“สุรชาติ บำรุงสุข” วิเคราะห์เหตุ “กราดยิงโคราช” “ภัยความมั่นคง” ที่ไม่คุ้นเคย เราต้องฝึกฝน “จนท.-ประชาชน-ผู้นำ” กันใหม่

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่จังหวัดนครราชสีมาระหว่างวันที่ 8 ถึง 9 กุมภาพันธ์นั้นไม่ใช่คดีอาชญากรรมธรรมดาที่สังคมไทยคุ้นเคย และแม้จะไม่ใช่เหตุก่อการร้าย แต่นี่ก็ถือเป็น “ภัยความมั่นคง” รูปแบบใหม่ที่ทุกคนควรเรียนรู้หาทางรับมือ

ทีมข่าวมติชนทีวีมีโอกาสสัมภาษณ์ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งซ่อนแฝงอยู่ในเหตุกราดยิงที่โคราช

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อาจารย์สุรชาติเริ่มต้นด้วยการให้คำนิยามแก่สถานการณ์ที่เพิ่งยุติลง

การก่อเหตุของนายทหารชั้นประทวนรายหนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาย่อมไม่ใช่ “การก่อการร้าย” เพราะปราศจากเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความคับแค้นส่วนตัว

ตามคำอธิบายของนักวิชาการอาวุโสด้านความมั่นคง พฤติการณ์ของทหารผู้นี้ควรถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการหมาป่าตัวเดียว” ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีเครือข่ายสนับสนุน และดูเหมือนจะจัดการควบคุมได้ง่าย แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงตัวผู้ก่อเหตุ ความเสียหายใหญ่ก็เกิดขึ้นไปแล้ว

อาจารย์สุรชาติกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ในวันมาฆบูชาสะท้อนชัดว่าประเทศไทยไม่ค่อยมีมาตรการรับมือกับปัญหาความมั่นคงแบบนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกฝึกฝนมาเพื่อจัดการกับอาชญากรทั่วไป ส่วนกำลังพลของกองทัพก็ถูกฝึกฝนสำหรับการรบขนาดใหญ่

“เราไม่มีมาตรการของสิ่งที่ผมเคยพูด ก็คือการรักษาความมั่นคงของเมืองหรือการรักษาความปลอดภัยเมือง”

การบ้านข้อแรกของภาครัฐจึงได้แก่การต้องหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น ทั้งการฝึก-จัดเตรียมบุคลากร การจัดสรรงบประมาณ และการออกมาตรการรับมืออย่างจริงจัง

ประเด็นหนึ่งที่สาธารณชนเชื่อมโยงเหตุกราดยิงโคราชเข้ากับเหตุปล้นทองที่ลพบุรีก่อนหน้านี้ก็คือ ทั้งสองสถานการณ์ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้า

นอกจากเป็นเรื่อง “ความมั่นคงเมือง” อาจารย์สุรชาติยังมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้นั้นเกี่ยวพันกับเรื่อง “ความมั่นคงด้านสาธารณะ” ซึ่งมีพันธกิจหลักคือการต้องรักษาวิถีชีวิตปกติของผู้คนในสังคมให้มีความปลอดภัยมากที่สุด

ขณะเดียวกัน พื้นที่เช่นห้างสรรพสินค้าก็มี “จุดอ่อน” ในตัวเองหลายประการ ทั้งการที่มีผู้คนเข้ามาเดินจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก การเป็นพื้นที่เปิดซึ่งมีมาตรการป้องกันภัยค่อนข้างหละหลวม ดังจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมักไม่ทราบว่าต้องรับมือกับสถานการณ์กราดยิงผู้คนในห้างอย่างไร

ความสูญเสียที่โคราชจึงไม่ใช่เรื่องของนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิตและแรงกดดันส่วนบุคคล แต่รัฐและสังคมไทยต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับความสูญเสียคราวนี้ให้กว้างไกลกว่านั้น

อาทิ ถึงเวลาที่เราควรมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนหรือยัง? (หากพิจารณารวมไปถึงคดีปล้นทองที่ลพบุรี) และถึงเวลาที่เราต้องฝึกฝนประชาชนให้พร้อมรับมือกับภัยความมั่นคงในพื้นที่สาธารณะและเหตุก่อการร้ายหรือยัง?

เมื่อถามว่าสังคมไทยสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากกองทัพได้อย่างไรบ้าง? เพราะผู้ก่อเหตุก็เป็นทหาร ส่วนอาวุธที่ใช้ก็ถูกขโมยมาจากคลังแสงอาวุธของทางการ

นักวิชาการจากจุฬาฯ ตอบว่า “ไม่อยากเห็นความรับผิดชอบเกิดแค่สองอย่าง หนึ่ง ส่งคนไปงานศพในฐานะตัวแทนกองทัพบก สอง จ่ายเงินทดแทน ผมคิดว่าวันนี้สถานการณ์มันรุนแรง แล้วเห็นความชัดเจนว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้น ทำอย่างไรที่กองทัพบกรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องแสดงความรับผิดชอบบางอย่าง”

หนึ่งในสิ่งที่ผู้นำเหล่าทัพควรเร่งทำคือ การปฏิรูปชีวิตของทหารในกองทัพ เพราะเหตุการณ์ที่โคราชนั้นสะท้อนชัดถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

“วันนี้อาจจะต้องประกาศชัดว่ามาตรการของกระทรวงกลาโหมและมาตรการของกองทัพบกไทย รวมถึงเหล่าทัพต่างๆ ทั้งในกรณีของกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ต้องยุติโครงการหากินกับลูกน้อง พูดง่ายๆ คือ ต้องยุติโครงการที่ผู้บังคับบัญชาหากินกับนายทหารชั้นประทวน…ผมคิดว่าประเด็นอย่างนี้ต้องเอามาสังคายนา”

ปิดท้ายกันด้วยคำถามเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่าทีของนายกฯ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้นเหมาะสมแค่ไหน? และรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาชนได้ดีเพียงใด?

ศ.ดร.สุรชาติตอบประเด็นนี้สั้นๆ ว่า “ในสถานการณ์อย่างนี้ การแสดงออกของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ มันมีความละเอียดอ่อนที่เกิดจากการเสียชีวิต

“อีกมิติหนึ่งที่ต้องฝึกกัน คือการฝึกผู้นำให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่เคยฝึกผู้นำไทยว่าแค่ไหนควรแสดงออกอย่างไร คงต้องตระหนักว่ามันไม่ใช่การไปยืนโบกมือเหมือนไปงานคอนเสิร์ต”