กระทั่งถูกตีความว่าเป็น “การแสดงหัวใจ ของคนไม่มีหัวใจ” ?

รักของ “คนไม่มีหัวใจ”

กุมภาพันธ์ได้รับการเรียกขานว่า “เดือนแห่งความรัก” เพราะมีวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันได้ชื่อว่าเป็น “วันแห่งความรัก”

ว่าไป “วาเลนไทน์” ชื่อของ “นักบุญในคริสต์ศาสนา” ที่นับถือกันว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งความรัก” นี้ ในประเทศไทยเรารู้จักกันกว้างขวางจนถือเป็นวันสำคัญในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง

เหตุหนึ่งที่ทำให้ “วาเลนไทน์” บูมขึ้นมา เป็นผลจากการทำการตลาดของสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และร้านอาหารที่เห็นเป็นโอกาสกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษขึ้น

และเพราะ “ความรัก” เป็นสิ่งงดงามในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาวที่ฮอร์โมนแผ่ซ่านซาบซึ้งในความสัมพันธ์ฉันคู่รักตามความเป็นไปของธรรมชาติ

“วาเลนไทน์” จึงเป็นวันสำคัญขึ้นมาในสังคมอย่างรวดเร็ว

14 กุมภาพันธ์ โลกจึงฉาบด้วยสีชมพู อวลไปด้วยกิจกรรมแห่งความรัก

เป็นอย่างนั้นมาเนิ่นนาน

แต่สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ช่วงหนึ่ง “วาเลน์ไทน” บูมมาก

ทว่าหากมองอย่างสังเกต ช่วงหลังๆ ความตื่นเต้นในวันวาเลนไทน์คล้ายจะเหือดไปจากความรู้สึกนึกคิด อย่าว่าแต่คนที่ผ่านวันฮอร์โมนพลุ่งพล่านไปแล้วเลย แม้กระทั่งวัยรุ่นคนหนุ่มคนสาว หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ความรู้สึกตื่นเต้นกับ “วันแห่งความรัก” ลดลง

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับความรู้สึกที่เกิดจากการสังเกตอย่างที่ว่า

“นิด้าโพล” สำรวจความเห็นของคนหนุ่ม คนสาว อายุ “18-25 ปี” ทั่วประเทศ

ในคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าวันวาเลนไทน์มีความสำคัญกับท่านในระดับใด”

ที่บอกว่า “มีความสำคัญมากที่สุด” มีแค่ร้อยละ 6.02 และที่บอกว่าค่อนข้างสำคัญมีร้อยละ 24.86 ส่วนที่บอกว่าไม่ค่อนมีความสำคัญมีถึงร้อยละ 45.60 และที่เห็นว่าไม่มีความสำคัญเลยมีร้อยละ 23.52

และเพราะนิด้าโพลสำรวจด้วยคำถามนี้ในช่วงใกล้วันวาเลนไทน์มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2558 จึงมีการเอาผลมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งปรากฏว่า ที่เห็นว่ามีความสำคัญนั้นลดลงขณะที่เห็นว่าไม่มีความสำคัญกลับเพิ่มขึ้น

ผลที่บอกว่าเช่นนี้ คงไม่ใช่เพราะ “คนหนุ่ม คนสาว” ให้ความสำคัญกับความรักน้อยลง

แต่ถ้าตีความว่าการให้ความสำคัญกับการแสดงออกซึ่งความรักอย่างเป็นพิธีรีตองอาจจะมีคนเห็นความจำเป็นลดลง

เป็นไปได้หรือไม่ ว่าชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันมีอิสระในการแสดงออกมากขึ้น การบอกรักใครสักคนไม่เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้เหมือนที่ผ่านมากระทั่งต้องอาศัยวันวาเลนไทน์เป็นตัวช่วย

ในโลกที่ช่องทางการสื่อสารมีมากมาย โดยเฉพาะด้วยสังคมออนไลน์ สัญลักษณ์ที่เปิดเผยความในใจนั้นถูกออกแบบมาหลากหลาย มากมาย หยิบฉวยมาใช้ได้สะดวก และไม่ต้องรอเวลา

อาจจะทำให้ไม่ต้องรอวาเลนไทน์ เพื่อใช้ “กุหลาบ” เป็นตัวสื่อ

ไม่ต้องดูอะไรมาก นายกรัฐมนตรียังสามารถสื่อถึงความรักกับประชาชนได้ทันดีด้วยการทำมือในสัญลักษณ์ “มินิฮาร์ท”

มันง่ายจนลืมนึกไปว่า ในสถานการณ์โศกนาฏกรรมที่ประชาชนทั้งเมืองสลดกับอาชญากรรมรุนแรงอยู่นั้น ไม่มีใครมีอารมณ์ที่จะรับ “ความรักน้อยๆ ที่นายกรัฐมนตรีมอบให้”

กระทั่งถูกตีความว่าเป็น “การแสดงหัวใจ ของคนไม่มีหัวใจ” ไป

โลกที่การสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น

ความเชื่อว่า “รักหรือไม่” เลยพ้นจากการแสดงสัญลักษณ์ให้รู้ ไปเป็น “ต้องทำให้เห็นว่ามีหัวใจอยู่จริง” แล้ว