยองทุ่งเสี้ยว” ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 24-25 มกราคมที่ผ่านมา

หมู่เฮาชาวเหนือเรียกตลาดว่า กาด ส่วนเขินกับยองเป็นชื่อชนเผ่าไทย ที่เรียกรวมว่าไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนามาแต่เดิม ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เวียงท่ากานมากว่า 1,300 ปี ว่าเก่ากว่าเวียงกุมกามที่เป็นถิ่นฐานก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่นั้น แต่เวียงท่ากานยังสืบถิ่นสืบฐานต่อเนื่องมาจนวันนี้

สำคัญคือ โบราณสถานที่เวียงท่ากานอันแวดล้อมด้วยสวนลำไยของชาวบ้านกลายเป็นภูมิฐานศักดิ์สิทธิ์และศักดิ์ศรีของชาวบ้านที่เขารักและหวงแหน ดูแลรักษา ร่วมกับกรมศิลปากร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าเรียนรู้

นอกไปจากเรือนไทลื้อที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะของชาวบ้านว่ามีอยู่มากกว่าในแคว้นสิบสองปันนาถิ่นเดิมเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งเร็วๆ นี้มีละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง มาถ่ายทำเรือนต้นแบบซึ่งเป็นที่ทำการไปรษณีย์เก่า ปัจจุบันเลยกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ “ต้องชม”

นี่เป็นเสน่ห์ของสันป่าตอง

และนี่คือ “ทุนวัฒนธรรม” ที่เมืองเชียงใหม่ต้องช่วยกันดูแลรักษา

คําว่า “ทุนวัฒนธรรม” ดูจะเป็น “วาทกรรม” ใหม่ที่ขยายความครอบคลุมถึงสามฐาน คือ ฐานคุณค่า ฐานทุน และฐานมูลค่า

ดังวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของชาวไทลื้อที่มีชาวเขิน ชาวยองร่วมกันอยู่ในสามตำบลนี้ มีเวียงท่ากาน บ้านกลาง และบ้านต้นกอก กับบ้านทุ่งเสี้ยวอันเป็นศูนย์รวมที่กลายเป็น “กาดเขิน-ยองทุ่งเสี้ยว” ดังจัดงานเปิดตลาดทุกวันเสาร์ เริ่มแต่เสาร์ 25 มกราคม เป็นต้นไป

วิถีวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์คือ ลักษณะจำเพาะของความเป็นอยู่ นี้คือคุณค่าโดยรวม

คุณค่านั้นมีสองลักษณะ คือคุณค่าต่อจิตใจ และคุณค่าในตัวมันเอง อันเป็นอัตลักษณ์ที่กลายเป็นทุนวัฒนธรรม

ทุนวัฒนธรรมนี้เองอาจนำมาแปรเป็นมูลค่าได้สารพัด

ดังปรากฏในกาดเขิน-ยองทุ่งเสี้ยวนี้

สินค้าทุกชนิดที่นำมาจำหน่ายในกาดนี้ล้วนมาจากการทำการการผลิต การประดิษฐ์คิดสร้างของชาวบ้านเอง ทั้งอาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ ฯลฯ

บางสิ่งได้พัฒนาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ เช่น เครื่องเงินของชาวเขิน ดังเรารู้จักในชื่อเครื่องเขิน แม้จะผลิตจากที่อื่นก็นำมาจำหน่ายได้ มีสร้อย กำไล ต่างหู และปิ่นปักผม ที่หญิงชาวเขินเกล้าผมมีปิ่นนักประดับมวยผม เป็นต้น

มวยผมนี้ชาวไทที่เดียนเบียนฟูตอนเหนือของเวียดนามเรียก “มั่นเกล้า”

ทั้งชาย-หญิงไทลื้อจะมีผ้าโพกและมักสะพายย่ามใบย่อมๆ เป็นประจำ ดังนั้น ย่ามลายสวยงามใบใหญ่น้อยเป็นเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์หนึ่งของชาวเขิน ชาวยอง ที่กาดทุ่งเสี้ยวนี้

พิเศษสุดคือเวทีแสดงพื้นบ้าน พื้นเมืองมีฟ้อนต่างๆ สะท้อนถึงวิถีชีวิตงดงามเป็นตัวของตัวเอง ทั้งดนตรี การร่ายรำ การขับลำนำต่างๆ เช่น อื่อกะโลง คือการอ่านคำโคลงเป็นทำนอง กะโลง ก็คือ ครรโลง หรือครรลอง ที่มาของคำประพันธ์ประเภทโคลงนี่เอง

งานนี้มีฟ้อนเจิงอย่างเต็มรูปแบบด้วย คือมีทั้งการขับลำนำที่ผู้ขับ ผู้ฟ้อนสาว และผู้ฟ้อนเจิง คือรำดาบ ไปพร้อมกันบนเวทีนั้น

ฟ้อนเจิง คือการร่ายรำอวดเชิงชายชาตรีให้สาวได้ชมลวดลายลีลานั่นเอง

จึงว่า “กาดพื้นบ้านพื้นเมืองมีเรื่องเล่า”

ทุกชุมชน ทุกที่ ทุกเมืองล้วนมี “เรื่องเล่า” ทั้งนั้น เราขาดก็แต่การ “เล่าเรื่อง” โดย “ศิลปะการเล่าเรื่อง” หรือวิธีเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะเท่านั้น

เหล่านี้คือ “ทุนวัฒนธรรม” ที่พื้นบ้านพื้นเมืองของไทยเรามีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ “มั่งคั่ง” แต่ขาดความ “มั่นคง” เพราะมันมักถูกทำไม่ให้ปรากฏอย่างสง่างามด้วยตัวเอง ด้วยอิทธิพลของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยขาดวิธีการจัดการที่ดีก็ตาม มันจึงไม่ “ยั่งยืน”

ไม่อาจแปรทุนวัฒนธรรมเป็นมูลค่า

มิพักต้องพูดถึง “คุณค่า” ที่ถูกกร่อนทำลายเสื่อมลงและละลายไปกับยุคสมัยแห่งการฉวยคุณค่าจอมปลอมมา “ชุบแป้งทอด” ขายกันเกร่ออยู่ในตลาดทุนวันนี้

งานกาดเขิน-ยองทุ่งเสี้ยว เป็นโครงการริเริ่มจากคณะวิจัยของ ม.ศิลปากร ด้วยทุน สกว. ร่วมกับทางการคือราชการทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีเทศมนตรีและ อบต. เป็นต้น เป็นภาคราชการ

จากภาคเอกชนมีสมาคมวัฒนธรรมหัตถศิลป์ล้านนา สมาคมมัคคุเทศก์อีกหลายสมาคม

จากภาคประชาสังคมหรือประชาชน ก็คือชาวบ้านจากสามสี่ตำบลนั้น

โดยมีคณะอนุฯ กมธ.ศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา มาร่วมติดตามเสนอแนะ ดังที่เคยไปร่วมงานลักษณะนี้ที่ทุ่งสงมาแล้วนั้น

จากทุ่งสงถึงทุ่งเสี้ยว และยังจะมีตลาด “ทุนวัฒนธรรม” ทำนองนี้ กระจายไปทั่วทุกภาคสืบเนื่องและสืบไป ด้วยการเปิดช่องทางดังนี้

เปิดโอกาส โดยภาครัฐ

เปิดพื้นที่ โดยภาคเอกชน

เปิดทุนวัฒนธรรม โดยภาคประชาสังคม

นี้คืองานปฏิรูปเชิงรุก